วันนี้ (23 มิถุนายน) คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้ส่วนตัวได้ตกผลึกและพร้อมที่จะรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว 6 ร่าง จากทั้งหมด 13 ร่าง ส่วนร่างที่เหลือก็ต้องขอรับฟังการอภิปรายจากสมาชิกรัฐสภาไปจนกว่าที่จะมีการลงมติ โดยส่วนตัวและสมาชิกวุฒิสภาอีกจำนวนหนึ่งค่อนข้างที่จะเป็นห่วงในประเด็นมาตรา 144 ที่บัญญัติห้ามไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ ซึ่งถือเป็นการยกระดับบัญญัติขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อีกชั้นหนึ่ง โดยมีบทกำหนดโทษที่ค่อนข้างจะรุนแรงไว้ด้วย แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้ได้มีการตัดบทลงโทษดังกล่าวออกไป โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งบทลงโทษดังกล่าวครอบคลุมเริ่มตั้งแต่ข้าราชการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนถึงระดับรัฐมนตรี โดยรวมไปถึงการตัดสิทธิ์ในการลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย
ดังนั้นการแก้ไขโดยตัดทอนบทลงโทษออกไปนั้นออกจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปราบโกงของรัฐบาลสักเท่าไร
นอกจากนั้นในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังได้ตัดมาตรา 185 ที่บัญญัติห้ามไม่ให้ ส.ส. และ ส.ว. ไม่ใช้ตำแหน่งกระทำการใดๆ หรือก้าวก่ายแทรกแซงผลประโยชน์เพื่อตนเองในการอนุมัติโครงการต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องศึกษาอย่างลึกซึ้งมากกว่าที่จะมาเสนอแก้ไขอย่างรวดเร็วในขณะนี้ โดยประเด็นดังกล่าว ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตตินั้นรับปากว่าจะนำไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวาระที่สอง การที่นายไพบูลย์รับปากเช่นนั้น ส่วนตัวเชื่อในเกียรติของท่าน และเราเคารพนับถือกันเป็นการส่วนตัว แต่ก็ต้องขอตั้งคำถามย้อนกลับไปยัง ส.ส. ที่ร่วมลงรายชื่อในร่างดังกล่าวกว่า 100 คนว่าในขณะนั้นท่านคิดอย่างไรที่จะไปตัดบทลงโทษในการก้าวก่ายและแทรกแซงงบประมาณแผ่นดิน ท่านจากเข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระสองได้อย่างไร ดังนั้นร่างดังกล่าวจึงเป็นส่วนที่ตนไม่มั่นใจว่าจะลงมติรับหลักการหรือไม่
คำนูณกล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปราบปรามการทุจริตนั้นจำเป็นที่จะต้องชื่นชมในส่วนของร่างแก้ไขของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นต้นเรื่อง ที่ได้มองเห็นถึงกระบวนการกล่าวโทษ ป.ป.ช. โดยให้สมาชิกรัฐสภา สามารถยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภาได้ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้บัญญัติไว้เพียงให้ประธานรัฐสภาสามารถดำเนินการโดยใช้ดูแลพินิจได้ว่ามีมูลเพียงใดแล้วจึงส่งไปยังประธานศาลฎีกา แต่การแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคประชาธิปัตย์นั้นได้ให้สมาชิกรัฐสภา สามารถยื่นเรื่องต่อประธานศาลฎีกาได้เลย เพียงแต่ต้องยื่นเรื่องผ่านประธานรัฐสภาเท่านั้นโดยไม่ต้องใช้ดุลยพินิจของประธานรัฐสภาในการส่งเรื่องต่อไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อป้องกันประเด็นทางการเมือง เนื่องจากประธานรัฐสภาก็มาจากพรรคการเมือง และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีบุคลิกภาพเป็นที่น่าเคารพเหมือน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน
นอกจากนั้นส่วนตัวยังมีความเป็นห่วงในประเด็นเรื่องการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพของประชาชนในมาตรา 45 และมาตรา 90 ที่ก็ทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนหายไปด้วยเช่นกัน เช่น การแก้ไขในมาตรา 45 ทำให้สิทธิของประชาชนในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองหายไป ซึ่งจะไม่มีระบบไพรมารีโหวตอีกต่อไป ซึ่งก็จะเป็นมาตราที่ยึดโยงที่จะนำสู่การแก้กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายลูกที่ว่าด้วย กกต.
ขณะที่มาตรา 90 ซึ่งเป็นการเสนอร่างขึ้นมาใหม่เหมือนจะเป็นการแก้ไขระบบการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาแล้วกลับมีข้อความที่หายไปในสาระสำคัญ คือการจัดทำบัญชีรายชื่อต้องให้สมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย โดยต้องคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชาย และหญิง โดยข้อความดังกล่าวหายไปในการเสนอขึ้นมาใหม่ของร่างมาตรา 90 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตนไม่สบายใจจึงต้องขอพิจารณาก่อนลงมติในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งว่าจะเห็นชอบด้วย
คำนูณระบุว่า ร่างที่ตนตัดสินใจที่จะลงมติรับแน่นอนแล้วมีด้วยกัน 6 ร่าง ซึ่งประกอบด้วย
- ร่างที่ 4 การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272
- ร่างที่ 8 การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 / 43 / 46 / 72
- ร่างที่ 9 การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256
- ร่างที่ 10 การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 236 และมาตรา 237
- ร่างที่ 11 การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272
- ร่างที่ 12 การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 76/1 มาตรา 76/2 มาตรา 259 มาตรา 250 มาตรา 251 / 252 / 253 / 254 และเพิ่มมาตรา 250/1
ส่วนร่างอื่นๆ ที่เหลือนั้นต้องขอตัดสินใจอีกครั้งภายหลังจากรับฟังเจ้าของร่างอภิปรายชี้แจงแล้ว