×

ไอติม ผู้มองความรักเหมือนประชาธิปไตย และมองไกลถึงประชาธิปัตย์ยุคใหม่

12.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ไอติมบอกว่า ความฝันของเขาคืออยากให้ทุกคนในประเทศไทยมีโอกาสเท่าเทียมกัน และการที่จะประสบความสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดเป็นใคร ครอบครัวไหน นั่นคือจุดมุ่งหมายของเขาที่จะสร้างสังคมที่ยุติธรรม
  • ไอติมไม่ชอบการเปรียบเทียบคน เขามองว่าการที่มีคนบอกว่าอีกคนมีแต่ข้อดี แต่เราไม่รู้หรอกว่าเบื้องหลังเป็นอย่างไร ถ้าเราเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น จะเหมือนเราเอาเบื้องหลังของตัวเองไปเปรียบเทียบไฮไลต์ของคนอื่น
  • ไอติมประกาศสร้างพรรค ‘ประชาธิปัตย์ยุคใหม่’ ซึ่งถือเป็นโจทย์หิน และเขายอมรับว่าไม่สามารถทำคนเดียวได้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องปรับ ต้องหนักแน่นขึ้นมากในอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย

ไอติม หรือ พริษฐ์ วัชรสินธุ หลายคนรู้จักเขาเพราะมีน้าชายที่ชื่อ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศ

 

ไอติมในวัย 25 ปี จบการศึกษาด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด จากนั้นเดินทางกลับไทย เปิดตัวเข้าสู่ถนนการเมืองด้วยการประกาศต่อสาธารณะว่ามีใจให้พรรคประชาธิปัตย์ และพร้อมเป็นหัวขบวนนำพรรคการเมืองเก่าแก่นี้ไปสู่ ‘ประชาธิปัตย์ยุคใหม่’

 

ขณะที่เวลานี้ภาพของ ‘คนรุ่นใหม่’ ในการเมือง ถูกชูให้เป็นภาพ ‘อนาคต’ ของประเทศ ยิ่งในยามที่สังคมไทยดูจะหมดหวังกับคนการเมืองแบบเดิมๆ หลายคนบอกว่าไอติมคือหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดูจะเป็นความหวัง เป็นอนาคตแทนพวกเขาได้

 

แต่นั่นคือความท้าทายที่ไอติมจะต้องพิสูจน์ตัวตน และพิสูจน์ฝีมือว่าเขาจะก้าวไปสู่จุดนั้นอย่างหนักแน่นได้อย่างไร บทสนทนากับเขาจากนี้ไปจึงอาจเป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ช่วยเปิดเปลือยให้เห็นสมอง ความคิด จิตสำนึก และการกระทำของคนรุ่นใหม่ที่ชื่อ ‘ไอติม’

งานการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันมีเอกลักษณ์ว่า ความสำเร็จของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันขึ้นอยู่กับว่าคุณสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างไร แล้วก็ประชาชนเป็นเจ้านายคุณ คุณจะได้ทำงานหรือถูกไล่ออกมันขึ้นอยู่กับประชาชน

 

หลังเรียนจบทำอะไรบ้าง

หลักๆ มี 2 อย่าง คือพยายามปรับพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่ยุคใหม่ เพราะเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่างที่สองคือโปรเจกต์รายการทีวีที่ทำมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ‘เห็นกับตา’ เป็นสารคดีที่ตามอาชีพแต่ละอาชีพเพื่อเรียนรู้ ไม่ว่าจะคนเก็บขยะ อดีตนักโทษที่ออกมาเป็นหมอนวด หรืออย่างล่าสุดก็เป็นเรื่องของหน่วยกู้ภัย

 

งานตรงนี้เป็นการเตรียมตัวเข้าสู่การเมืองหรือเปล่า

จริงๆ มันไม่เกี่ยวข้องกัน คืออยากทำขึ้นมาเพราะเป็นคนขี้สงสัยและรู้สึกเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีสำหรับผม และหากทำเป็นรายการทีวีเพราะมีคนอยากรู้ ตั้งคำถามเหมือนกันกับแต่ละอาชีพ เช่นว่า ทำไมแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร ทำไมวินมอเตอร์ไซค์ ต้องขับบนฟุตปาธ จะได้ฟังจากมุมของเขา และเราจะไปเจาะประเด็นสังคมที่น่าสนใจแต่ละประเด็น อย่างตอนคนเก็บขยะก็เห็นเลยว่าคนไทยแยกขยะกันน้อยมาก ก็เอาสถิติมาเปิดประเด็น เผื่อคนไทยจะมีแนวคิดว่าเราจะแยกขยะอย่างไร

 

เท่ากับว่าคุณได้ Big Data เก็บไว้ด้วย แบบนี้ก็ไม่แปลกที่คนจะมองว่าเตรียมเข้าสู่การเมือง

คนจะมองมุมนั้นก็ได้ครับ ผมเข้าใจว่าเป็นสิทธิของคุณ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นการหาเสียง

 

คุณนิยามตัวเองอย่างไร

อย่างแรกผมมี 2 มุม คือคนมองว่าผมเป็นคนดูจริงจังมาก แต่เวลาอยู่กับเพื่อนผมเป็นคนที่ไร้สาระมาก อย่างที่สอง ผมเป็นคนใช้ชีวิตง่ายๆ ผมกินอาหารเช้าอย่างเดิมติดๆ กันมา 2-3 อาทิตย์แล้ว คือข้าวไข่ดาว อย่างตอนกลางคืนผมเดินไปซื้อข้าวกะเพราไข่ดาวที่ MaxValu ข้างๆ บ้าน เพราะมันลด 50 เปอร์เซ็นต์

 

ทำไมถึงสนใจการเมือง

มันเป็น 2 ขั้น ขั้นแรก ผมชอบการพัฒนาประเทศ แต่มันไม่จำเป็นต้องทำงานการเมือง พ่อแม่ผมเป็นหมอ ก็พัฒนาประเทศได้ โดยทำให้บุคลากรของประเทศแข็งแรง ครูก็พัฒนาได้ โดยการสอน  

 

ถามว่าทำไมผมถึงชอบ เพราะผมได้รับทุนจากโรงเรียนที่อังกฤษไปเรียน ตอนไปเรียนผมสังเกตอย่างหนึ่งว่า การปกครองที่อังกฤษกับไทยคล้ายกันมาก แต่ว่าระดับความเหลื่อมล้ำในอังกฤษกับไทยต่างกันมาก อย่างคุณเกิดมา พ่อแม่ก็จะส่งคุณไปเรียนโรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด เจ็บป่วยก็ไปโรงพยาบาลที่ใกล้สุด เพราะว่าคุณภาพมันไม่ต่างกันมาก

 

พอกลับไทย เมื่อโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเปิดรับสมัคร คนก็จะแห่กันมามาก หรือพอผมไปเยี่ยมพ่อแม่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จะเห็นมีคนไข้เสียค่าใช้จ่ายเยอะมากเพื่อเดินทางมากรุงเทพฯ นั่นคือสิ่งจุดประกายให้ผมสนใจการพัฒนาประเทศ ถามว่าต้องทำงานการเมืองไหม ผมว่าไม่จำเป็น แต่ว่างานการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันมีเอกลักษณ์ว่า ความสำเร็จของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันขึ้นอยู่กับว่าคุณสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างไร แล้วก็ประชาชนเป็นเจ้านายคุณ คุณจะได้ทำงานหรือถูกไล่ออกมันขึ้นอยู่กับประชาชน

ก่อนอื่นผมต้องบอกว่าผมไม่ชอบเปรียบเทียบคนนะ เพราะว่าบางทีเราจะมองว่าอีกคนมีแต่ข้อดี แต่เราไม่รู้หรอกว่าเบื้องหลังเป็นอย่างไร ถ้าเราเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น มันเหมือนเราเอาเบื้องหลังของตัวเองไปเปรียบเทียบไฮไลต์ของคนอื่น เราไม่มีทางรู้ พอเปรียบเทียบอย่างนี้ก็ไม่แฟร์หรอกครับ

 

คุณมองว่าการเมืองเป็นช่องทางที่เร็วที่สุดในการแก้ปัญหาเหล่านี้ไหม มากกว่าการรับราชการ การเป็นนักสังคมสงเคราะห์ หรือทำงานอื่นๆ หรือเปล่า

ผมก็มีมุมมองอย่างนั้นเหมือนกัน อย่างถ้าผมเป็นนักการเมือง ผมเปลี่ยนกฎหมายทีเดียวทำให้คนรักร่วมเพศแต่งงานกันได้ ผมเปลี่ยนกฎหมายทีเดียวผมสร้างความสุขให้กับคนหลายล้านคน มีความสุขที่รัฐยินยอม ยอมรับความรักของเขา ให้ผลประโยชน์ทางภาษี ทางประกันสุขภาพ การกู้ร่วมที่ไม่เคยได้มาก่อนถ้าเกิดไม่มีกฎหมาย

 

เคยได้รับแรงบันดาลใจอะไรจากคุณอภิสิทธิ์ไหม

ส่วนมากก็แค่คุยกัน บอกว่าเรียนปรัชญาการเมืองเศรษฐศาสตร์ เขาก็บอกว่าโอเค ส่วนมากเจอคุณอภิสิทธิ์แค่ครั้งหนึ่งต่อปี ก็คืองานรวมญาติ ซึ่งครอบครัวผมใหญ่มาก มีนักการเมือง 2 คน คนละพรรค ผมเจอคุณอภิสิทธิ์ส่วนมากก็บลัฟกันเรื่องบอล เพราะลิเวอร์พูลชนะบ่อยกว่า เวลาเจอกันก็พยายามไม่คุยเรื่องการเมือง บ้านอยู่ซอยเดียวกันหมด ส่วนเรื่องเรียนตอนแรกคุณพ่ออยากให้ผมเรียนหมอ แต่ผมก็ขอเลือกที่ผมอยากจะเรียนเอง ตอนนี้คุณพ่อก็เลยอยากให้มีแฟนเป็นหมอแทน

 

ปรัชญาการเมืองเศรษฐศาสตร์เรียนยากไหม

เรียนไม่ยาก ผมว่ามันมีความหลากหลายมากกว่าวิชาอื่น มันเหมือนได้เรียน 3 วิชาในตัวเดียวกัน อันที่ผมชอบมากคือการเรียนภาษา logic ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ว่าภาษาที่เราใช้บางทีมีความหมายซ้อนได้ อย่างสมมติ “ผมไปเจอเพื่อน 2 คน เบนและบอส” ถามว่าผมเจอเพื่อนกี่คน?

 

ก็ 2 คน เบนและบอส

ไม่แน่ ผมอาจหมายถึงเพื่อน 2 คนใครก็ไม่รู้ แล้วก็เบนและบอส มันแปลงได้ว่าเจอ 2 คน หรือเจอ 4 คน ซึ่งภาษา logic เป็นการวิเคราะห์ว่าทำอย่างไรให้สื่อสารไม่กำกวมได้

 

แล้วคุณมีนักปรัชญาที่ชื่นชอบไหม

ผมชอบหนังสือของ จอห์น รอลส์ (John Rawls) ซึ่งเขาบอกว่า ถ้าอยากคิดว่าสังคมที่ยุติธรรมที่สุดเป็นอย่างไร ให้คิดว่าเราหลับแล้วตื่นมาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร หนึ่งในหกพันล้านคนในโลก เพราะคุณก็จะไม่มีอคติ สมมติคุณเป็นคนที่เรียนเก่ง คุณก็อาจจะอยากให้สังคมให้รางวัลกับคนที่เรียนเก่งเยอะๆ แต่เนื่องจากคุณไม่รู้ว่าคุณเกิดมาเป็นใคร คุณก็จะสร้างสังคมที่ยุติธรรมที่สุด

 

แล้วไอติมมีจุดที่เปราะบางไหม

ก่อนอื่นผมต้องบอกว่าผมไม่ชอบเปรียบเทียบคนนะ เพราะว่าบางทีเราจะมองว่าอีกคนมีแต่ข้อดี แต่เราไม่รู้หรอกว่าเบื้องหลังเป็นอย่างไร ถ้าเราเอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น มันเหมือนเราเอาเบื้องหลังของตัวเองไปเปรียบเทียบไฮไลต์ของคนอื่น เราไม่มีทางรู้ พอเปรียบเทียบอย่างนี้ก็ไม่แฟร์หรอกครับ

การสร้างประชาธิปัตย์ยุคใหม่ผมทำคนเดียวไม่ได้ มีคนรุ่นใหม่หลายคนที่อยู่ในพรรค ผมพูดเสมอว่า ถ้าพรรคไม่ปรับจริงคงไม่ส่งผมเป็นตัวแทนงานเสวนาต่างๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่าผมคิดอย่างนี้

 

แต่จุดอ่อนช่วงแรกๆ ของผมก็คือ ผมเซนสิทีฟพอสมควรเวลาถูกวิจารณ์ ไม่ถึงกับหงุดหงิด แต่ก็นอยด์พอสมควร คือถ้าเป็นการตำหนิ วิจารณ์การกระทำความคิด ผมก็ยินดีรับฟัง แน่นอนมีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ก็เอาฟีดแบ็กนั้นมาปรับปรุงความคิดเรา แต่ผมจะนอยด์เวลาเป็นคอมเมนต์ที่อาจจะไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง หรือเป็นคอมเมนต์ในเรื่องที่ผมควบคุมไม่ได้ว่าผมจะเกิดมาเป็นลูกหลานใคร ผมเปลี่ยนไม่ได้

 

เวลานอยด์จัดการกับมันอย่างไร ปรึกษาใครไหม

ส่วนมากผมจะอยู่คนเดียว

 

คุณอภิสิทธิ์บอกว่าเวลาเขาเครียด เขาฟังเพลงร็อก ไอติมฟังเพลงแนวไหน

ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยฟังเพลงขนาดนั้น เวลาเครียดผมจะดูบอล

ผมว่าเจตนารมณ์ตอนแรกที่มีเกณฑ์ทหารก็คืออยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำประโยชน์ให้ชาติ แต่ถามว่าการทำประโยชน์ให้ชาติมีทางอื่นไหม เช่นการดูแลผู้สูงอายุ ในเมื่อประเทศเราเข้าสู่สังคมสูงวัย

 

มาที่เรื่องเกณฑ์ทหาร คิดอย่างไรถึงสมัคร

คือต้องแยกประเด็นก่อน เพราะผมเห็นสื่อตีความบางทีผิดนิดหนึ่ง คือการที่ผมไปเกณฑ์ทหารไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าการเกณฑ์ทหารควรมีหรือไม่มีในอนาคต ผมแค่ยอมรับ ไม่ว่าผมคิดอย่างไรผมก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายเดียวกับทุกคน ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย เนื่องจากผมไปเรียนมัธยมที่ต่างประเทศ ผมไม่ได้เรียน รด. ผมก็มีทางเลือก 2 ทาง หนึ่งคือจับใบดำใบแดง สองคือสมัครเลย

 

มีสองเหตุผลที่สมัครเลย เหตุผลแรก การจับใบดำใบแดงอย่างที่ทุกคนรู้กัน แต่พูดไม่ได้ว่ามีความไม่โปร่งใสอยู่ ถ้าผมสมัครไปเลยมันก็ชัดเจนตรงไปตรงมา อย่างที่สอง คือผมมีอุดมการณ์เสรีนิยมนิดๆ แน่นอนว่าความเป็นเสรีนิยมก็ถูกจำกัดนิดหนึ่งเพราะผมมีทางเลือกแค่ 2 ทาง ซึ่งเลือกไม่ทำไม่ได้ การสมัครมันเป็นการได้เลือกตัดสินใจเอง ไม่ใช่ไปจับแล้วมาดูว่าอาจจะได้ใบดำหรือเปล่า

 

เห็นว่าควรเปลี่ยนการเกณฑ์ทหารไหม

ผมว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ รู้สึกว่าไหนๆ ต้องเป็นแล้ว ยังไม่อยากบอกว่าตอนนี้รู้สึกอย่างไร เพราะยังมีกระบวนการเรียนรู้ที่ผมต้องเรียนรู้อยู่ แต่ผมพูดนิดหนึ่ง คิดว่าข้อดีมีอะไรบ้าง ผมว่าเจตนารมณ์ตอนแรกที่มีเกณฑ์ทหารก็คืออยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำประโยชน์ให้ชาติ แต่ถามว่าการทำประโยชน์ให้ชาติมีทางอื่นไหม เช่นการดูแลผู้สูงอายุ ในเมื่อประเทศเราเข้าสู่สังคมสูงวัย อย่างที่สองผมว่าการประกาศออกมาแต่ละปีว่าต้องการทหารกี่คน ผมว่าประชาชนอยากรู้มากว่าตัวเลขคิดอย่างไร ภัยคุกคามรอบโลกมันเปลี่ยนแล้ว สงครามไม่ได้เกิดแค่ในสนามรบอย่างเดียว

มันหนีความเป็นจริงไม่พ้นว่า คนรุ่นใหม่ต้องทำกับคนรุ่นก่อน ถ้าผมทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ กับคนรุ่นเก่า ก็เป็นบททดสอบที่ดีเหมือนกัน เพราะถ้าผมปรับพรรคได้ ถ้าผมมีโอกาสบริหารประเทศ ก็มีโอกาสพัฒนาประเทศได้เหมือนกัน

Photo: พริษฐ์ วัชรสินธุ – Parit Wacharasindhu / facebook

 

มีคำถามมาว่า คุณคิดว่าจะทำให้คนที่ไม่เอาทั้ง นปช. เพื่อไทย กปปส. หรือว่าประชาธิปัตย์ แต่เปลี่ยนใจมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างไร

ผมมองว่าประชาธิปัตย์ต้องปรับ และต้องปรับเข้าสู่ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ซึ่งมีอยู่ 3 ด้านคือ ต้องหนักแน่นขึ้นมากในอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งมันตั้งคำถามได้ ว่าในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นในอุดมการณ์นี้จริงหรือเปล่า และผมต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องทำเรื่องนี้

 

คุณมีแนวทางอย่างไร

คือผมมองว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ที่ประเทศไทยยังไม่เคยไปถึงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ผมว่ามีความเชื่อ 2 อย่างที่ทำให้ไปไม่ถึง ความเชื่อแรกคือความเชื่อว่าอาจจะมีคนคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งรู้ดีกว่าประชาชน ความเชื่อนี้ทำให้เกิดการรัฐประหาร เกิดการไม่ฟังเสียงประชาชน

 

อันตรายที่สองคือ ความเชื่อว่าประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบมีแค่การเลือกตั้ง ซึ่งผมมองว่าเป็นแค่หนึ่งขา ยังมีการเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิของคนส่วนน้อย มีการถ่วงดุลอำนาจ การกระจายอำนาจ ซึ่งผมเชื่อว่าการลดการทุจริต คืออย่าให้อำนาจไปกระจุกอยู่จุดเดียว จังหวัดอาจมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผ่านการเลือกตั้งจากคนในจังหวัด

 

แล้วคนพรรคประชาธิปัตย์คิดกับคุณอย่างไร

การสร้างประชาธิปัตย์ยุคใหม่ผมทำคนเดียวไม่ได้ มีคนรุ่นใหม่หลายคนที่อยู่ในพรรค ผมพูดเสมอว่า ถ้าพรรคไม่ปรับจริงคงไม่ส่งผมเป็นตัวแทนงานเสวนาต่างๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่าผมคิดอย่างนี้

 

Photo: พริษฐ์ วัชรสินธุ – Parit Wacharasindhu / facebook

 

ชีวิตความรักของคุณเป็นอย่างไรบ้าง เป็นคนมีเมตตากับสาวๆ ไหม

ผมเป็นคนที่มีช่วงมีแฟนค่อนข้างนาน ที่ผ่านมาผมมีแฟนมาแล้วทั้งหมด 3 คน คนละประมาณ 3-4 ปี และค่อนข้างจริงจังพอสมควร ผมมองความรักเหมือนประชาธิปไตย คุณค่ามันมาจาก 2 ประการคือ หนึ่ง เท่าเทียมกัน สอง อิสรภาพ ผมเอา 2 หลักการนี้มาใช้กับความรัก หนึ่งคือความเท่าเทียม เราจะไม่ทำอะไรกับเขาที่เราจะไม่สบายใจถ้าเขาทำแบบนั้นกับเรา สอง เราจะไม่มีสิทธิ์ไปบอกเลยว่าเขาจะต้องทำอะไร ก็ให้เขาเลือกที่จะทำเอง 3 คนที่ผ่านมาก็เวิร์กมาได้ระดับหนึ่ง ส่วนสาวๆ ผมไม่มีสเปก มองแต่ละคนเป็นตัวของตัวเอง เพราะแต่ละคนก็มีความเป็นตัวเองของเขา

 

ถ้าสมมติได้เข้าไปเป็นนักการเมืองมีอะไรที่อยากเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย

อุดมคติคืออยากเพิ่มความหลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำ อย่างที่บอกไป เรื่องการแต่งงานไม่ว่าเพศใด หรือการลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งเรื่องคุณภาพการศึกษา การรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน โดยการกระจายอำนาจ มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งก็จะรู้ปัญหาในพื้นที่ และอาจมีอำนาจเพิ่มขึ้นสามารถกู้เงินไปสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียนมีอำนาจจะผลักดันการพัฒนาจังหวัดของตัวเองได้

 

มั่นใจว่าถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งจะพัฒนาท้องถิ่นได้ดีกว่า แต่คุณไม่กลัวว่าจะเกิดการโกงขึ้นเหรอ

ผมมองว่าการคอร์รัปชันเป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่การให้ประชาชนเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาเอง มันจะลดคอร์รัปชั่น ทุกวันนี้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้น คำถามคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนกลุ่มนั้นมีอำนาจตรวจสอบคอร์รัปชัน อย่างแรกก็คือ ทำให้เขามีช่องทางแจ้งเบาะแสการทุจริตได้ ทำให้เขามีข้อมูลที่เปิดจากรัฐบาลไปวิเคราะห์ ทำอย่างไรให้คนที่กล้าแสดงออกอย่างน้องแบมได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่ อีกอย่างคือทำให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้นในการจัดซื้อจัดจ้าง เช่นมีตัวแทนประชาชนเข้าไปอยู่เพื่อตรวจสอบให้ชัดเจน คือให้อำนาจประชาชนที่ตื่นตัวแล้วมาตรวจสอบเรื่องคอร์รัปชัน

การที่จะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดเป็นใคร ครอบครัวไหน นั่นคือจุดมุ่งหมายของผมที่จะสร้างสังคมที่ยุติธรรม

Photo: พริษฐ์ วัชรสินธุ – Parit Wacharasindhu / facebook

 

เคยคิดไหมว่าจะตั้งพรรคการเมืองเอง

เคยคิดเหมือนกัน แต่คิดว่าการเป็นคนใหม่ที่ทำงานกับพรรคการเมืองเก่าที่สมาทานแนวคิดตรงกับเรา ผมว่าได้ประโยชน์ 2 อย่าง อย่างแรกได้รับมุมมองคนรุ่นก่อน ผมว่าถ้าเราอยากให้เขารับฟังเรา เราต้องรับฟังเขา อย่างที่สอง ถ้าพรรคการเมืองมีจุดประสงค์คือบริหารประเทศ ขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำกับข้าราชการต่างๆ ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในงานนั้นมานานแล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันหนีความเป็นจริงไม่พ้นว่า คนรุ่นใหม่ต้องทำกับคนรุ่นก่อน ถ้าผมทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ กับคนรุ่นเก่า ก็เป็นบททดสอบที่ดีเหมือนกัน เพราะถ้าผมปรับพรรคได้ ถ้าผมมีโอกาสบริหารประเทศ ก็มีโอกาสพัฒนาประเทศได้เหมือนกัน

 

ถ้าสมมติต้องเลือกกระทรวงหนึ่งไปบริหาร คุณเลือกกระทรวงไหน

อยากทำเรื่องการศึกษา เพราะว่าเวลาผมเรียนเศรษฐศาสตร์เราจะคุยกันว่าจุดประสงค์ของเศรษฐกิจคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจโต สมมติว่าเศรษฐกิจคือเค้กชิ้นหนึ่ง เราจะทำอย่างไรให้เค้กชิ้นนั้นโต แล้วแบ่งอย่างเป็นธรรมที่สุด ซึ่งนโยบายบางอย่างช่วยให้เค้กใหญ่ขึ้นแต่ทำให้การแบ่งไม่แฟร์ แต่บางนโยบายอาจทำให้แบ่งเค้กได้ยุติธรรมมากขึ้น แต่ไม่ทำให้เศรษฐกิจโต ผมมองว่าการศึกษาเป็นด้านหนึ่งที่ทำให้เค้กใหญ่ขึ้นโดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งประเทศ แล้วทำให้โอกาสคนเท่าเทียมกัน การไต่เต้าด้วยความสามารถต้องทำให้แต่ละคนได้เรียนโรงเรียนคุณภาพเดียวกัน

 

มีอะไรอีกไหมที่คุณรู้สึกว่าคือประเทศไทยในฝันของคุณ

ผมอยากให้ทุกคนในประเทศไทยมีโอกาสเท่าเทียมกัน การที่จะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดเป็นใคร ครอบครัวไหน นั่นคือจุดมุ่งหมายของผมที่จะสร้างสังคมที่ยุติธรรม

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X