×

รอมฎอนชี้ แถลงนโยบายไม่สนปัญหาชายแดนใต้ แนะยกเลิกกฎหมายพิเศษ-เร่งคืนความยุติธรรมกรณีตากใบก่อนหมดอายุความ

โดย THE STANDARD TEAM
13.09.2023
  • LOADING...
รอมฎอน ปันจอร์

วันนี้ (12 กันยายน) รอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายต่อการแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งไปที่ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่าจากที่ตนได้อ่านคำแถลง ด้วยสายตาของคนที่สนใจการศึกษาความขัดแย้งทางการเมือง และติดตามกระบวนการสันติภาพในฐานะที่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นระยะเวลานับสิบปี ตนรู้สึกประหลาดใจและผิดหวังเป็นอย่างมาก

 

ประเด็นแรก เมื่ออ่านคำแถลงแล้วพบว่าไม่มีข้อความที่ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปีของ 8 รัฐบาล ที่คำแถลงต่อรัฐสภาโดยคณะรัฐมนตรี ไม่ปรากฏข้อความนี้ โดย 5 ใน 8 รัฐบาลจะระบุเอาไว้ในนโยบายเร่งด่วนด้วยซ้ำ

 

แต่เมื่ออ่านทบทวนอีกครั้ง พบว่าจริงๆ แล้วมีเนื้อหาซุกซ่อนอยู่ในภาคผนวกข้อ 12 เหมือนรวบเอาหลายประเด็นมาไว้ในที่เดียวกัน นำเอานามธรรมมาแต่งประโยคต่อกันโดยที่ไม่ได้บ่งบอกทิศทางใดๆ ที่ชัดเจน เป็นประโยคที่เขียนอย่างไรก็ไม่มีวันผิด 

 

การไม่มีคำว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ บ่งบอกว่ารัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญปัญหานี้ ขณะเดียวกัน อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือคำว่า ‘นิติธรรมที่เข้มแข็ง’ ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางคนวิจารณ์ว่าเราปกครองกันด้วย ‘นิติอธรรม’ มากกว่า กล่าวคือไม่ใช่ประชาชนปกครองกันด้วยกฎหมายปกติ หากแต่เป็นการปกครองด้วยกฎหมายความมั่นคง และสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย ที่ให้อำนาจอภิสิทธิ์แก่เจ้าหน้าที่รัฐในนามของความมั่นคง โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้

 

รอมฎอนอภิปรายต่อไปว่า การแถลงนโยบายในรัฐสภานั้นเปรียบเหมือนการทำสัญญาประชาคม เราอาจประเมินนโยบายของรัฐบาลได้จากข้อความที่ปรากฏตรงๆ แต่การไม่ปรากฏเช่นนี้ หรือมี แต่มีลักษณะเบลอๆ กว้างๆ ก็ถือเป็นจุดยืนและนโยบายของรัฐบาลได้ด้วยเช่นกัน การไม่พูดถึงหรือไม่กล่าวถึงก็ถือเป็นการบอกอย่างหนึ่ง ถึงความเป็นไปได้อย่างน้อย 2 นัย 

 

ในทางแรก นี่คือความพยายามมุ่งลดทอนความสำคัญของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลเศรษฐาที่แม้จะมีพรรคร่วมรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่มีฐานที่มั่นสำคัญในชายแดนใต้อย่างพรรคประชาชาติ กลับมีจุดยืนที่ไม่แยแส ไม่สนใจ และไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหานี้อีกต่อไป ไม่สนใจชะตากรรมของผู้คนทั้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เสี่ยงตายอยู่ทุกวัน

 

วัตถุประสงค์เช่นนี้ สวนทางกับข้อเรียกร้องของหลายฝ่าย ทั้งเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่หรือคู่เจรจาของรัฐบาลไทยเอง เป็นผลมาจากการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินกว่าความเป็นจริง ดูเบาสภาพปัญหา และไม่กล้าที่จะเผชิญและรับผิดชอบต่อปัญหาที่ยืดเยื้อและยากเย็นเช่นนี้ใช่หรือไม่

 

รอมฎอนยังกล่าวต่อไปว่า ความเป็นไปได้ทางที่สอง ความหมายที่ลึกลงไปนั้น คือในสายตาของผู้คนที่คาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง คือการที่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ตั้งใจและจงใจหลีกทางให้การกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาอยู่ในมือของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงต่อไป จะไม่เข้าไปยุ่งกับงาน กับงบประมาณ และกิจกรรมต่างๆ ที่ กอ.รมน. และกองทัพกำลังดำเนินการอยู่ ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา

 

“หรืออาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่เข้าไปยุ่มย่ามใน ‘เขตทหาร’ นั่นเอง” รอมฎอนกล่าว

 

รอมฎอนกล่าวต่อไป ว่าคำแถลงของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้จึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากคำประกาศยอมจำนนของรัฐบาลพลเรือนต่อกองทัพและเครือข่ายอำนาจของพลังอนุรักษ์นิยมไทยที่หวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง หวาดหวั่นต่อการสร้างสันติภาพที่ตนไม่คุ้นเคย ทำทุกอย่างเพื่อคงสถานะเดิมเช่นนี้ต่อไป เป็นการยอมจำนนอย่างศิโรราบของคนถือปืน เพื่อแลกกับการได้เข้าสู่อำนาจ พร้อมที่จะทำลายความเชื่อมั่นไว้วางใจที่ประชาชนมอบไว้ให้ และหลักการพลเมืองเป็นใหญ่อยู่เหนือกองทัพ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตย ให้ถูกบ่อนเซาะลงไป

 

นี่อาจจะเป็นบทเรียนของรัฐบาลพลเรือนสีแดงที่ผ่านชะตากรรมการเดินทางมาตลอด 20 ปีนี้ จนได้เรียนรู้แล้วว่าอย่าแหยมกับกองทัพใช่หรือไม่ นี่คือบทเรียนของไฟใต้สำหรับผู้มีอำนาจ แต่เป็นคนละเรื่องกับประชาชนสามัญชน แต่ทั้งหมดนี้ตนอาจจะเป็นฝ่ายผิดก็ได้ และตนก็หวังจะให้ตัวเองเป็นฝ่ายผิด

 

การบริหารราชการของรัฐบาลเศรษฐาจะอยู่ในห้วงเวลาสำคัญของสถานการณ์ไฟใต้ ที่นอกจากจะครบสองทศวรรษในเดือนตุลาคมปีหน้า อายุความคดีสำคัญอย่างโศกนาฏกรรมตากใบก็กำลังจะหมดอายุความ และอีกไม่กี่วันการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะครบวงรอบอีกครั้ง ตนมีคำถาม 7 ข้อที่ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยตอบในที่ประชุมแห่งนี้ กล่าวคือ

 

  1. ครม. จะมีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กำลังจะหมดในวันที่ 18 กันยายนนี้หรือไม่ รวมถึงกฎอัยการศึก

 

  1. คำแถลงระบุถึงการกำหนดอัตรากำลังของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หมายความว่าอย่างไร รัฐบาลจะพิจารณายุบเลิกหรือปรับโครงสร้าง กอ.รมน. หรือไม่

 

  1. งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะงบประมาณที่อาศัยเหตุผลด้านความมั่นคงต่างๆ จะทำให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้หรือไม่อย่างไร 

 

  1. รัฐบาลจะจัดการกับมรดก คสช. ที่เกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ อย่างไร ทั้งบรรดาคำสั่งและประกาศของ คสช.

 

  1. รัฐบาลจะเอาอย่างไรกับการสังหารนอกกฎหมายที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงเวลาของสถานการณ์ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

  1. รัฐบาลจะเดินหน้าการเจรจาสันติภาพต่อไปหรือไม่ อย่างไร หรือรัฐบาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเจรจาอีกต่อไปแล้ว

 

  1. สุดท้าย กรณีตากใบจะมีการฟื้นคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบ เสียชีวิต บาดเจ็บหรือไม่ อย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม ยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในอนาคต
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising