วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) ไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติด่วนเรื่องขอรัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ว่า เป็นเพียงแค่การซื้อเวลาของพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะตอบคำถามกับประชาชนหรือมวลชนที่เขาไปหาเสียงว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ว่าขั้นตอนการแก้ไขยังอยู่ในสภา เรายังพยายามทำอยู่ แต่ต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนเพื่อให้เกิดความรอบคอบ เพราะพรรคเพื่อไทยรู้ดีอยู่แล้วว่า ทันทีที่มีการพิจารณาเรื่องนี้ในวาระแรกก็จะถูกตีตกไปทันที ก็เลยใช้เทคนิคเพื่อซื้อเวลาออกไป
ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ตนไม่เข้าใจว่าจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญอีกเพื่ออะไร เพราะเคยยื่นไปแล้ว 2 ครั้ง โดยตนเป็นผู้ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตามแบบที่พรรคเพื่อไทยกำลังทำ ตนเป็นคนดำเนินการคนแรก เพราะอำนาจที่รัฐสภามี ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เมื่อตนถามไปศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยกลับมาว่า รัฐสภามีอำนาจในการดำเนินการ แต่ก่อนที่จะดำเนินการจะต้องไปถามความคิดเห็นของประชาชน ก็คือการทำประชามติ เมื่อตีความแล้วก็คือรัฐสภาไม่มีอำนาจนั่นเอง
“ประเด็นนี้มันชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว และสมัยนั้นก็ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนั้นตกไป ต่อมาในสมัยรัฐสภาชุดนี้ก็มีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกัน ซึ่งศาลก็ตอบมาว่าเป็นเรื่องที่เคยตอบไปแล้ว ก็คือเรื่องซ้ำกับเรื่องเดิม และครั้งนี้ก็เช่นกัน ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากวินิจฉัยไปแล้ว สุดท้ายเพื่อไทยก็หน้าแตกเหมือนเดิม” ไพบูลย์กล่าว
ไพบูลย์ตั้งคำถามต่อว่า เหตุใดพรรคเพื่อไทยถึงพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำไมถึงไม่แก้รายมาตราทั้งที่สามารถดำเนินการได้เลย นั่นก็เพราะว่าจะสามารถแก้ได้มั่วเลย โดยเฉพาะการสอดไส้เรื่องทำลายระบบองค์กรอิสระทิ้งทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมี สสร. ร่างขึ้นมาใหม่ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยคิดเอาไว้ต่อจากนี้ ก็คือการพยายามแก้กฎหมายประชามติให้เหลือแค่ชั้นเดียวให้ได้ ก็คือยึดเอาแค่เสียงข้างมากจากประชาชนที่มาใช้สิทธิ แต่ตอนนี้กฎหมายประชามติยังคงเป็น 2 ชั้น และมีเงื่อนไขระบุว่า ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งถือว่ายากมาก แต่ที่ยากยิ่งกว่าก็คืออายุของรัฐบาลชุดนี้คงอยู่ไม่ถึงวันที่จะได้แก้
“สิ่งที่น่าห่วงกว่าการแก้รัฐธรรมนูญคือ อายุของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ที่วันนี้สถานะ เสถียรภาพต่างๆ ฝีมือบริหารประเทศในเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้ารอบด้าน จนกลายเป็นปัญหาที่หมักหมม มีแต่เรื่องเสียหายเต็มไปหมด คือปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้”