วันนี้ (14 ตุลาคม) ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการดำเนินงานของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ต่อกรณี พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หลังศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับในคดีสลายการชุมนุมที่ตากใบใกล้จะหมดอายุความว่า เหตุการณ์ที่ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 เป็นการเสียชีวิตของประชาชนจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่ควรเกิดอีก เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนถูกลงโทษแต่ประการใด
แม้มีการให้เงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บสาหัส แต่ความยุติธรรมของผู้เสียหายทั้ง 85 ชีวิตที่ทวงถามมา 20 ปี เรื่องนี้รัฐบาลจะต้องแสดงออกอะไรบางอย่าง เพราะหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของรัฐบาล จึงต้องกำชับเรื่องนี้เพราะเหลือเวลาอีกประมาณ 10 วันเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ได้ตามความคาดหมายของประชาชนหรือไม่
ปริญญากล่าวอีกว่า การขึ้นศาลอาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวของ พล.อ. พิศาล แต่หน้าที่ของรัฐบาลซึ่งมีอำนาจในการสั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใคร เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนทำให้มีผู้เสียชีวิตนั้น รถคันแรกซึ่งขนมวลชนมาก็เห็นแล้วว่ามีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น แต่จนกระทั่งคันสุดท้ายในการขนมวลชนกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดผู้กระทำได้
ปริญญากล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นผู้บัญชา พึงกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการออกหมายแดง ประสานงานกับตำรวจประเทศอื่น ใน 10 วันนี้ถ้าหากรัฐบาลไม่ทำอะไรออกมาตามที่ควรจะเป็นตามความคาดหวังของประชาชน หลังวันที่ 25 ตุลาคมนี้จะเป็นเรื่องที่กระทบกับรัฐบาลได้ เพราะปล่อยให้อายุความขาดไปโดยไม่ทำอะไร จะจับตัวได้หรือไม่ เอามาขึ้นศาลได้หรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่รัฐบาลต้องแสดงออกว่าได้กระทำเต็มที่แล้ว หาไม่แล้วเรื่องนี้จะถูกมองทันที และจะนำไปโยงกับกรณีของ ทักษิณ ชินวัตร ด้วย ว่ามีเจตนาในการช่วยเหลือลูกน้องหรือช่วยเพื่อนหรือไม่ ดังนั้นควรแสดงออกว่ารัฐบาลดำเนินการในสิ่งที่ควรกระทำแล้ว
เมื่อถามว่า สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การกระทำของ พล.อ. พิศาล เป็นความผิดส่วนตัวนั้น ปริญญากล่าวว่า เรื่องข้อหาและต้องขึ้นศาลนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เนื่องจาก พล.อ. พิศาล เป็น สส. บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทางพรรคควรมีการตอบคำถามว่าจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรครัฐบาลและอยู่ในช่วงของการสร้างผลงาน หลายเรื่องก็เห็นผลงานขึ้นมา
ส่วนท่าทีหรือการดำเนินการของรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยที่ยังไม่มีความชัดเจน ปริญญาระบุว่า อาจมองว่าเท่ากับเป็นการช่วยเหลือได้ และนายกรัฐมนตรีอาจถูกมองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้
ขณะนี้คะแนนนิยมของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีก็ดีขึ้น ถ้าเรื่องนี้ไม่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาจะถูกมองทันทีว่าเป็นการช่วยผู้ต้องหา ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีของรัฐบาล จริงๆ ระยะเวลาที่เหลืออยู่ 10 วันนั้นเป็นเรื่องยากที่จะได้ตัวมาขึ้นศาล แต่สิ่งที่คนรอดูมากกว่าคือท่าทีของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะต้องรอดูในวันที่ 15 ตุลาคม ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีมติอย่างไร ทั้งนี้ พล.อ. พิศาล คงยากที่จะกลับมาทำงานทางการเมืองแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่พรรคจะต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร
เมื่อถามว่าในทางกฎหมาย พอจะมีทางที่จะยืดอายุความออกไปได้อีกหรือไม่ ปริญญากล่าวว่า กฎหมายอาญาของไทยคดีที่ทำให้มีคนเสียชีวิตจะมีอายุความ 20 ปี และจะขาดอายุความเมื่อ 1. ไม่ได้มีการฟ้องต่อศาล แต่ตอนนี้ศาลรับฟ้องแล้ว และ 2. การเอาตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยขึ้นศาล ซึ่งส่วนนี้มีการหลบหนี ทำให้ในทางกฎหมายอาญาเท่ากับขาดอายุความ