สถานการณ์ทางการเมืองของปากีสถานภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่เกิดความไม่แน่นอนเนื่องจากไม่มีพรรคใดได้ที่นั่ง สส. มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
ล่าสุดเป็นพรรค PML-N ของ นาวาซ ชารีฟ อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรค PPP ของ บิลาวัล บุตโต ซาร์ดารี อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน ที่สามารถบรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ โดยบุตโตประกาศจะช่วยพรรค PML-N ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีชารีฟวางแผนที่จะเสนอชื่อน้องชายคือ เชห์บาซ ชารีฟ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2
สำหรับผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ประกาศก่อนหน้านี้ พบว่าผู้สมัครอิสระที่มีความเชื่อมโยงกับพรรค PTI ของ อิมรอน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกจำคุกข้อหาคอร์รัปชันและถูกห้ามเข้าร่วมในการเลือกตั้ง ได้ที่นั่ง สส. มากที่สุดจำนวน 93 ที่นั่ง ตามด้วยพรรค PML-N ที่ได้ 75 ที่นั่ง ส่วนพรรค PPP ได้ 54 ที่นั่ง
การครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรปากีสถานนั้นต้องได้ สส. เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 169 ที่นั่ง จากทั้งหมด 336 ที่นั่ง ซึ่งพรรค PML-N และ PPP ได้ สส. รวมกัน 129 ที่นั่ง
ขณะที่ระบบเลือกตั้งของปากีสถานแบ่งเป็นการลงคะแนนเลือก สส. โดยตรง จำนวน 266 ที่นั่ง ส่วนที่เหลืออีก 70 ที่นั่ง สงวนไว้สำหรับสตรีและผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม และไม่มีผู้สมัครอิสระรวมอยู่ด้วย ซึ่งพรรค PML-N และ PPP จะได้ที่นั่ง สส. เพิ่มจาก สส. กลุ่มนี้ และจะทำให้การจัดตั้งรัฐบาลนั้นเป็นไปได้
เตือนจัดตั้งรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงที่ขโมยไป
อย่างไรก็ตาม ข่านและพรรค PTI ที่ประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งเช่นกัน เน้นย้ำว่ามีการโกงการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีการวางแผนที่จะท้าทายผลการลงคะแนนของประชาชน
โดยการเลือกตั้งถูกจับตามองจากนานาชาติ รวมถึงสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่ชี้ว่ามีความผิดปกติในกระบวนการลงคะแนนและเรียกร้องให้มีการสอบสวน ขณะที่การนับคะแนนเป็นไปอย่างล่าช้าและใช้เวลาถึง 3 วัน จึงประกาศผลการเลือกตั้งได้
ขณะที่ข่านเตือนว่าการจัดตั้งรัฐบาลผสมของพรรคคู่แข่งด้วยคะแนนเสียงที่ขโมยไป ถือเป็นการดูหมิ่นประชาชนและจะฉุดเศรษฐกิจประเทศให้ตกต่ำ
“การโจรกรรมกลางวันแสกๆ ดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการดูหมิ่นพลเมืองเท่านั้น แต่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ตกต่ำลงอีกด้วย” เขากล่าว
ภาพ: REUTERS / Navesh Chitrakar / File Photo
อ้างอิง: