เมื่อวานนี้ (15 มกราคม) ที่รัฐสภา (เกียกกาย) ในวาระด่วน หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ขออนุญาตเรียกตัว ปิยบุตร แสงกนกกุล, ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ไปสอบสวนคดีอาญาในสมัยประชุม ในคดีการชุมนุมแฟลชม็อบ ที่สกายวอล์กแยกปทุมวัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ให้ความคุ้มกันสมาชิกรัฐสภานั้น มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากร่วมอภิปราย โดยยืนยันไม่ส่งตัวไปดำเนินคดีดังกล่าว
ปิยบุตร กล่าวว่า การชุมนุมเป็นเสรีภาพที่รับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ เป็นเสรีภาพที่สำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย แต่การชุมนุมที่สกายวอร์กครั้งนี้ ถูกเจ้าหน้าที่กล่าวโทษว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีพี่น้องประชาชนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ตนยืนยันว่า การบังคับใช้ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต้องใช้ไปในทิศทางที่เป็นคุณต่อการใช้เสรีภาพการชุมนุม ไม่ใช่ใช้ไปจนกลายเป็น พ.ร.บ. สกัดกั้นการชุมนุม หรือ พ.ร.บ. ห้ามชุมนุมสาธารณะ และการใช้กฎหมายนี้ต้องใช้อย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่นำกระบวนการทางกฎหมาย การดำเนินคดี เป็นเครื่องมือสกัดกั้นเสรีภาพ หรือตั้งข้อกล่าวหาจนเป็นชนักปักหลัง จนคนกลัว ไม่กล้าชุมนุมที่จะใช้เสรีภาพเพราะจะถูกดำเนินคดี
ปิยบุตร กล่าวว่า ตนทราบดีว่าความคุ้มกันเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญมอบให้กับสมาชิกรัฐสภา เป็นเรื่องสำคัญป้องกันการกลั่นแกล้ง และในทางปฏิบัติก็ไม่เคยอนุญาตให้กับสมาชิกในการไปถูกดำเนินคดี ตามกฎหมายรัฐธรมนูญ ความคุ้มกันมอบให้กับตำแหน่ง มิใช่ของส่วนบุคคล ซึ่งการที่ ส.ส. จะลุกขึ้นมาสละ ซึ่งจะสละได้ก็คือการลาออก อย่างไรก็ตามความคุ้มกันจะเอามาใช้ไม่ได้ ถ้าสภาฯ แห่งนี้มีมติให้ส่งตัวไป หรือมีมติเป็นอย่างอื่น ตนขอขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่อภิปรายยืนยันหลักการเรื่องความคุ้มกัน และธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา แต่ขอยืนยันว่าตนและเพื่อนสมาชิกคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ พรรณิการ์ วานิช เรายืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า พร้อมไปรายงานตัว และพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนต่อไป
“เพราะเราเชื่อมั่นในเสรีภาพการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง และเราพร้อมจะเดินเคียงข้างกับประชาชนจำนวนมากที่ออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจต่อความอยุติธรรม เราพร้อมถูกดำเนินคดี สืบสวน สอบสวน เคียงข้างประชาชนจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีอยู่ และเขาปราศจากความคุ้มกัน เพราะเขาไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอบคุณในน้ำใจไมตรีสมาชิกทุกท่าน แต่ขอยืนยันความบริสุทธิ์ใจ และเจตจำนงของเราทั้ง 3 คนไว้ในสภาแห่งนี้” ปิยบุตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าตัวจะแสดงเจตจำนงดังกล่าว แต่ตามข้อบังคับการประชุม ก็ต้องขอมติจากที่ประชุมว่า เห็นควรอนุญาตให้พนักงานสอบสวน เรียกตัวทั้ง 3 คนไปดำเนินคดีอาญาในระหว่างสมัยประชุม ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหนังสือขอตัวมาได้หรือไม่
ทั้งนี้ ผลการลงมติปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย 368 เสียง ไม่อนุญาตส่งตัวทั้ง 3 คน ไปสอบสวนคดีอาญาในสมัยประชุม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์