ขบวนเรือพาเหรดนักกีฬา 85 ลำกลางสายน้ำ หญิงสาวในชุดกระโปรงบานสีชมพู วงดนตรีเฮฟวีเมทัล ผู้เชิญคบเพลิงปริศนา จนถึงเจ้าตัวเหลืองจอมวุ่นวาย Minions (ปาโป๊ยๆ เจลาโต)
สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการแสดงในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ‘โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024’ ที่ใช้เวลาในการแสดงกว่า 4 ชั่วโมงให้ผู้ชมทั่วโลกนับล้านรับชม ซึ่งรวมถึงแฟนกีฬาชาวไทยมากมายที่อดตาหลับขับตานอนได้ติดตามกันเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา
ถึงแม้จะมีอุปสรรคใหญ่อย่างสายฝนที่โหมกระหน่ำตลอดทั้งวันจนทำให้เปียกปอนไปหมด แต่พิธีเปิดการแข่งขันในครั้งนี้ก็ได้รับเสียงปรบมือจากคนทั่วโลก
นั่นเพราะไม่เพียงแต่จะเป็นพิธีเปิดที่อลังการดาวล้านดวง แต่ยังเป็นพิธีเปิดที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัด โดยที่ไม่เคยหลงลืมรากเหง้าความเป็นมาของตัวเอง
หรือพูดง่ายๆ นี่คือพิธีเปิดการแข่งขันที่ทำให้เราได้เห็นและสัมผัสตัวตนของฝรั่งเศสได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจถ้อยคำหรือเนื้อร้องแม้สักคำ
ก่อนหน้าที่จะถึงวันพิธีเปิดการแข่งขันปารีส 2024 เจ้าภาพได้สร้างความตื่นเต้นให้กับทุกคนบนโลก เมื่อประกาศว่าพิธีเปิดจะไม่ได้จัดขึ้นในสนามกีฬาอย่างที่เคยทำตลอดมาอีกแล้ว
เวทีของเราคือ ‘ลา แซน’ (La Seine) สายน้ำแห่งชีวิตของชาวปารีเซียง
อัฒจันทร์ของเราก็คือริมสองฝั่งของลา แซนแสนสวย ที่พร้อมต้อนรับทุกคนให้มานั่งเฉลิมฉลองและต้อนรับเหล่าโอลิมเปียด (Olympiads) หรือนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์จากทั่วโลก ที่จะมาร่วมชิงชัยในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติไปด้วยกัน
แสงสุดท้ายของวันที่จะทำให้ปารีสเหมือนความฝัน สู่ยามค่ำคืนที่แม้ฟ้ามืดมิด แต่ปารีสคือนครแห่งแสงไฟ (City of Light) นี่จะเป็นพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาที่โรแมนติกที่สุดในโลก
เท่านั้นเองที่ทุกคนต่างเฝ้ารอพิธีเปิดครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ
แต่ตัดภาพมาถึงวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม ดูเหมือนภาพของความงดงามอาจไม่ไปถึงในจุดที่ทุกคนวาดหวังไว้นัก เพราะสายฝนตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่เช้า และลากยาวไปตลอดทั้งวันจนปารีสชุ่มฉ่ำและเฉอะแฉะ
สายฝนกระทบต่อบรรยากาศและความรู้สึกของผู้คน 300,000 คนที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำแซน (จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเปิดให้ชมถึง 600,000 คน) และอีกนับพันล้านคนทั่วโลก เพราะเมฆครึ้มทำให้เรามองไม่เห็นช่วงเวลาตะวันลับขอบฟ้า ไม่เห็นแสงสีทองที่ส่องกระทบสายน้ำผ่านพีระมิดแก้วที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และทาบลงบนหอไอเฟลให้เราได้เห็นเส้นสายที่ซ่อนอยู่ของโครงเหล็ก
แต่นั่นไม่อาจหยุดความตั้งใจที่ร้อนแรงของเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศสได้
เราเตรียมโชว์ไว้ให้คุณแล้ว นั่งลงเถิด แล้วขอให้เพลิดเพลินไปด้วยกัน
ฝรั่งเศสเตรียมอะไรไว้อวดพวกเราบ้าง?
เริ่มจากการปรากฏตัวของ ซีเนดีน ซีดาน ตำนานนักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอีกคนของฝรั่งเศส ที่พาทีม ‘เลส์ เบลอส์’ คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกได้ในปี 1998 ซึ่งแม้จะเป็นคนเชื้อสายแอลจีเรีย แต่ ‘ซีซู’ ก็นับเป็นคนฝรั่งเศสเต็มขั้นและได้รับความรักและการนับถือจากคนในประเทศ
ซีดานมาในบทของผู้ที่มาช่วยรับช่วงนำคบเพลิงโอลิมปิกเกมส์จากแซงต์-เดอ นีส์ ไปสู่ปารีสให้ทันเวลาพิธีเปิดการแข่งขัน โดยเส้นทางวิ่งนั้นสะท้อนถึงการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ของฝรั่งเศส ผ่านสนามสเกตบอร์ด ก่อนจะลงไปสู่สถานีรถไฟใต้ดิน
แต่รถไฟเจ้ากรรมดันขัดข้องเสียก่อน (นี่ก็ความฝรั่งเศสเหมือนกันใช่ไหม!) ทำให้ต้องฝากคบเพลิงนี้ไปกับกลุ่ม ‘เด็กบอร์ด’ ตัวน้อย 3 คน ที่เห็นซีดานแล้วพยายามจะตามมาดู เป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อความหวังไปสู่คนรุ่นใหม่ด้วย
ก่อนที่เด็กทั้ง 3 คนจะเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางรถไฟใต้ดิน ผ่านสุสานใต้ดิน (Catacombs) แล้วพยายามหนีจระเข้ ก่อนจะพบกับบุคคลปริศนาที่บังเอิญพายเรืออยู่ใต้ดินของปารีสพอดี ก็เลยอาสาพาเด็กๆ ไปส่งให้ถึงสะพานออสแตร์ลิตซ์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของพิธีเปิดการแข่งขัน
หลังจากนั้นคือการเริ่มต้นการโชว์อย่างแท้จริง ซึ่ง 2 ผู้กำกับ โธมัส จอลลี (Thomas Jolly) และ เธียร์รี เรอบูล (Thierry Reboul) ใช้เวลาถึง 5 ปีในการตระเตรียมแผนงานทุกอย่าง การซักซ้อมการแสดงอีก 6 เดือน โดยใช้นักแสดงเป็นพันคน
80 คนในนั้นคือเหล่านักแสดงสาวจากโรงละคร Moulin Rouge ที่มาพร้อมกับการโชว์ระดับตำนาน Cancan Dance ที่มีมาตั้งแต่ยุคปี 1820 หรือร่วม 200 ปีมาแล้ว ด้วยชุดสีชมพูฟูฟ่องที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับโอกาสนี้ โดยแสดงในช่วงใกล้ๆ กับโชว์ของ เลดี้ กาก้า
ในการแสดงชุดนี้ หากสังเกตจะพบว่ามีการดัดแปลงใส่ความทันสมัยเข้าไปในเพลงด้วยซาวด์แบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าวัฒนธรรมฝรั่งเศสไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แม้จะหวงแหนของเดิมแค่ไหนก็ตาม
ที่ว่าหวง ‘ของเดิม’ นั้นก็เป็นที่เข้าใจได้ เพราะฝรั่งเศสและปารีสนั้นรุ่มรวยไปด้วยของดี ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่วิถีชีวิต ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดในการแสดงพิธีเปิดแบบไม่มีปิดบังด้วย
เราได้เห็นความงดงามของปารีสในมุมที่สวยงามที่สุดบนหลังคาและดาดฟ้าของอาคารต่างๆ ผ่านการเดินทางของบุรุษปริศนาผู้เชิญคบเพลิง แต่มีลีลาคล่องแคล่วว่องไว เก่งกาจในการปีนป่ายแบบกีฬาปาร์กัวร์ ที่หลายคนคิดว่าหรือจะมาจากตัวละครในเกมดัง Assassin’s Creed ซึ่งมีภาคหนึ่งที่มีฉากหลังเป็นปารีสยุคโบราณ
บุรุษปริศนาคนนี้พาเราเดินทางไปทั่วทุกสถานที่สำคัญในปารีส ไม่ว่าจะเป็นมหาวิหารน็อทร์-ดาม, โรงงานของ Louis Vuitton (หนึ่งในผู้สนับสนุนรายใหญ่ของงาน), พิพิธภัณฑ์ออร์แซ และพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ที่ให้ได้เห็นความงดงามในความเงียบงันของสถานที่ซึ่งปกติไม่เคยว่างเว้นจากผู้คน เพราะสถานที่เหล่านี้คือสิ่งดึงดูดผู้คนให้เดินทางมาเยือนมหานครแห่งนี้เสมอ
แต่หนึ่งในฉากสำคัญของการแสดงคือการเดินทางไปยังโรงละครชาเตอเลต์ แล้วได้เข้าไปอยู่ในฉากสำคัญของการแสดงละครเพลงอมตะ ‘Les Misérables’ จากบทประพันธ์ของ วิกตอร์ อูโก
ฉากดังกล่าวคือฉากที่เรียกว่า ‘À la Volonté du Peuple’ หรือ ‘แด่ความปรารถนาของประชาชน’ (ที่ผู้คนจดจำง่ายกว่าว่า Do You Hear the People Sing?)
การต่อสู้ของปวงชนชาวฝรั่งเศสในฉากนี้คือความตั้งใจของผู้ประพันธ์ ที่ต้องการสื่อถึงสิ่งสำคัญ 3 ประการที่เป็นต้นธารของประเทศฝรั่งเศส ที่หล่อเลี้ยงชนชาตินี้มาจนถึงปัจจุบัน
Liberté เสรีภาพ
Égalité เสมอภาค
Fraternité ภราดรภาพ
โดยที่ทั้ง 3 คำนี้ก็ถูกนำมาใช้ประกอบการแสดงที่มีการแบ่งออกเป็น 12 องก์ด้วย
แน่นอนว่าเมื่อมีฉากดังของละคร เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของชาติย่อมถูกใส่ไว้ในช่วงหนึ่งของการแสดงด้วย นั่นคือเหตุการณ์ประหารชีวิตพระนางมารี อองตัวเนตต์ ด้วยกิโยตินในเหตุการณ์ปฏิวัติครั้งแรก
การแสดงช่วงนี้ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในแง่ของความจริงจังและสร้างสรรค์ เพราะใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบดุเด็ดเผ็ดมันด้วยวงดนตรีเฮฟวีเมทัลชื่อดัง ‘Gojira’ ที่เลือกเอาเพลงปฏิวัติ ‘Ça Ira’ มาปลุกเร้าผู้ชมไม่ให้ง่วงเหงาหาวนอน
เพียงแค่ตอนเปิดช่วงด้วยพระนางมารี อองตัวเนตต์ถือพระเศียรของตัวเอง ก็สร้างความฮือฮาให้แก่ผู้คลั่งไคล้ในประวัติศาสตร์ของชาติฝรั่งเศสแล้ว
การแสดงในช่วงนี้เป็นการบอกเล่าเนื้อแท้และตัวตนอย่างลึกซึ้งที่สุดของฝรั่งเศส ไม่ว่าเธอจะเข้าใจฉันบ้างไหม แต่ฉันเป็นแบบนี้ ฉันถูกสร้างมาแบบนี้ และฉันไม่เคยลืมเรื่องราวในวันนั้น
อย่างไรก็ดี การแสดงนั้นไม่ได้มีแต่ด้านที่ร้อนแรง มีช็อตที่อบอุ่นหัวใจและสร้างรอยยิ้มได้เหมือนกัน
เราได้เห็นการเดินทางของความทรงจำที่สวยงามในอดีต ทั้งฉาก ‘L’Arrivée d’un train en gare de La Ciotat’ ภาพยนตร์เรื่องแรกของของโลกจาก ออกุสต์ และ หลุยส์ หรือพี่น้องลูมิแยร์ ที่เป็นการจุดประกายให้แก่โลกภาพยนตร์
รวมถึงฉากจรวดปักบนหน้าพระจันทร์จากเรื่อง ‘Le Voyage dans la Lune’ หรือการเดินทางสู่ดวงจันทร์ผลงานของ จอร์จ เมลิแยร์ ภาพยนตร์ที่เป็นต้นกำเนิดของการสร้างสเปเชียลเอฟเฟกต์
ต่อด้วย เจ้าชายน้อย ผลงานวรรณกรรมเยาวชนอมตะตลอดกาลของ อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี ที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วโลก
ไปจนถึงรอยยิ้มจากเหล่าสมุนตัวน้อย Minions ที่ออกปฏิบัติภารกิจขโมยภาพโมนาลิซาจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ซึ่งอุตส่าห์ทำได้สำเร็จแล้ว (ตอนชายปริศนาเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ภาพถูกขโมยไปแล้ว) โดยเอามาไว้ในเรือดำน้ำสีเหลืองสดใส ที่เหล่าตัวป่วนน้อยๆ กำลังคึกคักกับการออกกำลังกายเหมือนซ้อมแข่งโอลิมปิกเกมส์ (เข้าธีมเสียด้วย)
แต่ตามประสา Minions สักพักก็ตีกันเองจนเกิดความวายป่วง เรือดำน้ำพัง และภาพโมนาลิซาก็ลอยคืนสู่แม่น้ำแซน รอดพ้นจากการโดนขโมยโดยไม่ต้องมีใครไปทำอะไร
หลายคนอาจงงว่า Minions มาเกี่ยวอะไรด้วย? จริงๆ แล้วคือผู้ออกแบบ Minions ถูกสร้างโดย เอริก กิญง และให้เสียงตลกขบขันที่เป็นส่วนของหลายๆ ภาษาซึ่งมีภาษาฝรั่งเศสด้วย โดย ปิแอร์ กอฟแฟง ก็เรียกว่าพอจะจับเข้ามาอยู่ในการแสดงพิธีเปิดได้อยู่ในฐานะตัวสร้างรอยยิ้มและสีสัน
ปารีสยังมีการแสดงคั่นที่ตอกย้ำความเป็นนครแห่งความรัก ด้วยการแสดงออกถึงความรักและการเปิดกว้างสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ผ่านบรรดานักร้องและนักแสดงที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและเปี่ยมด้วยความสามารถ เช่น อายะ นากามูระ นักร้องสาวเชื้อสายฝรั่งเศส-มาเลเซีย, แดร็กควีนคนดัง Piche ที่ได้ร่วมแสดงด้วย
ทั้งนี้ ก็เพื่อตอกย้ำถึงเรื่องสำคัญของยุคสมัย คือ ความหลากหลาย (Diversité) ปารีสรักทุกคนอย่างเท่าเทียม
แม้กระทั่งในช่วงสุดท้ายของพิธี เราได้เห็น ราฟาเอล นาดาล นักเทนนิสชาวสเปน แต่เป็นที่รักของชาวปารีสในฐานะ ‘ราชาคอร์ตดินแห่งโรลังด์ การ์รอส’ เป็นหนึ่งในผู้เชิญคบเพลิงด้วย แม้จะไม่ใช่ชาวฝรั่งเศสก็ตาม
หรือ เซลีน ดิออน นักร้องชาวแคนาดา แต่ร้องภาษาฝรั่งเศสได้เพราะที่สุดคนหนึ่งของโลก ที่กลับมาร้องเพลงให้ทุกคนฟังเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังป่วยเป็นโรคร้าย ด้วยการร้องเพลง ‘L’Hymne à l’amour’ บนหอไอเฟล ที่เคยเป็นความฝันชั่วชีวิตของเธอ
ความจริงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่เจ้าภาพได้หยิบนั่นนิดนี่หน่อยมาโชว์ของให้โลกได้เห็น (ยังมีการเดินแฟชั่น เรื่องอาหารการกิน ฯลฯ)
สิ่งเหล่านี้ทำให้พิธีเปิดการแข่งขันไม่ได้เป็นเพียงแค่พิธีเปิดการแข่งขันธรรมดาๆ แต่เป็นการโชว์ของดีมีค่าของบ้านตัวเองให้โลกได้รู้ ได้เห็น และได้เข้าใจ
ฝรั่งเศสเป็นแบบนี้ ปารีสเป็นแบบนี้
แล้วเธอล่ะเป็นอย่างไร อยากจะรู้จักฉันเพิ่มบ้างไหม
โดยไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศหรือพูดจาอะไรกันสักคำ
อ้างอิง:
- https://www.lemonde.fr/en/sports/article/2024/07/27/heavy-rain-celine-dion-hooded-torchbearer-diversity-the-key-moments-of-a-memorable-opening-ceremony_6700706_9.html
- https://www.theguardian.com/sport/article/2024/jul/26/celine-dion-salvages-parade-held-thrillingly-hostage-to-its-own-hubris
- https://olympics.com/en/news/paris-2024-olympics-celebrity-highlights-opening-ceremony
- https://www.billboard.com/lists/2024-olympics-opening-ceremony-best-moments/celine-is-back/
ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่
- เว็บไซต์ https://thestandard.co/paris2024/
- Facebook : https://www.facebook.com/thestandardsport
- YouTube : https://www.youtube.com/@TheStandardSport
- TikTok : https://www.tiktok.com/@thestandardsport
- Instagram : https://www.instagram.com/thestandardsport