×

พริษฐ์ตอบโต้ หลังนิกรโทษว่าทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ล่าช้า ย้อนรัฐบาลเสียเวลา 3 เดือนตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ แต่ไม่เร่งทำประชามติ

โดย THE STANDARD TEAM
29.11.2024
  • LOADING...

ช่วงค่ำวานนี้ (28 พฤศจิกายน) พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์ข้อความชี้แจงกรณี นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ระบุว่า ต้องโทษพริษฐ์ที่ทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทันปี 2570 เพราะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 มาพร้อมกับฉบับของพรรคเพื่อไทย เพื่อลดจำนวนการจัดทำประชามติให้เหลือ 2 ครั้ง ทำให้ต้องรอ 4 เดือน ก่อนจะลงเอยว่าไม่สามารถทำได้

 

โดยพริษฐ์ชี้แจงว่า ตนเองแทบไม่เชื่อว่านิกร ในฐานะคนที่ให้ความเคารพและหารืออยู่อย่างต่อเนื่อง เลือกจะให้ความเห็นในลักษณะที่เป็นการกล่าวหาตนเองด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไม่ครบถ้วน ซึ่งขออนุญาตชี้แจงเบื้องต้นแค่ 2 ประเด็นหลัก

 

“ท่านบอกว่าให้โทษตนเองที่มีส่วนทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าช้าและมีแนวโน้มไม่ทันปี 2570 ต้องทบทวนความทรงจำว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างตั้งแต่รัฐบาลที่คุณนิกรทำงานให้เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 และต้องขออนุญาตถามกลับไปดังๆ ว่า ตนเองไปทำอะไรส่วนไหนที่ทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าช้ามาถึงวันนี้”

 

พริษฐ์ชี้ว่า รัฐบาลใช้เวลา 3 เดือนแรกหรือช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 ไปกับการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่นิกรเป็นโฆษก แทนที่จะเดินหน้าจัดประชามติตามที่เคยประกาศไว้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการศึกษาที่ไม่ได้มีอะไรใหม่แถมยังเป็นขั้นตอนที่ไม่มีความจำเป็น การที่พรรคก้าวไกล ณ เวลานั้นไม่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยใช้วิธีให้ความเห็นและข้อเสนอแนะไปแทน ก็ไม่ได้ทำให้คณะกรรมการชุดนี้ทำงานช้าลงแต่อย่างใด

 

“ถ้าคุณนิกรอยากประหยัดเวลาจริง วันนั้นท่านควรจะเสนอแนะรัฐบาลให้ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา เพื่อประหยัดเวลาไป 3 เดือน” พริษฐ์ระบุ

 

สำหรับระยะเวลา 4 เดือนถัดมาหรือช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ที่นิกรอ้างว่าตนเองทำให้เสียเวลาไปในกระบวนการที่รัฐสภามีมติส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องจำนวนประชามติ ซึ่งท้ายสุดศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้ นิกรคงลืมไปว่าข้อเสนอดังกล่าวในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ข้อเสนอของตนเองและพรรคก้าวไกล แม้ตนเองและพรรคก้าวไกลไม่ได้ขัดขวางความพยายามดังกล่าวและโหวตงดออกเสียงต่อญัตติในที่ประชุมรัฐสภา

 

“ถ้าคุณนิกรอยากประหยัดเวลาจริง วันนั้นท่านควรจะเสนอให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการขั้นตอนนี้ในห้วงเวลาคู่ขนานกับการทำงานของคณะกรรมการในข้อ 1 ตั้งแต่ตอนปลายปี 2566 แทนที่จะรอให้คณะกรรมการทำงานทุกอย่างเสร็จก่อนถึงค่อยเริ่มดำเนินการขั้นตอนนี้ตอนต้นปี 2567”

 

พริษฐ์ระบุต่อไปว่า หากนิกรจะโทษว่าญัตติของพรรคเพื่อไทยทำให้การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ หรือการจัดทำประชามติล่าช้า จะว่าไม่เป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ของตนเองมาที่สภาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งสภาสามารถพิจารณาคู่ขนานกับกระบวนการในข้อ 2 ได้ แต่ ณ วันที่กระบวนการของรัฐสภาเสร็จสิ้นลงด้วยการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย ทาง ครม. ที่นิกรทำงานให้กลับยังไม่ได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ของตนเองเข้ามาอยู่ดี จนทำให้ทุกพรรคต้องรอถึงเดือนมิถุนายน 2567 กว่า ครม. จะเสนอร่างของตนเองเข้ามา

 

“สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ทุกฉบับพร้อมกันในวาระที่ 1 ซึ่งก็ยังไม่เสร็จสิ้นกันจนถึงวันนี้ ซึ่งถ้าคุณนิกรอยากประหยัดเวลาจริง วันนั้นท่านควรจะช่วยให้ ครม. เสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ให้เร็วกว่านี้ แทนที่จะให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องรอร่างของ ครม. เป็นเดือนๆ”

 

ความพยายามลดประชามติเหลือ 2 ครั้ง มีแต่ได้หรือเท่าทุน

 

พริษฐ์ยังกล่าวถึงประเด็นที่นิกรระบุว่า การโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายลดจำนวนการทำประชามติให้เหลือ 2 ครั้งเป็นเรื่องเสียเวลาว่า ขอบคุณในความเป็นห่วงและเข้าใจดีว่าไม่มีอะไรรับประกันว่าจะสำเร็จ แต่วันนี้มีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้นหลังมีการนำเสนอคำวินิจฉัยรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน และผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ที่แล้วต่อประธานรัฐสภา

 

“ในอีกมุมหนึ่งผมต้องย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่ว่าความพยายามของผมจะสำเร็จหรือไม่ ความพยายามตรงนี้ไม่มีส่วนไหนที่จะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญล่าช้าไปกว่าเดิม หากผมหยุดความพยายามของผมทั้งหมดและให้รัฐบาลเดินตามแผนเดิมในการทำประชามติ 3 ครั้ง สิ่งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นคือ พ.ร.บ.ประชามติ จะถูกชะลอไป 6 เดือนจากความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ซึ่งจะทำให้ประชามติครั้งแรกจาก 3 ครั้งไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนปลายปี 2568”

 

พริษฐ์ระบุว่า แต่หากเราร่วมกันเดินหน้าต่อในห้วงเวลา 3-6 เดือนข้างหน้า เพื่อพยายามลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง หากเราประสบความสำเร็จจะสามารถทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เกิดขึ้นทันทีและคู่ขนานกับห้วงเวลาที่ พ.ร.บ.ประชามติ ถูกชะลอไป 6 เดือนได้ ซึ่งจะทำให้ประชามติครั้งแรกจากเพียง 2 ครั้งเกิดขึ้นได้ปลายปี 2568 ซึ่งจะประหยัดเวลาทั้งหมดได้ประมาณ 1 ปี แต่หากเราไม่ประสบความสำเร็จและต้องกลับมาเดินตามแผนเดิมที่มีการทำประชามติ 3 ครั้ง เราก็ไม่ได้เสียเวลาอะไรไปมากกว่าเดิม เพราะประชามติครั้งแรกจาก 3 ครั้งก็จะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนปลายปี 2568 อยู่ดี

 

“สรุปสั้นๆ คือความพยายามของเราจะมีแต่ได้หรือเท่าทุน และแน่นอนว่าทุกท่านย่อมมีสิทธิที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความพยายามของผม แต่ผมอยากให้ข้อเสนอแนะและข้อวิจารณ์ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง” พริษฐ์ทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X