×

ยื้อเวลา-ย้อนหลักการ-ยอมต่ออำนาจเดิม พริษฐ์ชี้ เรื่องรัฐธรรมนูญถกเถียงมายาวนานแล้ว แนะรัฐบาลควรมีกรอบเวลาชัด เดินหน้าสู่วันประชามติ

โดย THE STANDARD TEAM
14.09.2023
  • LOADING...
พริษฐ์ วัชรสินธุ

วันนี้ (14 กันยายน) พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อกังวลต่อกรณี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีข้อสั่งการมอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ

 

พริษฐ์กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของรัฐบาลเศรษฐา ประเด็นเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นหนึ่งในประเด็นที่สังคมจับตามอง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเคยออกแถลงการณ์เพียง 43 วันก่อนหน้านี้ (2 สิงหาคม) ในวันที่พรรคเพื่อไทยฉีก MOU กับพรรคก้าวไกลและพันธมิตร 8 พรรค เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีก้าวไกลว่าในรัฐบาลเพื่อไทยที่ไม่มีก้าวไกลจะมี ‘มติ ครม. ในการประชุมครั้งแรกให้มีการทำประชามติและจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ’

 

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาจากการประชุม ครม. เมื่อวานนี้ (13 กันยายน) กลับเป็นเพียงข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรี (ไม่ใช่มติ ครม.) ที่มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ โดยยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ โดยจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน’

 

พริษฐ์กล่าวว่า ในบางกรณีประชาชนบางส่วนอาจจะพอยอมรับได้ที่ผู้นำรัฐบาลมีการย้อนศรจากสิ่งที่เคยได้พูดไว้ หากเป็นไปเพื่อให้รัฐบาลได้มีเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมให้รอบคอบก่อนดำเนินการ (แม้อาจยังคงตั้งข้อสงสัยได้ว่าแล้วทำไมถึงไม่ศึกษาให้ครบถ้วนก่อนประกาศกับประชาชน) แต่สำหรับกรณีเรื่องรัฐธรรมนูญ ตนไม่คิดว่าเหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่สามารถมาใช้รองรับได้

 

ในเชิงข้อเท็จจริง แนวทางเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. และการทำประชามติ ล้วนเป็นประเด็นที่ถูกพิจารณาและถกเถียงกันโดยละเอียดมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม จนเคยได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายทางการเมืองเห็นตรงกันมาแล้ว

 

1. ในส่วนของข้อสรุปเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.

 

  • ธันวาคม 2562: สภาผู้แทนราษฎรมีการตั้ง ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ ที่มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองในสภา ณ เวลานั้น และมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (ปัจจุบันคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ) เป็นประธาน

 

  • ธันวาคม 2562 – สิงหาคม 2563: คณะกรรมาธิการดังกล่าวได้ใช้เวลากว่า 8 เดือน ในการศึกษาทุกมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยละเอียด มีรายงาน 600+ หน้า พร้อมกับมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการที่มีหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตลอดกระบวนการ โดยหนึ่งข้อสรุปสำคัญที่คณะกรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นชอบตรงกันคือ ‘การให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ โดย ‘สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากประชาชน’

 

  • พฤศจิกายน 2563: ข้อสรุปดังกล่าวจึงถูกแปรมาเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การมี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยทั้ง 2 ร่างที่ถูกเสนอ (1 ร่างนำโดย สส. พรรคพลังประชารัฐ และ 1 ร่างนำโดย สส. พรรคเพื่อไทย) ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในการพิจารณาวาระที่ 1 จากทุกฝ่าย (สส. + สว.) ด้วยคะแนน 88% และ 79% ตามลำดับ และได้ถูกพิจารณาเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการที่มีตัวแทนจากทั้ง สส. และ สว.

 

  • กุมภาพันธ์ 2564: ในการพิจารณาในวาระ 2 รัฐสภาได้ลงมติร่วมกันเพื่อเห็นชอบให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

 

  • มีนาคม 2564: แต่พอเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 3 สส. บางพรรคในขั้วรัฐบาล ณ เวลานั้น และ สว. ได้ร่วมกันปัดตกและไม่ลงคะแนนเสียงให้กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ให้เหตุผลว่าเพราะไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เป็นการอ้างว่าพวกเขาตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ว่าจำเป็นจะต้องทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก่อนจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่ สสร. เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตั้งแต่วาระที่ 1

 

2. ในส่วนของข้อสรุปเรื่องการทำประชามติ เพื่อริเริ่มการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

  • กันยายน 2565: หลังจากการอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เพื่อมาปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ในปี 2564 พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจึงตัดสินใจเสนอญัตติในสภา โดยอาศัยกลไกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9 (4) เพื่อให้มีการจัดประชามติดังกล่าว เพื่อนับหนึ่งการเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว (โดยมีข้อเสนอพ่วงให้จัดประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้งเพื่อประหยัดงบประมาณ)

 

  • แม้พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการจัดประชามติดังกล่าวไม่ได้มีความจำเป็นในเชิงกฎหมาย แต่ในเชิงการเมือง หนทางเดียวที่จะรับประกันว่าข้อเสนอเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. จะเป็นข้อเสนอที่ สว. ไม่กล้าปัดตกในรัฐสภา ก็ต่อเมื่อเรามีผลประชามติมายืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ

 

  • พฤศจิกายน 2565: ญัตติให้จัดประชามติดังกล่าวได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร (เห็นด้วย 324 ราย, ไม่เห็นด้วย 0 ราย และงดออกเสียง 1 ราย) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก สส. ของทุกพรรคหลักที่เข้าประชุม ณ วันนั้น และร่วมรัฐบาล ณ เวลานี้ (พรรคเพื่อไทย, พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย)

 

  • กุมภาพันธ์ 2566: ญัตติดังกล่าวถูกปัดตกในชั้นวุฒิสภา โดยเหตุผลส่วนหนึ่งที่หยิบยกมาคือข้อกังวลในเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้ง

 

  • วันนี้: ครม. มีอำนาจผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9 (2) ที่จะออกมติให้จัดประชามติได้โดยไม่ต้องอาศัยเสียงของ สว. และนับหนึ่งสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. ซึ่งเป็นแนวทางที่ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง เคยเห็นตรงกันในคณะทำงาน 8 พรรค (สมัยที่จะยังตั้งรัฐบาลด้วยกัน) และถูกย้ำโดยพรรคเพื่อไทยอีกครั้งหลังเลือกตั้งในวันที่พรรคเพื่อไทยแยกทางกับพรรคก้าวไกลเพื่อไปจัดตั้งรัฐบาลปัจจุบัน

 

พริษฐ์กล่าวว่า ที่จำเป็นต้องย้อนรายละเอียดทั้งหมดก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ถูกพิจารณาถกเถียงกันมายาวนานหลายปีโดยทุกฝ่ายทางการเมืองมีส่วนร่วมมาโดยตลอด ตอนนี้เหลือเพียงการตัดสินใจของ ครม. ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร

 

“ดังนั้นผมจึงมีความกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาอีกชุดจะไม่ได้นำไปสู่การที่เราได้รับทราบมุมมองอะไรที่เพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญจากที่เคยถูกแสดงมาหมดแล้ว แต่อาจมีวัตถุประสงค์ของการ ‘ยื้อเวลา-ย้อนหลักการ-ยอมต่ออำนาจเดิม’ โดยหากรัฐบาลต้องการยืนยันว่าข้อกังวลผมไม่เป็นจริง ผมมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่าสามารถชี้แจงรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมได้บ้างเพื่อคลายข้อกังวลดังกล่าวที่ผมมี (และประชาชนบางส่วนอาจมีเช่นกัน)”

 

1. ยื้อเวลา

 

  • ข้อกังวล: ในเมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. อาจต้องอาศัยกระบวนการที่ประชาชนต้องเข้าคูหาถึง 4 ครั้ง (ประชามติ #1 + ประชามติ #2 + เลือกตั้ง สสร. + ประชามติ #3) ซึ่งอาจใช้เวลารวมกันถึง 2-3 ปีขึ้นไปกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ฉบับใหม่ บังคับใช้ การติดกระดุมเม็ดแรกผ่านการจัดทำประชามติ #1 โดยเร็ว จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงที่รัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เสร็จก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป

 

  • ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล (เพื่อคลายข้อกังวล): รัฐบาลควรชี้แจงถึงกรอบระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการศึกษานี้ว่าจะได้ข้อสรุปภายในเมื่อไร

 

2. ย้อนหลักการ

 

  • ข้อกังวล: คณะกรรมการศึกษาชุดนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือและข้ออ้างในการย้อนหลักการสำคัญที่เคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น

1) จุดยืนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่ไม่ใช่แค่แก้ไขรายมาตรา) และ

2) จุดยืนเรื่องการจัดทำฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ควรมาจากการเลือกตั้ง (ที่ไม่ใช่การจัดทำโดย สสร. ที่มีส่วนผสมของการแต่งตั้ง หรือโดยรัฐสภาเองที่ ⅓ ประกอบไปด้วย สว. แต่งตั้ง)

 

  • ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล (เพื่อคลายข้อกังวล): รัฐบาลควรระบุให้ชัดถึง ‘กรอบ’ (Scope) การทำงานของคณะกรรมการศึกษา ว่าจะเป็นเพียงการศึกษาในประเด็นรายละเอียดและการนำเสนอทางเลือกต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อ 2 หลักการสำคัญที่เคยได้ข้อสรุปร่วมกันไปแล้ว (ร่างฉบับใหม่ และโดย สสร. เลือกตั้ง)

 

3. ยอมต่ออำนาจเดิม

 

  • ข้อกังวล: การตั้งคณะกรรมการศึกษาชุดนี้อาจเป็นการเปิดช่องให้เครือข่ายอำนาจเดิมที่มีผลงานในการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาแทรกแซงและสกัดกั้นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ข้อสังเกตที่น่ากังวลคือการออกมารับลูกโดย สว. ท่านหนึ่งที่เห็นชอบกับแนวทางการตั้งคณะกรรมการศึกษาของรัฐบาล และพยายามชี้นำไม่ให้องค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวมีสัดส่วนของ ‘กลุ่มที่เห็นต่าง’ ซึ่งอาจสอดคล้องกับคำเตือนที่ผมได้อภิปรายในรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 กันยายน) ว่าอาจมีความพยายามของกลุ่มอำนาจเดิม ที่จะ ‘ล็อกสเปก’ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (หากมีการจัดทำใหม่) ผ่านการล็อกสเปกตั้งแต่คนที่จะมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแม้กระทั่งย้อนมาถึงการล็อกสเปก ‘คณะกรรมการศึกษาชุดนี้’

 

  • ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล (เพื่อคลายข้อกังวล): รัฐบาลควรระบุให้ชัดถึงองค์ประกอบและกระบวนการทำงานของคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ เพื่อให้ความมั่นใจว่าความเห็นที่ถูกรับฟังจะเป็นความเห็นที่รอบด้านและเป็นไปตามสัดส่วนของความเห็นที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ

 

“พรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่าหากไม่อยากให้มีการยื้อเวลา ย้อนหลักการ หรือยอมต่ออำนาจเดิม ทางออกที่เรียบง่ายที่สุดคือการที่ ครม. ออกมติให้เดินหน้าจัดทำประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับหลักการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. เลือกตั้ง เพราะหากประชาชนทั่วประเทศเห็นชอบอย่างท่วมท้น ผลประชามติและเจตจำนงของประชาชนจะเป็นอาวุธที่สำคัญและชอบธรรมที่สุดในการฝ่าฟันแรงเสียดทานจากเครือข่ายอำนาจเดิมและเดินหน้าสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X