×

สายสุนีย์ จ๊ะนะ อัศวินหญิงผู้ยิ่งใหญ่ กับเหรียญทองพาราลิมปิกในวัย 50 ปี

04.09.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • สายสุนีย์ในวัย 17 ปี ต้องกลายเป็นคนพิการจากการประสบอุบัติเหตุถูกรถชนขณะที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของญาติเพื่อไปทำงาน เคยท้อแท้จนคิดถึงการไปจากโลกนี้เลยทีเดียว
  • ชีวิตของเธอพลิกผันอีกครั้งเมื่อได้รับโอกาสให้ลองเล่นกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ​ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการเปิดอบรมกีฬาชนิดนี้ เพื่อคัดตัวนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคนแรกของไทยที่จะเข้าแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ในปี 1999
  • เธอเลือกมาทางสายฟันดาบแทน ทั้งๆ ที่ความรู้สึกแรกของเธอไม่ชอบกีฬาชนิดนี้เลย แต่เชื่อในคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่แนะว่า สำหรับเธอกีฬาประเภทบุคคลอาจทำให้เธอไปได้ไกลกว่า เพราะทุกอย่างเธอเป็นคนกำหนดเอง
  • ในปารีส 2024 สายสุนีย์คว้าเหรียญทองได้สำเร็จอีกครั้ง เป็นเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ที่ 3 ของเธอแล้ว และเป็นครั้งแรกที่เธอได้จากการแข่งในประเภทเซเบอร์

จากชีวิตของคนปกติ แต่อุบัติเหตุแทบจะพรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากเธอ จนถึงขั้นเคยคิดสั้นอยากจะจากโลกนี้ไปให้รู้แล้วรู้รอด

 

วันนี้ แวว-สายสุนีย์ จ๊ะนะ คว้าเหรียญทองในการแข่งขันวีลแชร์ฟันดาบเซเบอร์หญิง คลาส B พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการกลับมาคว้าเหรียญทองอีกครั้งในวัย 50 ปี

 

สาวเชียงใหม่คนนี้ผ่านทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตและยืนหยัดจนถึงวันนี้ได้อย่างไร?

 

นี่คืออีกหนึ่งในเรื่องราวการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งที่เราเรียนรู้จากเธอได้ครับ

 

ย้อนกลับไปในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศฟันดาบเซเบอร์ คลาส B ที่กรองด์ ปาเลส์ สนามกีฬาที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 

 

เพราะความเก่งกาจที่ใกล้เคียงกันทำให้การดวลกันระหว่าง สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬามือ 4 ของไทย กับ เสี่ยวหรง มือ 3 คู่แข่งจากจีน จำเป็นต้องตัดสินกันถึงฎีกาในคะแนนสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้เสมอกันอย่างสุดเดือด 14-14

 

ปรากฏว่าแต้มสุดท้ายต้องตัดสินกันถึงการรีวิวทางวิดีโอเลยทีเดียว

 

ท้ายที่สุดกรรมการให้แต้มตัดสินแก่ แวว สายสุนีย์ อัศวินวีลแชร์ฟันดาบหญิงของไทยคว้าชัยชนะอันยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ สร้างประวัติศาสตร์การกลับมาคว้าเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี หลังจากที่เคยทำได้ครั้งล่าสุดในการแข่งขันลอนดอน 2012

 

เพียงแต่กว่าที่เธอจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ สายสุนีย์เคยคิดว่าเธอสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดแล้ว

 

 

ภาพของความสิ้นหวัง

 

ภาพของเธอในชุดนักกีฬาฟันดาบที่ชวนให้รู้สึกเหมือนได้เห็นอัศวินในยุคกลาง มือถือกระบี่ไว้ฟาดฟันคู่ต่อสู้นั้น ข้างหลังภาพเต็มไปด้วยความเจ็บปวด

 

สายสุนีย์ในวัย 17 ปี ต้องกลายเป็นคนพิการจากการประสบอุบัติเหตุถูกรถชนขณะที่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของญาติเพื่อไปทำงาน โดยที่จับตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ด้วย ขณะที่อาการของเธอสาหัส กระดูกทิ่มเส้นประสาท

 

นั่นหมายถึงการที่เธอจะไม่เหมือนเดิมอีกเลยตลอดกาล จากที่เคยแข็งแรงคล่องแคล่วก็กลายเป็นอัมพาต เคลื่อนไหวไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งเธอได้รู้ชะตาชีวิตของตัวเองหลังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานร่วมเดือน

 

ชีวิตที่เปลี่ยนไปชั่วข้ามคืน ความฝันของเธอที่เคยอยากเป็นคุณครูแตกสลาย และคุณค่าของชีวิตจากคนที่ตั้งใจจะเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัว กลายเป็นภาระของครอบครัวโดยไม่ตั้งใจ

 

ความคิดเหล่านี้ทำให้สายสุนีย์เคยท้อแท้จนคิดถึงการไปจากโลกนี้เลยทีเดียว

 

“ยอมรับว่าเคยคิดสั้นฆ่าตัวตายมาแล้ว เพราะเราไม่เหลืออะไรเลย” สายสุนีย์ให้สัมภาษณ์กับ Stadium TH

 

แต่ด้วยความรักและการโอบกอดจากครอบครัว ทำให้เธอค่อยๆ กลับมาได้อีกครั้ง แม้ว่าจะต้องใช้ความพยายามอย่างมากมายมหาศาลก็ตาม

 

 

ชีวิตเลือกเป็นไม่ได้ แต่เลือกเส้นทางได้

 

เป็นเวลาถึง 5 ปีกว่าที่สายสุนีย์จะทำใจยอมรับกับชีวิตที่ไม่ได้เลือก แต่เธอตัดสินใจเลือกชีวิตหลังจากนี้ด้วยตัวและหัวใจของเธอเอง

 

จุดเปลี่ยนแปลงของชีวิตเกิดจากการที่เธอค้นพบโลกใบใหม่ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝนในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ซึ่งทำให้เธอได้พบกับสิ่งที่เธอตามหามาตลอดนั่นคือ ‘ความหวัง’ ที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ตัวเองมีคุณค่า เพราะที่นี่คือโลกของคนที่ไม่ยอมแพ้และยิ้มสู้กับชีวิตต่อไป ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม

 

สายสุนีย์เขียนจดหมายน้อยส่งถึงศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อขอ ‘โอกาส’ ที่เธอจะได้เริ่มต้นใหม่ที่นี่

 

ผลปรากฏว่าความเรียงในใจของเธอชนะใจกรรมการ เธอได้โอกาสเข้ามาอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้ ซึ่งนอกจากวิชาชีพแล้ว อีกสิ่งที่เธอค้นพบคือมีกีฬาที่เธอสามารถเล่นได้ด้วย

 

 

แววของแวว

 

สายสุนีย์เริ่มจากการเล่นวีลแชร์บาสเกตบอลก่อน ซึ่งเธอค้นพบว่าเธอมีพรสวรรค์ด้านกีฬา เรียกว่าฝีไม้ลายมือไม่เบาขนาดที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนเขตให้ไปแข่งขันที่กรุงเทพมหานครเลยทีเดียว

 

แต่หลังจากนั้นชีวิตของเธอพลิกผันอีกครั้งเมื่อได้โอกาสให้ลองเล่นกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ​ ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีการเปิดอบรมกีฬาชนิดนี้ เพื่อคัดตัวนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคนแรกของไทยเข้าแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ในปี 1999 ที่จะจัดการแข่งขันกีฬาชนิดนี้เป็นครั้งแรก

 

ปรากฏว่า ‘แวว’ ฉายแววได้อย่างโดดเด่นเข้าตาโค้ชจากต่างประเทศที่มาจับตามอง ตลอดช่วงเวลา 7 วันของการอบรม

 

“เด็กคนนี้จะเป็นแชมป์โลก” โค้ชที่มาดูฟอร์มของเธอบอกไว้ในครั้งนั้น

 

และมันไม่ได้ผิดไปจากความจริงเลย

 

 

เปิดตำนานอัศวินฟันดาบบนม้าเหล็ก

 

ความจริงสายสุนีย์มีโอกาสเลือกได้ที่จะแข่งขันทั้งวีลแชร์บาสเกตบอลและวีลแชร์ฟันดาบ เพราะตัวเลือกในขณะนั้นมีไม่มาก

 

แต่สุดท้ายเธอเลือกมาทางสายฟันดาบแทน ทั้งๆ ที่ความรู้สึกแรกของเธอไม่ชอบกีฬาชนิดนี้เลย 

 

แต่เพราะเชื่อในคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่แนะว่า สำหรับเธอกีฬาประเภทบุคคลอาจทำให้เธอไปได้ไกลกว่า เพราะทุกอย่างเธอเป็นคนกำหนดเอง

 

เมื่อเลือกแล้วก็ต้องสู้ 

 

ถึงสายสุนีย์จะฝึกฝนหนักแค่ไหน เธอก็ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เพราะเธอยังมีคะแนนสะสมไม่ถึง

 

แต่เธอพร้อมจะรอและใช้ช่วงเวลาเหล่านั้นฝึกฝนตัวเองอย่างหนัก ความมุ่งมั่นทำให้นอกจากเธอจะได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 2004 ที่เมืองเอเธนส์แล้ว เธอยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินให้เดินทางไปแข่งขันด้วย (เพราะถ้าไม่มีเงินสนับสนุน การไปแข่งจะลำบากอย่างยิ่ง)

 

สุดท้ายสาวเชียงใหม่ในวัย 30 ปีขณะนั้นเปิดตำนานของตัวเองด้วยการคว้าเหรียญทองในการแข่งครั้งนั้นได้สำเร็จ กลายเป็นเจ้าของเหรียญทองพาราลิมปิกหญิงคนแรกของไทย และกลายเป็น ‘แชมป์โลก’ อย่างที่มีคนทำนายไว้จริงๆ

 

 

ไอคอน-สยาม

 

นับจากนั้นเป็นต้นมา สายสุนีย์ไม่ได้เป็นแค่นักกีฬาธรรมดา แต่เป็นความหวังของชาติที่ค่อยๆ สั่งสมเรื่องราวประสบการณ์จนกลายเป็นนักกีฬาในระดับ ‘ไอคอน’ ของวงการ

 

ในรายการใหญ่ระดับพาราลิมปิก เธอเก็บเหรียญกลับมาได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเหรียญทองแดงในปักกิ่ง 2008, เหรียญทองในลอนดอน 2012 จนถึงเหรียญเงินในรีโอ 2016 และครั้งก่อนหน้ากับเหรียญทองแดงในโตเกียว 2020

 

เรียกว่าเป็นอัศวินที่ลงทำศึกที่ไหนก็คว้าชัยชนะมาฝากคนไทยได้เสมอ

 

รวมถึงในปารีส 2024 เธอเป็นฝ่ายตามหลังคู่แข่งจากจีนแทบจะตลอดทั้งแมตช์ ไม่ต่างจาก วิเวียน กง เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกจากฮ่องกงที่ตามหลังคู่แข่งตลอด 5-6 แต้ม ในการแข่งรอบชิงฯ 

 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว สายสุนีย์-วิเวียน มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ ทั้งคู่พลิกสถานการณ์ท้ายเกมกลับมาเอาชนะและคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ นี่เป็นเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ที่ 3 ของสายสุนีย์แล้ว และเป็นครั้งแรกที่เธอได้จากการแข่งในประเภทเซเบอร์ 

 

ทั้งๆ ที่ด้วยวัย 50 ปีของเธอ หากอยากจะพักก็น่าจะถึงเวลาแล้ว เพียงแต่สิ่งที่ทำให้สายสุนีย์ยืนหยัดตรงนี้ไม่ไปไหนคือครอบครัวที่เธอจะไม่ยอมให้ชีวิตของทุกคนลำบาก รวมถึง ฤทัย ลูกสาวผู้เป็นแก้วตาดวงใจที่กำลังน่ารัก

 

ชัยชนะในการแข่งขันจึงไม่เป็นแค่ชัยชนะในการแข่งขัน ไม่ได้เป็นชัยชนะของเธอแค่คนเดียว แต่เป็นชัยชนะของครอบครัวที่จะได้สุขสบายไปด้วยกัน

 

นั่นทำให้เธอซ้อมหนักสัปดาห์ละ 6 วัน แม้ว่าจะเคยเหนื่อย เคยท้อแค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อลงสนามแล้วยังรู้สึกดีกับชัยชนะอยู่ ทำให้เธอยังไม่คิดที่จะหยุดแค่ตอนนี้ และคิดว่าจะยืนหยัดต่อไปจนกว่าร่างกายและจิตใจของเธอจะไม่ไหว

 

ปารีส 2024 ยังไม่ใช่การลงทำศึกครั้งสุดท้ายของอัศวินสาวบนม้าเหล็กผู้นี้

 

คนที่เป็นตัวแทนของการไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และลิขิตทุกอย่างขึ้นมาใหม่ด้วยสองมือและหัวใจหนึ่งดวงของตัวเอง

 


 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X