วันนี้ (13 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า เขาสนฟาร์มหรือฟาร์มไก่ของตนในพื้นที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี มีสถานะเป็นป่า โดยมีการระบุว่ายังไม่เพิกถอนสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติจนกว่าจะจัดสรรกระจายสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. แล้วเสร็จ และมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่ายังไม่ใช่การตัดสินของศาลฎีกา เป็นเพียงการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตนยืนยันว่าจะสู้คดีจนถึงที่สุด และยืนยันว่าไม่ได้บุกรุกป่าร้อยเปอร์เซ็นต์ คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษาทางกฎหมายของรัฐบาล ไม่ได้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกัน ตนมีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งและต่อสู้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนจะสละเอกสิทธิ์และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับสภา ตนเองไม่มีปัญหาอะไร และยังไม่รู้ว่าจะถูกดำเนินคดีอะไรบ้าง เพราะทางกรมป่าไม้และ ส.ป.ก. ยังไม่มีหนังสือส่งถึงตนให้ไปชี้แจง
ส่วนที่คณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่าทั้งกรมป่าไม้และ ส.ป.ก. สามารถดำเนินคดีกับตนได้นั้นเป็นความเห็นของที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายรัฐบาล เพราะยังไม่ทราบว่าทั้ง ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ ใครจะเป็นคนดำเนินคดี ซึ่งก็เป็นเพียงคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น ส่วนหากเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. และเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้นัดนำชี้พื้นที่พร้อมไปหรือไม่นั้น ปารีณากล่าวว่าตามที่อธิบดีกรมป่าไม้เคยชี้แจงไปก่อนหน้านี้ว่าพื้นที่ 1,700 ไร่อยู่ตรงไหนบ้าง อธิบดีก็บอกว่าไม่แน่ใจ แต่จะดูจากร่องรอย และเป็นสิทธิของตน ไม่สามารถไปบีบบังคับได้
อย่างไรก็ตาม ปารีณายืนยันว่าจะไม่ใช้เส้นสายของรัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐเพื่อช่วยให้หน่วยงานรัฐไม่ดำเนินคดีกับตนเองอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาล้วนเป็นคำกล่าวหาจากสังคมและสื่อมวลชนบางฝ่าย ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง
“ทุกคนก็เห็นว่าดิฉันถูกปฏิบัติเกินกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ชาวบ้านประกาศให้ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน แต่ของดิฉันถูกประกาศให้ออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน ถูกกระทำเยอะมาก หรือเพราะว่าดิฉันชื่อปารีณาหรือไม่ ทุกคนจึงมาทำแบบนี้” ปารีณากล่าว
ส่วนที่จะมีการดำเนินคดีเพิ่มเติมนั้น ปารีณากล่าวว่าตนยังไม่เห็นข้อกล่าวหาที่ชัดเจน ให้แจ้งข้อกล่าวหามาก่อน แต่ตนจะปกป้องตัวเอง ก่อนหน้านี้มีฝ่ายตรงข้ามออกมาโจมตี นำคดีมาเทียบเคียง ถ้าใครพูดอะไรก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองพูด จะไม่ปล่อยให้มีการกระทำเหมือนที่ผ่านมา
ด้าน ทศพล เพ็งส้ม ในฐานะทนายความ กล่าวว่าตนพยายามตรวจสอบทุกพื้นที่ที่มีการออก พ.ร.ก. ปฏิรูปที่ดินว่ามีการดำเนินการของ ส.ป.ก. โดยตั้งข้อสังเกตว่าใครจะเป็นคนแจ้งก่อน เพราะกฎหมายของกรมป่าไม้กับ ส.ป.ก. เวลาสู้คดีใช้คนละฉบับ และความเป็นจริงเรื่องไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว จึงต้องไปสอบผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเท่าที่สอบถามปารีณา ทราบว่า ส.ป.ก. ยังไม่ได้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริง และวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีอยู่ส่วนหนึ่งของการดำเนินการของ ส.ป.ก. ที่ระบุว่าเมื่อใดก็แล้วแต่ที่มีงบประมาณหรือทำแผน จึงต้องไปตรวจสอบว่าที่ดินที่ประกาศกฤษฎีกาแล้วมีการยกเลิกและกลับมาประกาศใหม่ ส.ป.ก. ได้มีการวางแผนอะไรหรือไม่ โดยต้องดูว่าที่ดินที่ราชบุรีที่ ส.ป.ก. ให้ดำเนินการมีการจัดสรรงบประมาณไปเมื่อไร
“สิ่งที่น่าสังเกตคือบางคนที่ประกาศออกกฤษฎีกา จนถึงปัจจุบันบางแปลงมีการออกโฉนดที่ดินไปแล้ว ทำไมบางแปลงออก บางแปลงไม่ออก ไม่ได้อยู่ในผืนเดียวกันหรือ อีกทั้งพบว่าเอกสารที่เกษตรอำเภอไม่มี หายหมด ดังนั้นเราสงสัยว่าข้อเท็จจริงที่ ส.ป.ก. และกรมป่าไม้ได้มานั้นได้มาได้อย่างไร ทั้งนี้ในฐานะทีมทนายที่ต่อสู้คดีให้ปารีณา เรามีแนวคิดอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้ข้อเท็จจริงปรากฏ และต่อสู้ทางคดี ไม่ใช่การตอบโต้ทางสังคม” ทศพลกล่าว
ต่อข้อถามว่าต้องต่อสู้ในประเด็นการถือครองด้วยหรือไม่ เพราะมีคนมองว่าการถือครองอาจจะไม่ชอบธรรม ทศพลกล่าวว่าในระเบียบของ ส.ป.ก. ถ้าระบุว่าได้มาโดยไม่ชอบ สมมติว่าพ่อตาย แต่มี ส.ป.ก. อยู่แล้วลูกไม่เอา มาขายให้ปารีณา ก็ถือเป็นการส่งมอบ ซึ่งแต่ละแปลงก็ไม่เหมือนกัน และในหลายๆ ส่วนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ มันก็น่าฉงนใจว่าในบางข้อความระบุว่ากรมป่าไม้ไม่มีความรับผิด กรมป่าไม้ไม่มีอำนาจ แต่ในท้ายที่สุดของความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่าถ้ามีการบุกรุก ส.ป.ก. จะเป็นผู้เสียหาย ตนจึงบอกว่าถ้า ส.ป.ก. ไม่มีอำนาจอยู่แล้วจะมีอำนาจมาแจ้งความร้องทุกข์ปารีณาได้หรือ ส่วนประชาชนที่ไปขอข้อมูลและเอกสาร แค่ถามว่าได้โฉนดมาได้อย่างไร ไม่ได้เป็นการเอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน เพียงแต่อยากได้ข้อเท็จจริง และอยากทราบการได้มาของโฉนด ส่วนการนำชี้พื้นที่นั้น วันนี้เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ และนำคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมานำชี้ ซึ่งจะไม่มีการไปนำชี้พื้นที่ เพราะหากไปนำชี้พื้นที่ก็เท่ากับเป็นการรับสารภาพ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์