×

ความท้าทายบทใหม่ของนายกฯ แพทองธาร บนเวทีอาเซียน

โดย THE STANDARD TEAM
11.10.2024
  • LOADING...

นายกรัฐมนตรีใช้แท็บเล็ตจดข้อมูลระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

 

แม้จะเป็นเวทีที่สองในระดับนานาชาติที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทยเลือกปรากฏตัว แต่ความท้าทายในฐานะผู้นำได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อก้าวย่างเข้าสู่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 ที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม

 

ตลอด 3 วัน และผู้นำ 21 ประเทศ แพทองธารวัย 38 ปี นายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุด ท่ามกลางผู้อาวุโสทางการเมืองและการปกครอง อาทิ อันวาร์ อิบราฮิม วัย 77 ปี แม้จะมี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาวัย 46 ปี ที่ห่างกันไม่มาก แต่ท่าทีของผู้นำที่มาจากหลากหลายเจเนอเรชันในเวทีอาเซียนไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่ายๆ

 

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นที่สังเกตคือการแต่งกายของแพทองธาร เพื่อส่งเสริมความเป็นไทย แต่ละชุดที่ใช้ล้วนตัดเย็บมาจากผ้าไหมไทย บางชุดเป็นเสื้อจากโครงการแม่ฟ้าหลวงที่คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เคยสวมใส่เมื่อครั้งเคียงคู่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

 

การเตรียมพร้อมด้านภาษาและทรรศนะของผู้นำต่อปัญหาต่างประเทศ รวมทั้งท่าทีการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การอ่านถ้อยแถลงผ่านจอแท็บเล็ต ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยจำนวนไม่น้อย แม้จะแสดงออกถึงความเป็นคนรุ่นใหม่และนายกรัฐมนตรีก็ยืนยันว่าอ่านเฉพาะเรื่องสำคัญ อย่างเรื่องข้อกฎหมายและประเด็นเซนซิทีฟระหว่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด แต่การอ่านในช่วงจังหวะที่เหมาะสมเพื่อเน้นปฏิสัมพันธ์กับผู้นำอื่นๆ ผ่านทางสายตาก็ย่อมสำคัญ

 

นายกรัฐมนตรีสวมชุดผ้าไทยซึ่งเป็นชุดของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล 

 

ผู้นำไทยกับการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา

 

อีกสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ภาวะผู้นำของแพทองธารคือ ประเด็นการพูดคุยในเวทีแห่งนี้ทุกสิ่งล้วนผูกพันกับจุดยืนของไทย และหลายปัญหาที่ไทยควรเดินหน้าเป็นผู้นำในการจัดการ

 

ประเด็นอ่อนไหวอย่าง ‘สถานการณ์ในเมียนมาโจทย์ใหญ่ที่ไทยมีบทบาทในเรื่องนี้มาตลอด จากชายแดนประเทศที่ติดกัน 2,401 กิโลเมตร แพทองธารระบุบนเวทีว่า ไทยคือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ตั้งแต่ผู้พลัดถิ่น, การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย, การหยุดชะงักทางการค้าและการดำรงชีวิต, ปัญหาสุขภาพของประชาชน ไปจนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดและการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้นไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมา โดยจะเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับเมียนมา

 

แพทองธารยังย้ำด้วยว่า อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียวในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมาว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ทางออก เป็นเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน ไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือ และสิ่งสำคัญคือให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและหาทางออกทางการเมือง

 

อาเซียนควรเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้นและเร่งการพัฒนาเมียนมาในระยะยาว โดยประเทศไทยบริจาคเงิน 290,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ศูนย์ AHA เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวเมียนมามากขึ้น

 

นับว่าความร่วมมือของภูมิภาคเกิดความคืบหน้า เพราะจากเวทีอาเซียนได้นำไปสู่การตั้งวงหารือฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการแก้ไขสถานการณ์ในเมียนมา โดยมีไทยเป็นเจ้าภาพจัดการในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้

 

นายกรัฐมนตรีจับมือกับผู้นำชาติอาเซียน

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล

 

จับมือระดับภูมิภาคแก้ปัญหาโลกเดือด

 

ความรุนแรงและความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือของไทยหลังดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ในฐานะผู้นำประเทศที่ต้องร่วมหาทางออกบนเวทีระดับภูมิภาค

 

แพทองธารเคยย้ำผ่านการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ ‘Thailand Economic Big Move’ ในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity ในไทยว่า อาเซียนต้องร่วมกันหาทางออกแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ในปัจจุบันเรียกว่า ภาวะโลกเดือด เพราะความรุนแรงจากภัยธรรมชาติจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี เห็นได้จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึง สปป.ลาว เวียดนาม และเมียนมา ก็ประสบเหตุนี้ด้วย กลุ่มประเทศสมาชิกต้องร่วมมือกันให้แน่นเพื่อแก้ไขปัญหาให้มากขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาฝุ่นข้ามแดนจากการบุกรุกเผาพื้นที่ป่า ซึ่งนับเป็นเรื่องยาก

 

เรื่องนี้ก็นับว่ามีความคืบหน้าเช่นกัน เพราะภายหลังการหารือทวิภาคีระหว่างแพทองธารกับผู้นำ สปป.ลาว ในเวทีอาเซียน ได้เกิดแผนปฏิบัติการภายใต้ชื่อ ‘CLEAR Sky Strategy’ ระหว่างไทย สปป.ลาว และเมียนมา ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลและตั้งระบบเตือนภัยของทั้ง 3 ประเทศเข้าด้วยกัน

 

ขณะเดียวกันจากการหารือระหว่างแพทองธารและ หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สรุปว่า จีนตอบรับคำขอของไทยที่ให้ช่วยชะลอการปล่อยน้ำลงแม่น้ำล้านช้าง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคอีสานของไทย

 

นายกรัฐมนตรีหารือทวิภาคีกับ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา

ภาพ: ทำเนียบรัฐบาล 

 

อาชญากรรมข้ามชาติ-ขบวนการคอลเซ็นเตอร์

 

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย คือ อาชญากรรมข้ามชาติ และขบวนการคอลเซ็นเตอร์ เป็นปัญหาข้ามพรมแดนที่ยากจะรับมือเพียงลำพัง ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แพทองธารได้หารือทวิภาคีกับผู้นำจีน รวมถึง ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

 

นอกจากการร่วมฉลองวาระครบรอบ 75 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตของไทยและกัมพูชาในปีหน้าแล้ว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า จะต้องแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดนที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ได้แก่ การหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ การค้ามนุษย์ และการลักลอบค้ายาเสพติด โดยไทยและกัมพูชาจะแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองเพิ่มขึ้น และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนหารือเพิ่มความร่วมมือต่อต้านยาเสพติดตามแนวชายแดน

 

ขณะเดียวกัน แอนโทนี เจ. บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ก็พร้อมสนับสนุนโดยการเพิ่มเทคโนโลยีและอุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อต่อสู้กับองค์กรค้ายาเสพติดและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงเพิ่มเทคโนโลยีช่วยลดความเสียหายจากภัยพิบัติและการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน

 

จุดยืนไทย จุดยืนอาเซียน

 

อีกประเด็นสำคัญที่แพทองธารเน้นย้ำในเวทีอาเซียนคือ อาเซียนจะต้องมีจุดยืนที่เป็นหลักการแต่ไม่เลือกข้าง ในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาชน

 

ขณะที่ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจทะเลจีนใต้ ถือเป็นจุดความขัดแย้ง แพทองธารได้ย้ำจุดยืนของไทยและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ

 

ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสรุปการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct: CoC) ที่มีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในระหว่างนี้จะต้องรับรองเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ไทยมีความกังวลเช่นเดียวกันกับทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ไทยสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการบรรลุข้อตกลงการหยุดยิง การปล่อยตัวพลเรือนทุกคน รวมถึงพลเมืองอาเซียนอย่างไม่มีเงื่อนไข ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีข้อจำกัด ไทยสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ

 

เชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับภูมิภาค

 

‘6 ประเทศ 1 จุดหมายปลายทาง’ คือโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคและการไปมาหาสู่ของพี่น้องบ้านใกล้เรือนเคียงของ 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม, กัมพูชา, สปป.ลาว, มาเลเซีย, ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นผู้ริเริ่ม ในเวทีนี้แพทองธารได้ร่วมสานต่อโดยมีผู้นำจากทั้ง 6 ประเทศเห็นชอบและร่วมสนับสนุน โดยโครงการนี้ไม่เพียงเสริมการท่องเที่ยวในไทย แต่ยังช่วยผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งบทบาทนำของไทยในด้านการท่องเที่ยวที่เริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม

 

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 กำลังจะปิดฉากลง แต่คงต้องจับตาภาวะผู้นำของแพทองธารว่าจะสามารถโน้มน้าวและดึงให้แต่ละประเทศในภูมิภาคร่วมมือแก้ไขปัญหาทั้งหลาย และสานต่อความร่วมมือระยะยาวให้คลี่คลายปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising