×

สภาล่ม ระหว่างถกกฎหมายถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับท้องถิ่น หลังมีผู้เสนอลงมติใหม่ เพราะ ส.ส. เข้าใจคำถามผิด

โดย THE STANDARD TEAM
23.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (23 พฤศจิกายน) ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เริ่มวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. …. ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาแล้วเสร็จ 

 

โดยพิจารณาและลงมติทีละมาตราในวาระสอง มีจำนวนทั้งสิ้น 25 มาตรา โดยเริ่มต้นที่การลงมติมาตรา 7 จำนวนผู้เข้าชื่อในการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่ตกค้างมาจากการพิจารณาสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนมาตรา 8/1 คณะกรรมาธิการได้เพิ่มขึ้นใหม่ กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนสามารถเชิญชวนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่จะต้องแสดงเอกสารหลักฐาน พร้อมลงลายมือชื่อรับรองเอกสารด้วย แต่กรณีที่กระทรวงมหาดไทยหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบยืนยันบุคคลอยู่แล้ว ไม่ต้องรับรองเอกสารโดยการลงลายมือชื่อ

 

โดย จิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย แสดงความกังวลว่า ระบบการยืนยันบุคคลตามกฎหมายนี้จะไม่โปร่งใส อาจมีการลักลอบใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น และใช้ช่องว่างทางกฎหมายเป็นเงื่อนไขในการถอดถอนผู้ที่ชนะเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง โดยให้หัวคะแนนทางการเมืองระดับพื้นที่รวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบจำนวนตามกฎหมายที่กำหนดเพื่อให้พ้นจากตำแหน่ง และอาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ที่ระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง 

 

ด้าน สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าเนื้อหาในมาตรา 8/1 ที่เพิ่มขึ้นใหม่ยังถือว่าขัดหลักรัฐธรรมนูญและจะมีปัญหาตามมา เพราะการลงคะแนนเลือกตั้งมีทั้งการลงคะแนนโดยตรงและลับ แต่ในกฎหมายกลับไปบัญญัติว่า เมื่อมีการถอดถอนผู้ที่มีอำนาจสอบสวนและถอดถอนสามารถเปิดเผยได้ว่าใครถอดถอนบุคคลใด ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นและขัดกับหลักการของกฎหมายอย่างชัดเจน

 

จากนั้นเมื่อเข้าสู่มาตรา 9/1 มีการเสนอในทำนองเดียวกันของกรรมาธิการผู้สงวนความเห็นและสมาชิกผู้แปรญัตติ ว่าให้กำหนดระยะเวลาจัดส่งคำร้องภายใน 7 วัน และต้องทำคำชี้แจงกลับมาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง 

 

โดยที่ประชุมได้มีการลงมติไปแล้วว่า ที่ประชุมจะเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อยหรือไม่ ด้วยคะแนนเห็นด้วย 163 ต่อ 75 เสียง ซึ่ง ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการ ได้ขอปรึกษาที่ประชุม และขอให้ที่ประชุมได้ถามมติในมาตรา 9/1 อีกครั้ง เนื่องจากสมาชิกยังมีความเข้าใจผิดในคำถามการลงมติ 

 

ทำให้ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการลงมติใหม่ ภายหลังประธานสภาฯ ต้องสั่งพักการประชุมไปนานกว่า 30 นาที เพื่อให้กรรมาธิการเสียงข้างน้อยและกรรมาธิการเสียงข้างมาก หารือให้ได้ข้อสรุปว่าจะให้ลงมติในมาตรา 9/1 ใหม่หรือไม่นั้น 

 

กระทั่งปรากฏว่าหลังจากเปิดการประชุมอีกครั้ง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส. จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ก็แสดงความไม่พอใจระบุว่า การให้ลงมติใหม่จะเป็นบรรทัดฐาน สร้างประเพณีปฏิบัติที่ผิด ก่อนจะให้มีการลงมติใหม่แต่องค์ประชุมก็ไม่ครบ จนกระทั่งประธานสภาฯ ต้องสั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 14.05 น.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X