×

ไพบูลย์แจ้ง พล.อ. ประวิตร ขอให้ดำเนินนโยบายยกเลิก MOU 44 เหตุมีปัญหาทางกฎหมาย เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ

โดย THE STANDARD TEAM
07.11.2024
  • LOADING...
ไพบูลย์แจ้ง พล.อ. ประวิตร ขอให้ดำเนินนโยบายยกเลิก MOU 44

วันนี้ (7 พฤศจิกายน) ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคให้พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายดำเนินการยกเลิก MOU 2544 ถึงแม้ พล.อ. ประวิตร จะเคยเป็นประธานคณะเจรจาตามกรอบ MOU 2544 ก็ตาม แต่ในขณะนั้น พล.อ. ประวิตร ไม่ทราบมาก่อนว่า MOU 2544 จะมีปัญหาสำคัญทางกฎหมาย จนกระทั่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาตนเองเรียนให้ทราบว่าได้ใช้สิทธิในฐานะประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุที่ตรวจพบว่า MOU 2544 มีปัญหาสำคัญทางกฎหมายอย่างน้อย 2 ประการ

 

ประการที่ 1 การที่ฝ่ายกัมพูชาลากเส้นไหล่ทวีปของประเทศ เริ่มจากหลักหมุดที่ 73 จุดแบ่งดินแดนทางบกของไทย-กัมพูชา ตัดตรงมาทางทิศตะวันตก ผ่านกลางเกาะกูดที่เป็นดินแดนของไทย ตัดเส้นตรงเลยเกาะกูดไปทางอ่าวไทยตอนใน การกระทำของฝ่ายกัมพูชาเป็นการลากเส้นไหล่ทวีปที่ผิดกฎหมายทะเลระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ลากต่อลงมาทางทิศใต้เป็นเส้นไหล่ทวีปที่ผิดกฎหมายทะเลระหว่างประเทศไปด้วย ทำให้กินพื้นที่อธิปไตยทางทะเลของไทยไป 26,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 16 ล้านไร่

 

อย่างไรก็ตาม MOU 2544 กลับรับรองเส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาดังกล่าวเป็นเส้นถูกต้อง นำมาใช้มาอ้างสิทธิกับไทยว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนเพื่อเจรจาแบ่งทรัพยากรทางทะเลของไทย ให้กัมพูชาฝ่ายละ 50% ตามที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ในงาน Dinner Talk เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

ดังนั้นหากรัฐบาลดำเนินการเจรจาตาม MOU 2544 แบ่งผลประโยชน์พลังงานธรรมชาติทางทะเลให้ฝ่ายกัมพูชา 50% ตามที่ทักษิณชี้แนะรัฐบาลไว้ อาจเข้าข่ายกระทำผิดทั้งกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ กฎหมายภายในประเทศ เพราะเป็นการฝ่าฝืนพระบรมราชโองการประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย

 

ประการที่ 2 พบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่า MOU 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2542 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 33/2543 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 เมื่อ MOU 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญา จึงต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224, รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 178

 

แต่ปรากฏว่า MOU 2544 ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันไม่มีการเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบ MOU 2544 จึงเป็นหนังสือสัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทย มีผลให้ MOU 2544 เป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตามรัรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 และมีผลให้ MOU 2544 ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก และมีผลในทางกฎหมายไม่ผูกพันรัฐภาคีทั้งสองตามหลักการเรื่องความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา (Invalidity of Treaties) ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969

 

ดังนั้นเมื่อ MOU 2544 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาที่ทำขึ้นโดยขัดรัฐธรรมนูญ ตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ หากรัฐบาลปัจจุบันนำ MOU 2544 ไปดำเนินการแบ่งทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลให้กับกัมพูชาต่อไป ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ มีข้อควรระวังว่าอาจถูกฟ้อง เนื่องจากเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

 

ไพบูลย์กล่าวต่อไปว่า พล.อ. ประวิตร กำชับกรรมการบริหารพรรคและ สส. ทุกคนของพรรคให้ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินนโยบายยกเลิก MOU 2544 ให้ได้ เพื่อปกป้องเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติ มูลค่า 20 ล้านล้านบาทในทะเลอ่าวไทยที่เป็นของไทยทั้งหมดตามกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising