วันนี้ (25 มิถุนายน) ภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงมติในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติรับหลักการในวาระที่ 1 เพียงร่างเดียว คือร่างที่ 13 ที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการแก้ไขบัตรเลือกตั้งให้เป็นแบบ 2 ใบ และในส่วนร่างแก้ไขของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม ร่างที่ 7 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 5 โดยเพิ่มมาตรามาตรา 55/1 เรื่องหลักประกันรายได้พื้นฐานทั่วหน้า ไม่ผ่านการรับหลักการในที่ประชุมนั้น ก่อนอื่นต้องขอบคุณเพื่อนสมาชิกรัฐสภาที่ช่วยลงมติสนับสนุนให้กับร่างแก้ไขของพรรคภูมิใจไทย
ภราดรกล่าวว่า ถึงแม้ว่าการเพิ่มหลักประกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้ายังไม่ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ ทางพรรคภูมิใจไทยจะยังเดินหน้าขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวต่อไป โดยเบื้องต้นในสัปดาห์หน้าจะจัดเวิร์กช็อป โดยเชิญผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการ นักวิชาการ และนักการเงินการคลัง มาร่วมเวิร์กช็อปและเสวนาร่วมกัน
นอกจากนี้ ภราดรยังกล่าวถึงการปิดสวิชต์ ส.ว. ในมาตรา 272 ที่ไม่ผ่านมติในที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า ก่อนหน้านี้พรรคภูมิใจไทยได้แสดงจุดยืนถึงอำนาจที่ไม่พึงมีนี้ของวุฒิสภาตั้งแต่ต้น ดังนั้นจึงยังคงยืนยันในจุดยืนเดิมว่า ส.ว. ไม่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาก็ล้วนแล้วแต่ไม่เคยมีบทบัญญัติหลักในการให้อำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ มีเพียงรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 นี้เท่านั้นที่มีบทเฉพาะกาล กำหนดให้ ส.ว. เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯ ใน 5 ปีแรก ซึ่งขณะนี้ก็ผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว คิดว่า ส.ว. น่าจะควรเพียงพอกับช่วงเปลี่ยนผ่านต่างๆ ได้แล้วที่ได้อ้างมาจากรัฐธรรมนูญ ส.ว. ควรที่จะคืนอำนาจให้กับประชาชนได้มีโอกาสเลือกนายกฯ ของตนเองโดยผ่านพรรคการเมือง และผ่านทางนโยบายของพรรค
ทั้งนี้ จากการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทางสภาผู้แทนราษฎรมีความเห็นพ้องต้องกันในการปิดสวิชต์ ส.ว. แต่ทางวุฒิสภานั้นไม่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจของตนเอง จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับสังคมว่าพิจารณาตัดสินใจต่อไปอย่างไร
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล