เชื่อว่าหลายคนยังตื่นตาตื่นใจกับพิธีเปิดการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการ เมื่อคืนวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับการล่องแม่น้ำแซนของเหล่านักกีฬากว่า 200 ประเทศ ผ่านใจกลางกรุงปารีส
ที่แม้ว่าฟ้าฝนจาก Rain on Paris 2024 parade แต่มนตร์ขลังของพิธีเปิดที่ได้รับการคิดและวางแผนมาเป็นอย่างดีก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
จากการที่ผมได้มีโอกาสเป็น 1 ใน 300,000 คนที่รับชมพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์จากริมแม่น้ำแซน จึงอยากแบ่งปันมุมมองของผู้คนจากกรุงปารีสและโอลิมปิกเกมส์ที่มีต่อพิธีเปิดและคอนเซปต์ Games wide open ครั้งนี้
1. พิธีเปิด โอลิมปิกเกมส์ ที่ก้าวออกจากสนามความคิดสู่แม่น้ำแซน
ปกติแล้วสำหรับมหกรรม โอลิมปิกเกมส์ พิธีเปิดการแข่งขันภายในสนามมีหลากหลายกรอบความคิดที่เป็นทั้งโอกาสและกับดักของเจ้าภาพในเวลาเดียวกัน เมื่อคนที่มีหน้าที่ดูแลพิธีเปิดต้องนำสิ่งที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ที่สุดของประเทศมานำเสนอผ่านการแสดงและนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ให้คนภายในสนามกีฬาได้รับชม
แน่นอนว่าเรามีทั้งปักกิ่ง 2008 ที่สร้างความประทับใจได้อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการแสดงจากนักแสดงกว่า 15,000 คน และในช่วงไฮไลต์ที่มีการตีกลองพร้อมกันถึง 2,008 คน
ลอนดอน 2012 ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร มาร่วมการแสดงกับ แดเนียล เคร็ก ที่รับบทเป็น เจมส์ บอนด์ กระโดดร่มชูชีพลงมาสู่พิธีเปิด ที่มี มิสเตอร์บีน หรือ โรวัน แอตคินสัน กำลังแสดงอยู่เช่นเดียวกัน แต่ทั้งหมดนั้นอยู่ในกรอบความคิดที่ว่าทำอย่างไรให้คนในสนามและการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกได้รับความประทับใจไม่แพ้กัน
แต่เมื่อมาถึงปารีส 2024 พวกเขาได้เลือกใช้พิธีเปิดการแข่งขันผ่านแลนด์มาร์กทั้งหมดของกรุงปารีส ด้วยการเล่าเรื่องการเดินทางของประวัติศาสตร์ ศิลปะ การแสดง ภาพยนตร์ และดนตรี บนเส้นเรื่องของแม่น้ำแซนเป็นระยะทางทั้งหมด 6 กิโลเมตร
2. พิธีเปิดแบบใหม่ที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการแข่งขัน
หลายคนมองว่าเจ้าภาพครั้งต่อไปในปี 2028 อย่างลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา จะกังวลหรือกดดันบ้างไหมสำหรับพิธีเปิดการแข่งขัน แต่แท้จริงแล้วสำหรับนวัตกรรมครั้งนี้ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับพิธีเปิดของมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โอลิมปิกเกมส์ทุกสมัยที่ผ่านมา ถ้ามองย้อนประวัติศาสตร์ไปเราจะเห็นนวัตกรรมที่เจ้าภาพแต่ละสมัยนำเข้ามาใช้
ไม่ว่าจะเป็นสตอกโฮล์ม 1912 ที่เริ่มต้นใช้โปสเตอร์การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรก
โตเกียว 1964 ที่เอา Pictogram เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในโอลิมปิกเกมส์อย่างเป็นทางการ
เม็กซิโก 1968 ที่สร้างสิ่งที่เรียกว่า Look of the Games หรือธีมสี การออกแบบสำหรับการแข่งขัน
ลอสแอนเจลิส 1984 เริ่มใช้ระบบเอกชนลงทุน จนกลายเป็นโอลิมปิกเกมส์สมัยแรกที่งบลงทุนการแข่งขันเหลือกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มาจนถึงปารีส ที่ย้อนไปเมื่อปี 1900 และ 1924 พวกเขาได้เป็นทั้งเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์สมัยแรกที่มีผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขัน และเปิดใช้หมู่บ้านนักกีฬา
ซึ่งจากที่เราได้สำรวจปารีส 2024 มาจนถึงตอนนี้ ก็เห็นได้ว่าสิ่งที่พวกเขานำเสนอคือการเอานวัตกรรมในอดีตมาปัดฝุ่นใหม่และต่อยอดด้วยการออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาเอง
ดังนั้นพิธีเปิดการแข่งขันนอกสนามกีฬาก็จะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เจ้าภาพในอนาคตสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม สำหรับการนำเสนอเรื่องราวของเมืองและประเทศของตัวเอง
3. Games wide open เมื่อโอลิมปิกเกมส์กลับสู่สถานะที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง
จากปักกิ่ง 2008 ต้องยอมรับว่านั่นอาจจะเป็นครั้งสุดท้ายที่โอลิมปิกเกมส์นำเสนอความอลังการ ด้วยเจ้าภาพที่ต้องการแสดงศักยภาพของประเทศ
แต่เมื่อมาถึงลอนดอน 2012 แม้ว่าจะจัดพิธีเปิดออกมาได้อย่างดีในรูปแบบของตัวเอง แต่ก็ลดความอลังการลง
ต่อที่รีโอเดจาเนโร 2016 ก็สามารถทำได้ดีในช่วงพิธีเปิดและพิธีปิด ที่โตเกียว 2020 รับไม้ต่อได้อย่างยิ่งใหญ่
แต่ทั้งหมดที่ผ่านมา โอลิมปิกเกมส์ถูกตั้งคำถามต่อเนื่องว่ายังคงความยิ่งใหญ่เหมือนกับในอดีตหรือไม่ เมื่อเราพบเห็นสิ่งที่เจ้าภาพลงทุนสร้าง ทั้งสนามกีฬาและอาคารต่างๆ ถูกทิ้งร้างและไม่ได้ใช้งานอย่างที่ตั้งเป้าไว้
จนถึงคำถามที่ว่าทำไมหลายประเทศหันหน้าหนีโอลิมปิกเกมส์ เพราะมองว่าการลงทุนสร้างสนามใหม่และการลงทุนเป็นเจ้าภาพเริ่มไม่ตอบโจทย์
แต่เมื่อปารีส 2024 ได้เปิดตัวผ่านแนวคิดที่ว่า Games wide open หรือ เกมที่เปิดกว้าง นี่ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ว่าเป็นเกมที่จะเปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม แต่เป็นการดึงเอาเกมและเมืองเข้ามาผสมเป็นส่วนเดียวกัน ด้วยการใช้แลนด์มาร์กและนวัตกรรมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เช่นเดียวกับสนามกีฬาที่ครั้งนี้กว่า 95% ใช้สนามหรืออาคารเดิมที่มีอยู่ เพื่อประหยัดงบในการจัดการแข่งขัน ซึ่งส่งผลให้ปารีส 2024 จากงบประมาณที่ประกาศออกมาที่ เกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าโอลิมปิกเกมส์หลายสมัยที่ผ่านมา ทั้งรีโอเดจาเนโร 2016 ที่ใช้ไป 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ, โตเกียว 2020 ที่ใช้ไป 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด
4. เส้นทางต่อจากแม่น้ำแซนของปารีส 2024
พิธีเปิดเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นสำหรับโอลิมปิกเกมส์ ต่อจากนี้จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนจะเข้าสู่การแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์
จากนี้บทสนทนาถึง Look of the Games, โปสเตอร์, พิธีเปิด, Pictogram และนวัตกรรมต่างๆ จะลดลง และไปโฟกัสที่การแข่งขันและเรื่องราวความประทับใจที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกสนามกีฬา
ต้องมาดูต่อไปว่ากรุงปารีสในฐานะเจ้าภาพจะบริหารจัดการการแข่งขันต่อจากนี้ได้ดีเทียบเท่ากับพิธีเปิดและผลงานที่ผ่านมาหรือไม่ THE STANDARD SPORT จะเกาะติดและรายงานบรรยากาศอย่างต่อเนื่องให้กับแฟนเพจได้ติดตามกัน
ระหว่างนี้ขอให้ทุกคนสนุกไปกับมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีเพียง 4 ปีครั้ง
Let the games begin! And enjoy the show