จับตาศึกอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญวันแรก (23 มิถุนายน) หลังแต่ละพรรคการเมืองได้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับของตนเองในวาระที่หนึ่ง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนว่าแต่ละร่างนั้นเสนอขึ้นเพื่อประชาชน หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใดกันแน่ โดยครั้งนี้มีการเสนอร่างเข้าสู่สภาทั้งหมด 13 ร่างด้วยกัน
และนี่คือถ้อยคำจากการอภิปรายบางส่วนที่เกิดขึ้นในสภา ซึ่งการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 มิถุนายน ปิดท้ายด้วยการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ พร้อมกับการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันเดียวกัน
“พรรคพลังประชารัฐหวังให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา หากผ่อนคลายความขัดแย้งเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญลงได้แล้ว ก็จะทำให้สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. ส.ว. จะได้ร่วมกันดูแลทุกข์สุขของประชาชน แก้ไขปัญหาการเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งเป็นงานหลักของสมาชิกรัฐสภาทุกท่านในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย”
ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคพลังประชารัฐ
“หากเรื่องใดที่แก้ไขแล้วจะถูกคำครหาว่าพรรคการเมืองแก้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองนั้น พรรคภูมิใจไทยไม่ทำ โจทย์ของพรรคภูมิใจไทยในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้คือ จะต้องตอบคำถามกับประชาชนให้ได้ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร ไม่ใช่เป็นการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้พรรคภูมิใจไทยได้ประโยชน์อะไร”
ภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย
“(แก้รัฐธรรมนูญ) พรรคเล็กพรรคน้อยจะหายไป พรรคใหญ่ๆ ทุนหนาๆ จะผงาด ลดบทบาทภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปอย่างสิ้นซาก นายทุนพรรคจะครอบงำพรรค คนมีเงินมีอำนาจจะมีบทบาททางการเมือง พรรคการเมืองต่อไปนี้จะเป็นเสมือนบริษัท ลูกพรรค ส.ส. นั้นจะเป็นเพียงพนักงานบริษัท”
วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา
“ขณะนี้บ้านเมืองเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ทั้งโควิด-19 เข้าขั้นวิกฤต พวกท่านพรรคพลังประชารัฐท่านไม่รู้เหรอ แทนที่จะเสนอญัตติเร่งด่วนช่วยเหลือประชาชน กลับมาเร่งด่วนจะเสนอระบบเลือกตั้งให้เผด็จการได้สืบทอดอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้งต่อไป ไม่ทราบจะรีบร้อนเร่งด่วนอะไรกัน”
วิรัตน์ วรศสิริน พรรคเสรีรวมไทย
“ผมและพรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้ทุกคนกลับมาสู่แนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ… เลิกเสียทีกับการพยายามจำกัดเนื้อหาไม่ให้จัดทำในหมวด 1 และหมวด 2 อันเป็นการไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ประชาชนจะเขียนในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ ก็ให้พวกเขาได้รณรงค์และหาข้อสรุปด้วยตัวเอง”
รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล
“สมาชิกวุฒิสภา ผมกราบ และเคารพท่าน ท่านเข้ามาเนื่องจากรัฐธรรมนูญมอบให้ท่านทำแบบนั้น มันเป็นภาวะจำยอมที่จะต้องทำอย่างนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาจจะนานเกินไปที่พี่น้องประชาชนจะทนอยู่ได้ ก่อนที่ประเทศชาติบ้านเมืองของเราจะล้มเหลว”
ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย
“สำหรับร่างการแก้ไขในมาตรา 256 ในการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ได้กำหนดขั้นตอนและเงื่อนไขไว้ซับซ้อนมากมาย จึงไม่สามารถที่จะเดินหน้าแก้ไขได้เลย และสุดท้ายอาจจะนำไปเป็นเงื่อนไขในการฉีกรัฐธรรมนูญต่อไปได้ในอนาคต”
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์
“นี่คือความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีระบบสองสภา เพราะมิเช่นนั้น วันหนึ่งที่สภาใดสภาหนึ่งรวมตัวมุ่งไปสู่ผลประโยชน์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะขาดการถ่วงดุล ประเทศจะขาดเสาหลัก… และนี่คือคำตอบว่ามี ส.ว. ไว้ทำไม”
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร