วันนี้ (17 พฤศจิกายน) ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาลงคะแนนในวาระที่ 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 (ขั้นรับหลักการ) ซึ่ง พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Re-Solution และผู้ริเริ่มในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ
ผลปรากฏว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติ ดังนี้
- รับหลักการ 206 เสียง (ส.ส. = 203 + ส.ว. = 3)
- ไม่รับหลักการ 473 เสียง (ส.ส. = 249 + ส.ว. = 224)
- งดออกเสียง 6 เสียง (ส.ส. = 3 + ส.ว. = 3)
สำหรับเงื่อนไขของการลงมติผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 256 ดังนี้
- ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบ (รับหลักการ) ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ส.ส. = 475 + ส.ว. = 248 รวม 723 คน) กึ่งหนึ่งคือ 362 เสียง
- ต้องมีเสียง ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. ทั้งหมดที่มีอยู่ คือ 83 เสียงขึ้นไป
จะเห็นว่ามีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา เป็นอันว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน วาระที่ 1 ไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภา
ขณะที่มี ส.ว. ที่ลงมติรับหลักการบางคน เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พิศาล มาณวพัฒน์, มณเฑียร บุญตัน
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณา iLaw ระบุ ร่างฉบับนี้มีชื่อเล่นว่าร่าง ‘รื้อระบอบประยุทธ์’ ที่มีข้อเสนอมุ่งหมายจะจัดการกับประเด็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ ไม่ว่าจะได้รับความนิยมจากประชาชนมากน้อยเพียงใด และมีชุดข้อเสนอที่มีประเด็นหลากหลาย นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับโครงสร้างทางการเมือง โดยเฉพาะการเสนอให้มีสภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และให้ยกเลิกการมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
สำหรับข้อเสนอที่น่าสนใจในร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอแก้ไข มี 7 ประเด็นที่ควรรู้ดังนี้
- เสนอให้มีการยกเลิก ส.ว. ใช้ระบบรัฐสภาเดี่ยว มีแต่ ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้ง
- เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ที่มาจากระบบคัดเลือกของ คสช. พ้นตำแหน่ง และคัดเลือกใหม่
- เสนอให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช. และยกเลิกหมวดการปฏิรูปประเทศ
- เสนอให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น
- เสนอให้มีกลไกต่อต้านรัฐประหาร ชื่อว่า ‘การลบล้างผลพวงรัฐประหาร’ รวมทั้งยกเลิกการนิรโทษกรรมตัวเองของคณะรัฐประหาร
- เสนอเพิ่มอำนาจตรวจสอบให้ฝ่ายค้าน ตั้งคณะผู้ตรวจการกองทัพ คณะผู้ตรวจการศาล และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ
- เสนอเพิ่มอำนาจการเข้าชื่อของประชาชน เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 20,000 คน ‘ตรวจสอบตุลาการ’ ที่ส่อทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจขัดต่อกฎหมายได้
ดูสรุปเนื้อหาได้ที่นี่
- https://ilaw.or.th/node/5850
- https://progressivemovement.in.th/wp-content/uploads/2021/04/Draft_Constitution_Resolution2564.pdf
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล