**บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์**
เปโดร อัลโมโดวาร์ เป็นคนทำหนังที่ได้รับการขนานนามต่างๆ นานา ผู้ชมบ้านเราจะเรียกขานเขาว่า เจ้าป้าแห่งวงการหนังสเปน ขณะที่ในสากลโลก บ้างก็เรียกว่าไอคอน บ้างก็ยกย่องเขาเป็นคนทำหนังสเปนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับจาก หลุยส์ บุนเยล บรมครูของหนังเหนือจริง แต่ไม่ว่าใครจะพยายามจำกัดความอัลโมโดวาร์ว่าอย่างไร เมื่อครั้งที่เขาเพิ่งจะเริ่มประสบความสำเร็จ และสร้างชื่อเสียงในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ฉายาประจำตัวของเขาตอนนั้นได้แก่ ‘Spanish Enfant Terrible’ หรือเด็กสารเลวแห่งเมืองกระทิงดุ และแน่นอนว่าชื่อนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย
ใครที่ติดตามผลงานของเปโดร อัลโมโดวา อย่างต่อเนื่องย่อมตระหนักดีว่า หนังของเขาสามารถเป็นได้ทุกอย่าง นอกจากคำว่า แห้งแล้ง จืดชืด แทบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับตัวละครข้ามเพศ หรือแอบแฝงนัยความหมายทำนองนั้น และเนื้อหาก็ผูกโยงอยู่กับเรื่องของศาสนา เซ็กซ์ บาทหลวง โสเภณี การข่มขืน พฤติกรรมถ้ำมอง การแปลงเพศ ความวิตถารในรูปแบบต่างๆ นานา และแน่นอน ความห่วยแตกของเพศชาย ในแง่ของการนำเสนอ หนังของอัลโมโดวาร์ก็มักจะผสมผสานหลายสิ่งหลายอย่างที่พิลึกพิลั่น และเข้ากันไม่ได้เอาไว้ในกรอบเนื้อหาเดียวกัน ทั้งความเป็นหนังตลกโปกฮากับหนังชีวิตรันทด มุกตลกชั้นต่ำกับอารมณ์ขันชั้นสูง ศิลปะที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแง่รสนิยม กับสไตล์การนำเสนอที่แอบแฝงสัญญะ และเรียกร้องการตีความในเชิงปรัชญา
นับเนื่องจนถึงปัจจุบัน อายุอานามของอัลโมโดวาร์ล่วงเลยไปถึงเจ็ดสิบปี และผ่านพ้นช่วงที่เรียกได้ว่า ‘Days of Being Wild’ หรือช่วงเวลาแห่งความห่าม และสุดเหวี่ยงไปแล้วแสนนาน เป็นไปได้ว่าวัยที่เพิ่มพูนน่าจะมีส่วนทำให้เขาไม่เดือดพล่านเหมือนกับเมื่อก่อนอีกต่อไป และเงื่อนงำหลายอย่างตามที่ปรากฏในหนังเรื่องล่าสุดของเขา Pain and Glory ชวนให้อนุมานสันนิษฐานได้ว่า เขาดูเกรี้ยวกราดน้อยลง ปลงตก ปล่อยวาง และผ่อนปรนกับโน่นนี่นั่นมากขึ้น และอย่างหนึ่งที่แน่ๆ สมาธิของเขาจดจ่ออยู่กับการต่อสู้ที่เขารู้ดีว่าไม่มีวันเอาชนะ นั่นก็คือความเสื่อมทรุดของร่างกาย
ตามเนื้อผ้า หนังเรื่อง Pain and Glory บอกเล่าเรื่องคนทำหนังผู้มีชื่อเสียงในช่วงวัยที่ร่วงโรย และโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้านานัปการ ทั้งนอนไม่หลับ หอบหืด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไมเกรน เสียงแว่วในหู หมอนรองกระดูกอักเสบ ‘Panic Attacks’ สำลักน้ำและอาหาร ภาวะหดหู่และซึมเศร้า เสียงบรรยายของ ซัลวาดอร์ มัลโล (อันโตนิโอ แบนเดอรัส) ผู้กำกับหนังตามท้องเรื่อง บอกโดยอ้อมถึงสภาวะอันสุดแสนจนตรอกของตัวละคร หรืออีกนัยหนึ่ง เขาไม่หลงเหลือทั้งความยึดมั่นถือมั่น จุดยืนและอุดมการณ์ความเชื่อใดๆ อีกต่อไป ตราบเท่าที่มีเรื่องของความทุกข์ทรมานทั้งในทางร่างกายและจิตใจมาเกี่ยวข้องเชื่อมโยง (ในค่ำคืนที่ความเจ็บป่วยหลายอย่างประดังมาพร้อมๆ กัน ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า และอธิษฐานขอให้พระองค์โปรดเมตตา และในค่ำคืนที่อาการเจ็บป่วยอยู่ในระดับพอทน ผมเป็นคนไม่มีศาสนา)
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ระหว่างตัวละครสมมติที่ชื่อซัลวาดอร์ มัลโล กับเปโดร อัลโมโดวาร์ เต็มไปด้วยเส้นประให้ลากเชื่อมโยง ทั้งช่วงวัยที่ไล่เลี่ยกัน ความเป็นเกย์ของตัวละคร วิธีการแต่งเนื้อแต่งตัวอันฉูดฉาดบาดตา อีกทั้งห้องพักของตัวเอกในหนังก็จำลองมาจากห้องพักของอัลโมโดวาร์ การเพิ่งจะสูญเสียผู้เป็นแม่ไปไม่นาน จนถึงรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ช็อตที่เผยให้เห็นร่องรอยการผ่าตัดกระดูกสันหลังของตัวละคร ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ที่ตัวเจ้าป้าเพิ่งผ่านพ้นเหมือนกัน
อย่างนั้นก็ตาม อัลโมโดวาร์ก็ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า Pain and Glory ไม่ใช่หนังอัตชีวประวัติ หรือจริงๆ แล้ว หนังทั้งหมดของเขาราวๆ ยี่สิบเรื่องล้วนแล้วมีส่วนเสี้ยวของตัวเขาสอดแทรกอยู่ไม่มากก็น้อย และเรื่องจริงกับเรื่องแต่งก็ผสมปนเปอย่างที่ไม่อาจแยกออกจากกัน แต่ก็อีกนั่นแหละ เขาก็ยอมรับว่า Pain and Glory เป็นหนังที่มีความเป็นส่วนตัว (Intimate) มากๆ และอย่างหนึ่งที่ระหว่างเขากับซัลวาดอร์ มัลโล นึกคิดเหมือนกันก็คือ ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงว่า บางทีความเจ็บไข้ได้ป่วยจะนำพาให้พวกเขาไม่สามารถทำหนังได้อีกต่อไป และจากคำบอกเล่าของซัลวาดอร์ที่ว่า “หากไม่ได้ทำหนัง ชีวิตของผมก็ไร้คุณค่า และความหมายโดยสิ้นเชิง”
ขณะที่เป็นเรื่องป่วยการที่ใครจะพยายามเสาะหาว่าส่วนของเรื่องจริงสิ้นสุดตรงไหน และส่วนของจินตนาการเริ่มต้นอย่างไร หนังเรื่อง Pain and Glory บอกเล่าเรื่องราวความร่วงโรยของตัวละคร (ในลักษณะที่ไม่แตกต่างจาก The Irishman ของ มาร์ติน สกอร์เซซี) และในสถานการณ์ที่เปราะบางอ่อนไหวเช่นนี้ มีเรื่องราวจำนวนหนึ่งที่เกาะกุมห้วงคิดคำนึงของตัวละคร และเปิดโอกาสให้เขาได้นึกทบทวนเรื่องราวแต่หนหลัง และในบางกรณี แสวงหาหนทางแก้ไขไถ่ถอน
เรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับความบาดหมางระหว่างเขากับนักแสดงหนุ่มใหญ่ที่ชื่ออัลแบร์โต (อาซิเอ้ เอตซีอานเดีย) ผู้ซึ่งเล่นหนังให้เขาแค่เรื่องเดียวเมื่อราวสามสิบกว่าปีที่แล้ว และหลังจากนั้นก็ไม่เผาผีกันอีกต่อไป ต้นสายปลายเหตุที่นำพาให้ทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความเป็นสิงห์เฮโรอีนของอัลแบร์โต และในตอนที่ทั้งสองพบเจอกันอีกครั้ง นักแสดงหนุ่มใหญ่ก็ยังคงไม่เลิกสันทนาการดังกล่าว และเอาเข้าจริงๆ แล้ว อัลแบร์โตยังได้ให้การต้อนรับน้องใหม่อย่างซัลวาดอร์ ผู้ซึ่งจู่ๆ ก็ขอร่วมแจม และในขณะที่เจ้าตัวให้เหตุผลทำนองว่า เขาเพียงแค่อยากลิ้มลอง แต่ก็ชวนสรุปได้ไม่ยากว่ามันเกี่ยวข้องกับความทุกข์ทรมานทั้งในทางร่างกายและจิตใจ หรืออีกนัยหนึ่ง อะไรก็ได้ที่จะช่วยให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากไปได้
อีกเรื่องได้แก่ความทรงจำเมื่อครั้งเยาว์วัย และดูเหมือนว่าสำหรับซัลวาดอร์ มันเป็นช่วงที่ปลอบประโลม และความทุกข์ร้อนดูเหมือนอยู่แสนห่างไกล ภาพเด็กน้อยที่ได้เห็นแม่ของเขา (เพเนโลเป ครูซ) ซักผ้าอยู่ริมน้ำพร้อมกับเพื่อนๆ ของเธอ และร้องรำทำเพลงอย่างมีความสุขในวันที่แสงแดดสดใส บรรยากาศรอบข้างก็ช่างน่ารื่นรมย์ กลายเป็นโมเมนต์ที่เยียวยาภาวะบอบช้ำทั้งในทางร่างกายและจิตใจของตัวละครในช่วงเวลาปัจจุบัน และถึงแม้ว่าชีวิตในช่วงวัยเด็กของซัลวาดอร์จะยากแค้นฝืดเคือง ทว่านอกจากหนูน้อยไม่เคยโอดครวญ เรื่องน่าสนุกสนาน และชวนให้ตื่นเต้นสำหรับชีวิตในช่วงวัยเด็ก ได้แก่ การที่เขาค่อยๆ เรียนรู้พรสวรรค์ และ ‘ความเป็นไปได้’ ของตัวเอง ไล่เรียงตั้งแต่ความสามารถในการร้องเพลง และลงเอยด้วยการเป็น ‘โซโลอิสต์’ หรือนักร้องนำของวงคอรัส การอ่านออกเขียนได้ในระดับที่สามารถสอนเด็กหนุ่มที่โตกว่า และไม่รู้หนังสือ การค้นพบรสนิยมทางเพศของตัวเองจากการได้เห็นเด็กหนุ่มคนดังกล่าวเปลื้องผ้าอาบน้ำ และเหนืออื่นใด ความหลงใหลในภาพยนตร์
จริงๆ แล้ว หนังยังสอดแทรกไว้ด้วยอีกหนึ่งหรือสองเรื่องย่อยๆ นั่นทำให้เมื่อมองในแง่ของโครงสร้าง หนังเรื่อง Pain and Glory ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นสามสี่เรื่องร้อยเรียงเข้าไว้ด้วยกัน และขณะที่แต่ละเรื่องดูเหมือนดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ หรือเกาะเก่ียวกันอย่างหลวมๆ เรื่องเล่าเหล่านั้นกลับหลอมรวมเป็นสายธารแห่งความหมายเดียวกันอย่างน่าอัศจรรย์ ส่วนที่น่าทึ่งมากยิ่งไปกว่านั้นอีก ได้แก่ แท็กติกและกลวิธีอันสุดแสนแยบยลของอัลโมโดวาร์ ซึ่งนำพาให้สิ่งที่ได้รับการบอกเล่าเกิดภาวะ ‘เลื่อนไหล’ ในเชิงของสถานะและความหมายอย่างน่าฉงนสนเท่ห์ หรือพูดง่ายๆ เมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลง ฉากที่ผู้ชมเข้าใจว่าเป็นห้วงเวลาย้อนอดีตก็กลับไม่ใช่อีกต่อไป และนั่นทำให้ผู้ชมต้องมานึกทบทวนว่าถึงที่สุดแล้ว สถานะที่แท้จริงของ Pain and Glory เป็นอะไรกันแน่ หนังที่ว่าด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยของตัวละคร หรือหนังซ้อนหนังที่ว่าด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยของตัวละคร
สมมติว่าอย่างแรก Pain and Glory ก็เป็นหนังดราม่าทรงพลังว่าด้วยศิลปินผู้ซึ่งต้องรับมือกับสังขารที่ไม่เอื้ออำนวย และดิ้นรนเพื่อก้าวผ่านข้ามพ้นวิบากกรรมที่ต้องเผชิญทุกหนทาง ขณะที่ในกรณีหลัง มันก็กลายเป็นหนังที่เฉลิมฉลองความสำคัญของการสร้างภาพยนตร์ และสอดรับกับประโยคของซัลวาดอร์ที่เอ่ยถึงการมีชีวิตผูกติดอยู่กับการทำหนังอย่างตัดขาดไม่ได้
ไม่ว่าจะอย่างไร อันโตนิโอ แบนเดอรัส ผู้สวมบทซัลวาดอร์ ไม่เคยทำให้ผู้ชมผิดหวังทุกครั้งที่เล่นหนังให้อัลโมโดวาร์ เขาถ่ายทอดบุคลิกของคนทำหนังผู้ซึ่งเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า และใกล้จะหมดความกระตือรือร้นในชีวิตได้อย่างลึกล้ำจริงๆ และผู้ชมรับรู้ได้ถึงการผ่านร้อนหนาวของตัวละครมาอย่างโชกโชน และพวกเราได้แต่อนุโมทนาร่วมไปกับตัวละครเมื่อถึงที่สุดแล้ว เขาสามารถพาตัวเองหลุดพ้นจากการตกไปในหล่มของความหมดอาลัยตายอยาก
สำหรับอัลโมโดวาร์ อายุที่ล่วงพ้นไปดูเหมือนไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสรรค์ผลงานแต่อย่างใด เขี้ยวเล็บในการทำหนังของเขายังคงจัดจ้านแหลมคม และไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า Pain and Glory ยังคงเป็นหนังที่สร้างความพินาศย่อยยับทางอารมณ์ให้กับผู้ชมได้อย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งเมื่อนำไปคิดคำนวณร่วมกับผลงานทั้งหมดทั้งมวลของเขาก่อนหน้า
การขนานนาม เปโดร อัลโมโดวาร์ ว่าเป็นคนทำหนังสเปนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดนับจากหลุยส์ บุนเยล ก็เป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม
Pain And Glory (2019)
กำกับ: เปโดร อัลโมโดวาร์
ผู้แสดง: อันโตนิโอ แบนเดอรัส, เพเนโลเป ครูซ, อาซิเอ้ เอตซีอานเดีย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์