วันนี้ (9 มกราคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า กฤษฎีกาได้ส่งความเห็นให้รัฐบาลแล้ว แต่ความเห็นดังกล่าวต้องนำไปเข้าคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ก่อน และจะต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด แต่ในความเห็นไม่มีคำว่าไฟเขียว ตอบเป็นข้อกฎหมายอย่างเดียว เพราะกฤษฎีกาเป็นนักกฎหมาย เป็นเงื่อนไขของกฎหมายที่ระบุไว้ในมาตรา 53 ว่ามีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขบอกว่าต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน และต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้วิกฤตของประเทศ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องมาดูกันต่อไปว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่
เมื่อถามว่าออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกากล่าวว่า ตามมาตรา 53 ระบุว่าให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. มันก็เป็นกฎหมายเหมือนกัน มีเพียงเท่านั้นไม่ได้มีอะไรมาก
เมื่อถามว่าข้อเสนอแนะที่ให้ไปมีอะไรบ้าง เลขาฯ กฤษฎีกากล่าวว่า ไม่ได้มีอะไร เป็นเพียงการอธิบายมาตรา 53 แล้วบอกว่าควรจะต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลประจักษ์ยืนยันได้ และตนเป็นนักกฎหมายไม่สามารถชี้ได้ว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องอาศัยตัวเลขที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
เมื่อถามว่าความเห็นของกฤษฎีกาสามารถรับประกันได้หรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกากล่าวว่า ถ้ารัฐบาลทำตามจะไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะเราอิงตามมาตรา 53, มาตรา 6, มาตรา 7 และมาตรา 9 ของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าการันตีหรือไม่ถ้าหากทำตามคำแนะนำของกฤษฎีกาแล้วจะปลอดภัย เลขาฯ กฤษฎีกายืนยันว่าถ้าทำตามปลอดภัยแน่นอน และหากทำตามเงื่อนไขก็จะไม่มีปัญหาอะไร
ส่วนที่รัฐบาลอ้างว่าประเทศวิกฤตเพราะ GDP โตไม่ทัน สามารถเป็นเงื่อนไขวิกฤต ทำให้ต้องกู้เงินได้หรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกากล่าวว่า ตนเป็นนักกฎหมายไม่สามารถให้ความเห็นได้
เมื่อถามย้ำว่าวิกฤตที่รัฐบาลอ้างแต่ออกเป็น พ.ร.บ. ไม่ใช่ พ.ร.ก. จะย้อนแย้งหรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกากล่าวว่า ไม่เป็นไรเพราะกฎหมายวินัยการเงินการคลังเพียงแต่ระบุไว้ว่าให้กู้ได้โดยตราเป็นกฎหมาย และไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ก็เป็นกฎหมายทั้งสิ้น และปลอดภัยทั้งคู่ถ้าทำโดยถูกเงื่อนไข
เมื่อถามว่าที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ใช้คำว่าไฟเขียว เลขาฯ กฤษฎีกากล่าวว่า “ผมเข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีช่วยไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียว และผมเองก็ไม่ใช่ตำรวจจราจร ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็ทำได้ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ก็เป็นข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์ สำหรับตัวผมไม่ได้ห่วงอะไรเลย เพราะเวลารัฐบาลทำอะไร ทุกคณะทุกชุดไม่ใช่แค่รัฐบาลชุดนี้ ก็ต้องอยู่บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมก็เชื่อมั่นว่าทุกคนจะยืนอยู่บนข้อเท็จจริง”
‘อนุทิน-วราวุธ’ ย้ำพร้อมหนุนกู้เงิน 5 แสนล้านถ้าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่าขณะนี้ตนเองยังไม่เห็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยยืนยันว่าตนเองในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลพร้อมทำตามและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล หากถูกกฎหมาย ทำได้ และไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า จากนี้ไปเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องนำเอาความเห็นของกฤษฎีกานั้นไปพิจารณา และนำมาพูดคุยกันว่าจะมีแนวทางอย่างไร
“หากเรายังไม่ได้เห็นข้อคิดเห็นหรือข้อแนะนำของกฤษฎีกา คงจะยังพูดอะไรมากไม่ได้ จึงอยากจะดูก่อนว่าสิ่งที่กฤษฎีกามีข้อคิดเห็นมานั้น มีแนวทางเช่นไร เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครทราบ ดังนั้นจึงยังไม่ทราบว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีข้อเสนอแนะ หรือข้อถกเถียงกันในข้อคิดเห็นดังกล่าวอย่างไรบ้าง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ต้องพยายามผลักดันให้สำเร็จใช่หรือไม่ วราวุธกล่าวว่า แน่นอน และที่สำคัญหากผลักดันได้สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ของประชาชน แต่จะต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายในการดำเนินการด้วย จึงเป็นที่มาของการขอความเห็นจากกฤษฎีกา ดังนั้นต้องรอดูความชัดเจนในข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นของกฤษฎีกาก่อนว่าเป็นอย่างไร