×

สภาเตรียมถก 4 ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ พรุ่งนี้ ด้านนิกรมั่นใจผ่านฉลุย เหตุเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่ประกอบจากทุกฝ่าย

โดย THE STANDARD TEAM
17.06.2024
  • LOADING...

วันนี้ (17 มิถุนายน) ที่รัฐสภา นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กล่าวถึงความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียง ประชามติ ว่าวันนี้เข้ามาชี้แจงกับวิปฝ่ายค้าน โดยร่าง พ.ร.บ. ของคณะรัฐมนตรีเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่มาจากทุกฝ่าย จะเรียกว่าร่าง พ.ร.บ. สมานฉันท์ก็ได้ จึงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

 

ส่วนภายหลังที่มีร่าง พ.ร.บ. ของอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพิ่มเข้ามานั้น ก็เป็นหลักการที่คล้ายกัน คาดว่าจะได้รับการพิจารณาทั้ง 4 ร่าง พ.ร.บ. เพราะมีทิศทางไปในทางเดียวกัน โดยในวันพรุ่งนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ จะเข้ามาชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎร

 

นิกรกล่าวอีกว่า อุปสรรคที่น่าจะมีใน พ.ร.บ.ประชามติ คือเสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น และติดปัญหาคือ ร่าง พ.ร.บ. นี้ เดิมเป็นกฎหมายปฏิรูป ซึ่งกฎหมายจะต้องเข้าไปที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่ในขณะนี้ยังไม่มี สว. ก็จำเป็นต้องรอ

 

ส่วนคำถามในการทำประชามตินั้น ตามหลักการที่ ครม. มีมติมาคือ ให้ไปแก้กฎหมายการทำประชามติให้เสร็จ จากนั้นให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงบประมาณ เข้ามาเพื่อหารือว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าไร และจะเลือกตั้งเมื่อไร เรื่องนี้เป็นไปตามกฎหมาย

 

ปัญหา ‘เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น’ คืออะไร

 

ในมาตรา 13 พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ. 2564 ฉบับปัจจุบัน ระบุว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

 

หมายความว่า ถ้าหากการออกเสียงไม่ครบทั้งสองเงื่อนไขที่ต่อเนื่องกัน การทำประชามตินั้นจะไม่ผ่าน ยกตัวอย่าง

 

ขั้นตอนที่ 1 ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง คือ ถ้ามี ‘ผู้มีสิทธิออกเสียง’ 52 ล้านคน ต้องมี ‘ผู้ออกมาใช้สิทธิ’ มากกว่า 26 ล้านคน ถ้าผู้ออกมาใช้สิทธิน้อยกว่านั้นจะทำให้ประชามตินั้นตกไป

 

ขั้นตอนที่ 2 หลังจากผ่านขั้นตอนที่ 1 จำนวนเสียงที่เห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ คือ ถ้ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ 26 ล้านคน ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเห็นชอบกับประเด็นนั้นเกิน 13 ล้านคน ผลการออกเสียงจึงจะเป็นข้อยุติ

 

4 ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จาก 4 พรรคการเมือง

 

ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ วาระ 1 ที่เสนอเข้าสภาทั้งหมด 4 ร่างด้วยกัน ได้แก่

 

  • ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยคณะรัฐมนตรี
  • ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย ชูศักดิ์ ศิรินิล กับคณะ จากพรรคเพื่อไทย
  • ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ กับคณะ จากพรรคก้าวไกล
  • ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดย อนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ จากพรรคภูมิใจไทย

 

โดยประเด็นสำคัญที่น่าติดตามคือ จะมีการอภิปรายแต่ละร่าง พ.ร.บ. ในสภา เช่น การกำหนดจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติ วิธีการออกเสียงประชามติ การออกเสียงประชามติวันเดียวกับการเลือกตั้งเพื่อประหยัดงบ และจำนวนรอบที่ทำประชามติ เป็นต้น

 

ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ สำคัญอย่างไร

 

ร่าง พ.ร.บ.ประชามติในครั้งนี้คือหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามที่ได้หาเสียงไว้ภายใน 4 ปี แต่การได้รัฐธรรมนูญใหม่ต้องผ่านการทำประชามติ ดังนั้นจึงต้องจับตาว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้าออกไปหรือไม่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising