หลังจากที่เว้นวรรคการตั้งฉายารัฐสภาไปเป็นเวลาประมาณ 5 ปี มาในปี 2562 สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้มีความเห็นร่วมกันที่จะตั้งฉายาสภาฯ อีกครั้ง ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ยังคงเป็นการสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในรอบปีที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการเมืองแต่อย่างใด สำหรับฉายาสภาฯ ที่สื่อมวลชนได้ระดมสมองออกมานั้นมีบทสรุปดังนี้
1. เหตุการณ์แห่งปี: สภาฯ ล่ม
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง 2 วันติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน และวันที่ 28 พฤศจิกายน ระหว่างการพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ปฐมเหตุเริ่มมาจากการที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตให้กับฝ่ายค้าน ซึ่งจะต้องนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่ปรากฏว่า ส.ส. รัฐบาลใช้เสียงข้างมาก จนนำไปสู่การนับคะแนนใหม่ โดยก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนดังกล่าวจะต้องมีการนับองค์ประชุมก่อน ทว่า มี ส.ส. ร่วมเป็นองค์ประชุม 92 คน แม้จะมีการนัดประชุมอีกครั้งในวันถัดไป แต่ก็ยังมี ส.ส. เพียง 240 คน ไม่ครบองค์ประชุม นับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียให้กับสภาฯ ในยุคของ ‘ชวน หลีกภัย’ ที่พยายามจะยกระดับมาตรฐานของสภาฯ ให้กลับมาเป็นความหวังของประชาชน
2. สภาผู้แทนราษฎร: ดงงูเห่า
การหายไปของสภาผู้แทนราษฎรเป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้สภาฯ ถูกตั้งความหวังไว้ว่า จะสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนสมดั่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้ แต่จะด้วยผลกระทบจากรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ หรือเป็นนิสัยส่วนบุคคล ถึงได้เป็นช่องทางที่ทำให้ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘งูเห่า’ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศตัวเป็น ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ เพื่อตรวจสอบรัฐบาล แต่เมื่อผ่านไปสักระยะก็ยุติการเป็นฝ่ายอิสระ ไปจนถึงการลงคะแนนสวนทางกับมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล ไปจนถึงการร่วมเป็นองค์ประชุมสภาฯ ก่อนจะลงมติล้มไม่ให้เกิดการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา มาตรา 44 ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งตราบใดที่รัฐบาลยังมีเสียงปริ่มน้ำ และต้องยืมมือฝ่ายตรงข้ามเช่นนี้ สภาฯ คงไม่อาจเป็นที่พึ่งของประชาชนให้สมดังเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่จะเป็นเพียงดงงูเห่าที่คอยแว้งฉกกันเองเท่านั้น
3. วุฒิสภา: สภาฯ ทหารเกณฑ์
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้มีวุฒิสภาแบบพิเศษขึ้นมา กล่าวคือ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดหมวดว่าด้วยวุฒิสภาที่ให้มีการลงคะแนนเลือกกันเองจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ แต่ใน 5 ปีแรก กลับให้ ส.ว. มาจากการเลือกของ คสช. รวมกับผู้บัญชาเหล่าทัพโดยตำแหน่งเป็นจำนวน 250 คน ไม่เพียงเท่านี้ ส.ว. ชุดปัจจุบันจำนวนไม่น้อยมาจากบุคคลที่เคยเป็นสมาชิก สนช. ที่ คสช. เคยแต่งตั้งอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้ ส.ว. เปรียบเสมือนเป็นทหารที่ถูก คสช. เกณฑ์เข้ามา ที่ไม่เพียงแต่มีหน้าที่ในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกเท่านั้น แต่ยังมีอีกภารกิจคือ การสานต่องานของ คสช. ให้จบ โดยเริ่มให้เห็นแล้วจากการพร้อมใจเทคะแนนเลือก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และในอนาคตกำลังจะมีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจต่อไป
4. ประธานสภาผู้แทนราษฎร: มีดโกนขึ้นสนิม
ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในตำนานการเมืองที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน โดยเป็น ส.ส. ที่มีพรรษาทางการเมืองมากที่สุด และมีบารมีเต็มเปี่ยม จนได้กลับเข้ามาเป็นประธานสภาฯ อีกครั้ง แม้จะมีความตั้งใจจะให้ประชาชนกลับมาศรัทธาสภาฯ แต่เอาเข้าจริงมีดโกนอาบน้ำผึ้งที่เคยบาดลึกแหลม ก็กำลังขึ้นสนิมอย่างเห็นได้ชัด ภายหลังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสภาฯ ได้ เช่น การวินิจฉัยเรื่องการนับคะแนนใหม่ในญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรา 44 จนนำมาสู่เหตุการณ์สภาฯ ล่ม ไปจนถึงการพยายามลอยตัวกับปัญหาต่างๆ อย่างความขัดแย้งในคณะกรรมาธิการสามัญหลายคณะ ทั้งที่เป็นผู้นำสูงสุดของสภาฯ อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นมีดโกนขึ้นสนิมที่อาจฟันอะไรไม่ขาดเสียทีเดียว แต่หากใครได้โดนแล้ว แน่นอนว่ายังต้องรู้สึกเจ็บ และต้องรีบฉีดยากันบาดทะยัก เพราะวาจาของนายหัวเมืองตรังยังเจ็บจี๊ดไม่เคยเปลี่ยนแปลง
5. ประธานวุฒิสภา: ค้อนยาง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนจะขึ้นมาเป็นประธานวุฒิสภา พรเพชร วิชิตชลชัย เคยดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาก่อน ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เมื่อมาทำหน้าที่เป็นประธานวุฒิสภา ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทและอำนาจหน้าที่ที่เคยมีนั้นได้เลือนหายไป ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้สมาชิกรัฐสภาไม่ยำเกรงในบารมีของประธานวุฒิสภา ดังจะเห็นได้จากการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณานโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะปรากฏว่า ทุกครั้งที่พรเพชรขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมในฐานะรองประธานรัฐสภา จะถูก ส.ส. ลองของ จนควบคุมการประชุมไม่ได้ โดยเฉพาะการปะทะคารมกันระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย และนำมาซึ่งความวุ่นวายกลางที่ประชุม แม้ประธานวุฒิสภาจะพยายามใช้ค้อนทุบบนโต๊ะ เพื่อหวังให้เกิดความสงบ แต่กลับได้ผลตรงข้าม จึงเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า ค้อนไม้ที่พรเพชรถือไว้ในมือนั้นเป็นเพียงแค่ค้อนยางเท่านั้น
6. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร: ขนมจีนไร้น้ำยา
สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในภาวะที่ฝ่ายค้านไม่ได้เป็นลูกไล่รัฐบาลเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะมีเสียงในสภาฯ ที่สูสีกับฝ่ายรัฐบาล ถึงขนาดที่ฝ่ายค้านเคยโหวตชนะฝ่ายรัฐบาลมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่งของ คสช. ตามมาตรา 44 ทว่า ฝ่ายค้านยังไม่อาจแสดงศักยภาพในการตรวจสอบรัฐบาลให้เป็นที่ประจักษ์ เมื่อเทียบกับผู้นำฝ่ายค้านในอดีตหลายคนก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังไม่ปรากฏบทบาทการเป็นผู้นำเพื่อให้การทำงานของสภาฯ เกิดความสมานฉันท์และเป็นที่จดจำ จึงไม่ต่างอะไรกับขนมจีนที่ดูน่ารับประทาน แต่เมื่อไร้น้ำยารสเลิศแล้ว ก็ทำให้ขนมจีนจานนั้นไม่ได้อยู่ในสายตา
7. วาทะแห่งปี: ตัดพี่ตัดน้อง
วาทะนี้เป็นของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่พูดกลางที่ประชุมรัฐสภาระหว่างการนำเสนอนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งโดยไม่สุจริตของ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย โดย พล.อ. ประยุทธ์ ตอบโต้ว่า “เรารู้จักกันมานาน ท่านเป็นรุ่นพี่ผม แต่งงานวันเดียวกัน แต่วันนี้ไม่ถือว่าเป็นรุ่นพี่อีกแล้ว เพราะท่านไม่ให้เกียรติผม เคยพูดว่าจะชักปืนยิงผม ถ้ายิงจริง ท่านก็ติดคุกไปแล้ว ท่านพูดจาหยาบคาย เหรียญรามาผมก็ได้ แต่ไม่เคยอวดอ้างอำนาจ ให้ไปทบทวนตัวเอง” จากการตัดพี่ตัดน้องในวันนั้น ทำให้ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านทวีความดุเดือดนับจากนั้นเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน
8. คู่กัดแห่งปี: ปารีณา VS พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า สองคนนี้เป็นมวยถูกคู่ แม้ว่าจะต่างวัยกันก็ตาม ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกพรรคส่งมาเป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มี พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เป็นประธาน เพื่อปกป้อง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายหลัง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ พยายามเชิญนายกฯ มาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ แต่ปารีณาพยายามขัดขวางทุกวิถีทาง ถึงขั้นมีการผลัดกันยื่นเรื่องให้ตรวจสอบกันเองภายในคณะกรรมาธิการ จนงานอื่นๆ ของคณะกรรมาธิการเดินหน้าไม่ได้ และกรรมาธิการหลายคนทยอยลาออก เพราะไม่ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ดังนั้น การปะฉะดะของ ส.ส. สาวและอดีตนายตำรวจ จึงมีแต่เพียงการวิวาทะเท่านั้น หาแก่นสารไม่ได้แต่อย่างใด
9. ดาวเด่น: ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่
จากคนที่เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนอกสภาฯ แล้ววันหนึ่งก็ได้เดินเข้าสภาฯ ในนามพรรคอนาคตใหม่ เหตุผลหลักที่ทำให้ ‘อาจารย์ป๊อก’ ได้รับตำแหน่งดังกล่าวคือ การเปิดประเด็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้อยคำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นประเด็นที่สังคมแสวงหาความชัดเจนจากรัฐบาลมาร่วมเดือน จนนำไปสู่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ไม่เพียงเท่านี้ ตลอดการทำหน้าที่อภิปรายในสภาฯ ไม่ได้ใช้แต่เพียงวาทศิลป์เท่านั้น เพราะทุกถ้อยคำล้วนมีเหตุผลทางวิชาการและกฎหมายรองรับ จึงทำให้คว้าตำแหน่งนี้ไปอย่างลอยลำ ด้วยความหวังว่า เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่จะสามารถรักษามาตรฐานที่วางไว้ไปให้ตลอด
10. ดาวดับ: ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ
เมื่อมีดาวเด่น ก็ต้องมีดาวดับ ซึ่งไม่ใช่ใครอื่น คือ ‘เอ๋ ปารีณา’ เป็นที่ทราบกันดีว่า ส.ส. เมืองโอ่งรายนี้ได้สร้างกระแสในแง่ลบผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นระยะ แม้จะแสดงบทบาทในการตรวจสอบการถือครองที่ดินของมารดา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่กลับเป็นคนที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบเสียเอง ในเรื่องการถือครองที่ดินที่จังหวัดราชบุรี ทั้งที่มีตำแหน่งเป็นกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งทุกครั้งที่ถูกผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความโปร่งใส กลับพยายามบ่ายเบี่ยงหลายครั้ง ถึงขนาดที่กล่าวอ้างว่า ได้ทำเอ็มโอยูกับนักข่าวที่จะยุติการสัมภาษณ์เรื่องนี้แล้วโดยไม่มีหลักฐาน จึงไม่แปลกที่สื่อมวลชนได้เทคะแนนให้กับปารีณา ด้วยความหวังว่า จะมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในอนาคต
11. คนดีศรีสภาฯ: ไม่มีผู้เหมาะสม