×

Paris is Burning ภาพยนตร์สารคดี LGBT ที่จุดประกายความหวัง ต้นทางของซีรีส์ดังเรื่อง Pose

01.03.2019
  • LOADING...
Paris is Burning

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ภาพยนตร์ Paris is Burning (1990) ที่เกี่ยวกับเรื่องจริงของ Ball Culture หรืองานบอลของชุมชน LGBT ในนิวยอร์กยุค 80s ภาพยนตร์สารคดีเจ้าของรางวัล Grand Jury Prize Documentary จากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปี 1991
  • สารคดีเล่าถึงความเป็นมาของชีวิตเกย์แต่ละคนที่เข้ามาสู่การประกวดในงานบอล ซึ่งกว่าพวกเขาจะมาถึงจุดนี้ก็ต้องผ่านเรื่องราวที่หนักหนา อดทนกับการดูถูก การที่สังคมไม่ยอมรับ รวมทั้งการถูกตัดขาดจากครอบครัว
  • การได้รับรางวัลจากงานบอลจะทำให้พวกเขายกระดับชีวิตขึ้นมา กลายเป็นที่จับตามอง มีชื่อเสียง มีรายได้ สำหรับรางวัลสูงสุดในการเป็นผู้ชนะของงานบอลก็เปรียบเสมือนการได้รับรางวัลใหญ่ในงานออสการ์อย่างไรอย่างนั้น

 

Paris is Burning

 

“การได้รับเสียงปรบมือหรือคำชื่นชมให้ความรู้สึกเหมือนเคลิ้มยา ดีตรงที่เราไม่ต้องทำร้ายตัวเอง ถ้าทุกคนมางานบอลและเสพยาน้อยลง โลกคงจะเข้าท่ากว่านี้” – ดอเรียน คอรีย์

 

นอกจาก Pose ซีรีส์ดราม่ามิวสิคัลที่พาย้อนกลับไปมหานครนิวยอร์กในช่วงปี 1987 ที่กลุ่ม LGBTQ ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคม น่าสนใจว่าต้นทางของเรื่องราวสามารถสืบย้อนไปได้ถึงภาพยนตร์สารคดี Paris is Burning (1990) ที่เกี่ยวกับเรื่องจริงของ Ball Culture หรืองานบอลของชุมชน LGBTQ ในนิวยอร์กยุค 80s เจ้าของรางวัล Grand Jury Prize Documentary จากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปี 1991

 

Paris is Burning

 

จุดเริ่มต้นของ Paris is Burning เกิดขึ้นในปี 1983 เมื่อ เจนนี่ ลิฟวิงสตัน นักศึกษาด้านภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยเยล ได้พบกับกลุ่มเกย์ที่กำลังเต้นรำในจัตุรัสสวนสาธารณะวอชิงตัน มหานครนิวยอร์ก ทำให้เธอเข้าไปพูดคุยจนได้รู้จักกลุ่มวัฒนธรรมย่อย LGBTQ และกลายมาเป็นภาพยนตร์สารคดีที่เธอใช้เวลาหลายปีในการถ่ายทำ

 

Paris is Burning ปล่อยออกมาในปี 1990 ภายใต้สังกัดยักษ์ใหญ่อย่าง Miramax เนื้อหาของภาพยนตร์เล่าเรื่องจริงของการประกวดงานบอลในนิวยอร์กเมื่อปี 1987 ซึ่งงานนี้เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมของกลุ่มเกย์ในนิวยอร์ก ทั้งคนแอฟริกัน-อเมริกันผิวสี ชาวละติน และคนข้ามเพศ สารคดีเล่าถึงความเป็นมาของชีวิตเกย์แต่ละคนที่เข้ามาสู่การประกวดในงานบอลนี้ ซึ่งกว่าพวกเขาจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องผ่านเรื่องราวที่หนักหนา อดทนกับการดูถูก การที่สังคมไม่ยอมรับ รวมทั้งการถูกตัดขาดจากครอบครัว

 

จุดเริ่มต้นของงานบอลคือเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับชุมชน LGBTQ ที่แต่งตัวมาร่วมงานด้วยความคิดที่อยากเป็นเหมือนนักเต้นคาบาเรต์ แต่พอย่างเข้ายุค 70s ก็เริ่มพัฒนาให้คล้ายนักแสดง และปรับให้มีหมวดหมู่ในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคนอื่นๆ ที่อาจจะแต่งหญิงไม่ได้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงานบอลมากขึ้น

 

ในงานบอลมีการแข่งขันหลากหลายรูปแบบ เช่น การออกแบบเครื่องแต่งกาย การแบ่งกลุ่มเพื่อเดิน เต้นรำ โพส และโว้ก โดยมีจุดหมายที่ปลายรันเวย์คือถ้วยรางวัล ซึ่งหากมองในอีกมุมหนึ่งมันก็ไม่ต่างจากโลกของผู้ชายที่เฝ้าดูการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์สำคัญ มันคือโลกที่ทำให้เราเข้าใกล้ความเป็นจริง ทั้งชื่อเสียง ความร่ำรวย การเป็นคนดัง และได้โชว์ศักยภาพของตัวเองในการเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น

 

ศูนย์กลางของแต่ละกลุ่ม (House) ก็คือแม่ ซึ่งจะมีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่การหาที่พักอาศัย ดูแลเรื่องอาหาร การศึกษา ระเบียบวินัย และให้การสนับสนุนด้านจิตใจ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กๆ ในบ้านจะปรากฏตัวในงานบอลได้อย่างไม่มีข้อบกพร่อง ซึ่งบ้านที่เป็นตำนานงานบอลและปรากฏในภาพยนตร์ Paris is Burning ก็คือ House of LaBeija นำทีมโดยคุณแม่ลาไบจา หรือเปปเปอร์ ลาไบจา ซึ่งเธอได้กล่าวไว้ในภาพยนตร์ว่า “บ้านลาไบจาคือตำนาน เราอยู่เหนือบ้านทั้งปวง ฉันมีสมาชิกเยอะที่สุด  โด่งดังที่สุด และเริดเชิดที่สุด”

 

Paris is Burning

 

“เมื่อเด็กๆ ถูกปฏิเสธจากครอบครัว เขาจะออกตามหาใครบางคนที่มาเติมเต็มช่องว่าง นั่นทำให้เด็กๆ มาหาฉัน” เปปเปอร์ ลาไบจา เป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลในงานบอล ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ เธอก็คล้ายๆ กับ อีเล็กตรา จากซีรีส์ Pose ที่ต้องคอยดูแลเด็กๆ ที่ทั้งถูกทอดทิ้งหรือโดนไล่ออกจากบ้าน  

 

“การที่เราต้องมีหน้าที่คุณแม่ในงานบอลก็เพราะเด็กๆ ต้องการคนที่คอยรับฟัง คอยดูแล นั่นเพราะพ่อแม่ตัวจริงจะทำให้พวกเขาลำบากใจ” คุณแม่ประจำบ้านลาไบจากล่าว

 

Paris is Burning

 

“การกระทำของพวกเราไม่ใช่การเลียนแบบหรือล้อเลียน แต่นี่คือการสวมบทบาทให้เหมือนจริงมากที่สุดทั้งเสื้อผ้าและท่าทางที่ควรจะเป็น” – ดอเรียน คอรีย์

 

ตัดกลับไปที่ซีรีส์ Pose เราจะเห็นว่าการแข่งขันแต่ละครั้ง แต่ละบ้านจะเป็นผู้ส่งสมาชิกเข้าประกวด ซึ่งเรียกได้ว่าถอดแบบมาจากภาพยนตร์ Paris is Burning ก็ว่าได้ แต่ที่น่าเศร้าก็คือความจริงที่ว่าเด็กหลายคนไม่มีที่อยู่ ไม่มีอาหารจะกิน แต่เมื่ออยากมาร่วมงานบอล พวกเขาจึงต้องขโมยของเพื่อเติมเต็มความต้องการของชีวิต

 

และเพราะการได้รับรางวัลจากงานบอลจะทำให้พวกเขายกระดับชีวิตขึ้นมา กลายเป็นที่จับตามอง มีชื่อเสียง มีรายได้ สำหรับรางวัลสูงสุดในการเป็นผู้ชนะของงานบอลก็เปรียบเสมือนการได้รับรางวัลใหญ่ในงานออสการ์อย่างไรอย่างนั้น

 

Paris is Burning

 

ในภาพยนตร์ Paris is Burning มีการพูดถึง shade ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินกันอยู่แล้ว shade หรือการจิกกัด เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่พูดถึงในภาพยนตร์เรื่องนี้ จุดเริ่มต้นมาจากการล้อเลียนกัน ข้อดีของการล้อเลียนอยู่ตรงที่พวกเราเท่าเทียมกัน เป็นเกย์เหมือนกัน เป็นกะเทยผิวสีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถมาพูดเรื่องจริงที่เหมือนกันได้ จึงต้องใช้การล้อเลียนรูปลักษณ์ภายนอกทั้งหน้าตาและเสื้อผ้าที่สวมใส่ บ้างก็จะหยิบข้อดีของตัวเองขึ้นมา และจากการล้อเลียนก็ได้พัฒนาเป็นการ shade

 

“ฉันคงไม่ต้องบอกหรอกว่าเธอน่าเกลียด เพราะเธอน่าจะรู้ตัวอยู่แล้วว่าเธอน่าเกลียด นี่แหละคือการ shade” – ดอเรียน คอรีย์

 

Paris is Burning

 

ส่วนอีกหนึ่งสิ่งคือ voguing ที่กลุ่มแดร็กใช้เรียกการเต้น ซึ่งต้นฉบับของคำนี้มาจากชื่อนิตยสาร Vogue นั่นเอง ซึ่งการเต้นแบบ vouging จะใช้ท่าทางการโพสของนางแบบในนิตยสารมาดัดแปลงเป็นท่าเต้น เหมือนเป็นการโพสอย่างต่อเนื่อง และใส่จังหวะเพื่อให้การโพสนั้นเลื่อนไหลจนกลายเป็นท่าเต้น หรือบางทีก็หยิบเอาท่าจากกีฬายิมนาสติกและภาพวาดอียิปต์โบราณมาประยุกต์ให้ดูแปลกตา แต่หลักๆ จุดประสงค์ของมันก็คือการ shade แบบใช้กำลังในการเต้นมาเป็นตัวชี้วัดว่าใครทำได้ดีกว่ากันและได้รับชัยชนะไป

 

ในภาพยนตร์ Paris is Burning ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่พวกเขาต้องพบเจอ ต้องต่อสู้ และยาวไปจนถึงช่วงที่พวกเขาประสบความสำเร็จ ถ้าหากคุณกำลังเริ่มต้นทำความเข้าใจชุมชน LGBTQ ในนิวยอร์ก ขอแนะนำให้เริ่มต้นจากซีรีส์เรื่อง Pose ก่อนที่จะเสิร์ชหา Paris is Burning เพราะเมื่อดูจบ คุณจะกลับไปชื่นชม Pose ว่าทำออกมาได้ดี เพราะเพิ่มประเด็นจนสนุกและน่าสนใจเหลือเกิน

 

ขณะที่ภาพยนตร์ Paris is Burning ถ่ายทอดชีวิตจริงของกลุ่ม LGBTQ และฉายให้เห็นภาพของงานบอลเป็นหลัก แต่สำหรับซีรีส์ Pose มันคือเรื่องราวที่เน้นให้ความหวังและส่องให้เห็นศรัทธาของกลุ่ม LGBTQ ที่ยังมีวันพรุ่งนี้รออยู่เสมอ

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ Paris is Burning

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • เพลง Vogue ของมาดอนน่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเต้น voguing ของนักเต้นจากบ้าน Xtravaganza (อ้างอิง: www.songfacts.com/facts/madonna/vogue)
  • เทียบได้รายการ RuPaul’s Drag Race ที่ให้เหล่าผู้เข้าแข่งขันโชว์ศักยภาพมากมายทั้งการ shade, voguing (Lip sync for your life) หรือทำชุดตามหมวดหมู่ที่กำหนด เรียกว่ารายการนี้เป็นงานบอลย่อมๆ เลยก็ว่าได้
  • ภาพยนตร์ Paris is Burning และซีรีส์ Pose สามารถรับชมได้ทาง Netflix

 

Paris is Burning

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X