×

ไพบูลย์ยื่นประธานสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 4 ญัตติแก้ รธน. ฝ่ายค้านชี้ลงชื่อซ้ำซ้อน ขัดกฎหมาย

โดย THE STANDARD TEAM
14.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (14 กันยายน) ไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือขอคัดค้านการบรรจุญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติของพรรคเพื่อไทยเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแก่ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา   

 

ไพบูลย์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทยได้มีการยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 1 ญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และได้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการยื่นญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มอีก 4 ญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเห็นว่าการยื่นญัตติเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีการลงรายชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซ้ำกันเองกับญัตติแรกที่ได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมไปแล้ว

 

โดยไพบูลย์ให้เหตุผลว่าในกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติเพิ่มเติมได้นั้น เทียบเคียงมาจากคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2563 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยพิจารณาและวินิจฉัยในกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่แล้ว และต่อมาทางพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการยื่นประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันในเรื่องพิจารณาเลขที่ 5/2563 

 

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยตีตกคำร้องที่ 5/2563 โดยให้เหตุผลว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงรายชื่อซ้ำกับคำร้องที่ 3/2563 ดังนั้นจึงเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้มีการลงรายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ญัตติซ้ำกับการลงรายชื่อในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในญัตติแรก จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

 

ด้านเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดเผยภายหลังการยื่นคัดค้านของไพบูลย์ว่า ในลักษณะของการลงรายชื่อในญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านนั้นเข้าข่ายเดียวกับการลงรายชื่อเสนอแก้กฎหมาย ส่วนตัวเห็นว่าสามารถทำได้ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า ส.ส. ห้ามลงรายชื่อซ้ำในการแก้ไขร่างกฎหมายในลักษณะเดียวกัน

 

แต่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ไพบูลย์ได้ยกตัวอย่างขึ้นมานั้นต้องอธิบายว่าเป็นญัตติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นต่างๆ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถยื่นญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เพียงครั้งเดียว ส.ส. ไม่สามารถลงรายชื่อซ้ำกันเพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นเดียวกัน ซึ่งต่างกับการเสนอกฎหมาย ส.ส. สามารถลงรายชื่อซ้ำกันเพื่อแก้ไขกฎหมายได้

 

ทั้งนี้จะต้องส่งประเด็นดังกล่าวให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยอีกครั้งก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป ซึ่งขณะนี้มีญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญยื่นเข้ามาจำนวน 7 ร่าง ทั้งร่างของฝ่ายค้านที่บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้วจำนวน 1 ญัตติ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของประธานสภาผู้แทนราษฎรอีก 5 ญัตติ ประกอบด้วยญัตติของพรรคก้าวไกล 1 ญัตติ ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมจากพรรคเพื่อไทยอีก 4 ญัตติ และญัตติขอแก้ไขฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลอีก 1 ญัตติ รวมเป็น 7 ญัตติ โดยแต่ละญัตติจะต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงรายชื่อไม่น้อยกว่า 98 คน ซึ่งคิดเป็นจำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน 488 คน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising