วันนี้ (21 ธันวาคม) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา-กัญชง วาระ 2 ในขั้นพิจารณารายมาตรา กระทั่งเข้าสู่การอภิปรายมาตรา 4 ว่าด้วยการกำหนดคำนิยามในความหมายของคำต่างๆ ซึ่งกรรมาธิการได้แก้ไขเนื้อหา
โดยรายละเอียดที่สำคัญ เช่น คำนิยามของคำว่า ผลิต ที่ได้ตัดคำว่า เพาะ ปลูก และสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ออกจากคำนิยาม ทำให้เหลือเพียงคำว่า การทำ, ผสม, ปรุง, แปรสภาพ, สกัด, เปลี่ยนรูป รวมถึงการแบ่งบรรจุ และการใช้เพื่อประโยชน์ในครัวเรือน ประกอบอาหาร และเพื่อใช้ประโยชน์จากราก ลำต้น หรือ เส้นใย และได้เพิ่มคำว่า สื่อสารการตลาด ที่หมายรวมถึงการโฆษณา, ประชาสัมพันธ์, สร้างข่าว, เผยแพร่ข่าวสาร, ส่งเสริมการขาย, การแสดง หรือการส่งเสริมการขายโดยใช้บุคคล เป็นการเฉพาะ หรือการตลาดในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อขายสินค้า บริการ หรือสร้างภาพลักษณ์
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายถึงข้อกังวล เนื่องจากไม่แน่ใจว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเจาะจงให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น หรือเปิดช่องให้ใช้อย่างนันทนาการเสรีหรือไม่
ในส่วนคำนิยามเรื่องประโยชน์ในครัวเรือน ซึ่งเชื่อมโยงกับมาตรา 18 ที่ให้ประชาชนสามารถปลูกได้ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน คำถามคือประโยชน์ในครัวเรือนคืออะไร โดยในร่าง พ.ร.บ.ได้นิยามไว้ว่า การบริโภคส่วนบุคคล เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัวที่อาศัยอยู่ อาจเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้แบบนันทนาการได้
หมายความว่า การบริโภคส่วนบุคคลเป็นการตัดสินใจของตัวบุคคลเอง ขณะที่การใช้กัญชาทางการแพทย์ก็ควรเป็นความเห็นของแพทย์ว่าควรใช้หรือไม่ การใช้ถ้อยคำในนิยามเช่นนี้จึงมีความหละหลวมและเปิดช่องให้ประชาชนที่ปลูกครัวเรือนละไม่เกิน 15 ต้นสามารถใช้งานส่วนบุคคล ซึ่งอาจไม่ใช่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มาเกี่ยวข้อง
ในช่วงหนึ่ง จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคเพื่อไทย ได้ขอหารือพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าสมาชิกเริ่มบางตา โดยเฉพาะในฝั่งรัฐบาล ทำให้ฝ่ายค้านซึ่งเป็นองค์ประชุมหลัก เริ่มรู้สึกวังเวง
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการแก้ไขในมาตรา 4-5 และเห็นชอบให้ตัดมาตรา 6-7 ออก พร้อมเห็นชอบให้เพิ่มมาตรา 7/1-7/3 ที่คณะกรรมาธิการขึ้นใหม่ จนกระทั่งพิจารณาถึงมาตรา 7/4 ว่าด้วยเศรษฐกิจจากกัญชา-กัญชง ระหว่างการรอสมาชิกเข้ามาเป็นองค์ประชุมเพื่อลงมติ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ประธานการประชุมในขณะนั้น ได้เน้นย้ำว่า การแสดงตนครั้งนี้ขอให้ลงหลักฐานการแสดงตนไว้ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่าได้มาเป็นองค์ประชุมจริงหรือไม่
ด้าน พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส. จังหวัดเชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ท่านประธานไม่จำเป็นต้องพูดมาก ยิ่งพูดมากจะยิ่งดูแย่ เราทุกคนต่างก็รู้ว่าระเบียบข้อบังคับการประชุมเป็นอย่างไร สมาชิกแต่ละคนมีเอกสิทธิ์ที่จะเข้าหรือไม่เข้าร่วมการประชุม อย่าโทษคนอื่นเลย
ศุภชัยจึงตอบว่า ไม่ได้ว่ากล่าวใคร แต่เพียงเน้นย้ำไว้ เพราะกลัวว่าจะมีสมาชิกรู้สึกวังเวงในห้องประชุมอีก จากนั้นจึงได้ให้แสดงผลการรับองค์ประชุม ปรากฏว่า สมาชิกในห้องประชุมขณะนั้นมีจำนวน 214 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาฯ ทั้งหมดตามข้อบังคับ ทำให้ประธานสั่งปิดการประชุมในเวลา 17.21 น.