×

เปิดฉบับเต็ม คำแถลงนโยบายรัฐบาล ‘แพทองธาร’

12.09.2024
  • LOADING...
นโยบายรัฐบาล แพทองธาร

วันที่ 12 กันยายน 2567 ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ เข้าสู่วาระพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดทำเอกสารคำแถลงนโยบาย ความยาวเนื้อหา 14 หน้า แจกจ่ายให้สมาชิกรัฐสภาก่อนเริ่มการประชุม

 

เมื่อคณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาประจำที่กันโดยพร้อมเพรียงแล้ว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นกล่าวคำแถลงนโยบายต่อที่ประชุม ดังนี้

 

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ

 

ตามที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดิฉันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พุทธศักราช 2567 และแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 กันยายน พุทธศักราช 2567 นั้น บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้กำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินที่ยึดมั่นการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความสอดคล้องกับหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ และหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) เรียบร้อยแล้ว

 

คณะรัฐมนตรีจึงขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ทราบถึงเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งมั่นจะสร้างความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้ก้าวหน้า เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน

 

เปลี่ยนความท้าทายเป็นความหวัง

 

ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เราเติบโตน้อยกว่าศักยภาพจริง ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้นทุกที ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง

 

ทั้งหมดนี้คือ ‘ความท้าทาย’ ที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วน (Collaboration) เปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็น ‘ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม’ ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม (Inclusiveness) รัฐบาลพร้อมเสริมศักยภาพ สร้างโอกาสให้ประชาชนทั้งบทบาทและสิทธิ (Empowerment) เพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหาที่รุมเร้า และทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

 

ประเทศไทยมีพื้นฐานศักยภาพที่แข็งแกร่ง แต่เมื่อมองไปข้างหน้ายังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ ได้แก่

 

ประการแรก ความท้าทายของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่งขณะนี้มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับปัญหาหนี้นอกระบบภายใต้บริบทของความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนจนและคนรวย และความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เป็นหลัก ส่งผลให้คนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นและไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน

 

ประการที่สอง สังคมและเศรษฐกิจเราถูกท้าทายด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เร็วกว่าระดับการพัฒนาประเทศ และเร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยในปี 2566 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) นั่นคือมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าอีก 10 ปีจะเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดยอด (Super Aged Society) ในขณะที่มีอัตราการเกิดลดลง คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้ อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 64.7 คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปีทุกทักษะ นอกจากนี้ ยังมีเด็กและเยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยทุกช่วงวัยกำลังเผชิญกับภาวะเครียดสะสมรุนแรงขึ้น คาดว่าขณะนี้มีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกว่า 10 ล้านคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก กล่าวโดยสรุปคือ คุณภาพของคนไทยในวัยทำงานลดลงมาก ในขณะที่การเข้าสู่สังคมสูงวัย ภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ประการที่สาม ความมั่นคงปลอดภัยของสังคมถูกคุกคามจากการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 พบว่ามีคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.9 ล้านคน นอกจากนี้ อาชญากรรมออนไลน์และการพนันออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถิติการรับแจ้งความกว่า 5 แสนเรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท

 

ประการที่สี่ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรองรับแรงงานกว่าร้อยละ 32-35 ของแรงงานทั้งหมด และมีมูลค่าประมาณร้อยละ 35 ของ GDP กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง และสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวมของ SMEs ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลง กระทบต่อความสามารถในการจ้างงาน การปรับค่าจ้างแรงงาน และกลายเป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

ประการที่ห้า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Technological Disruption) รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน และแนวโน้มความต้องการใหม่ๆ ของโลก ในขณะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางด้านราคาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในรูปการนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้ต้องลดกำลังการผลิต ลดการจ้างงาน หรือปิดตัวลง สะท้อนให้เห็นจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดระดับลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 60

 

ประการที่หก จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น ในปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับภาวะภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรก และจะเผชิญภาวะฝนตกหนักผิดปกติในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลพิษทางอากาศ PM2.5 ของไทยยังย่ำแย่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้มีคนป่วยจากมลพิษทางอากาศกว่า 10 ล้านคนในปี 2566

 

ประการที่เจ็ด ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรง รวมถึงการถอดถอนรัฐบาลออกจากอำนาจในแบบที่คาดเดาไม่ได้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทยได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

ประการที่แปด ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ไม่เต็มที่ การทำงานระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจและบทบาทซ้ำซ้อน โครงสร้างของหน่วยราชการที่แตกกระจายและไม่ประสานร่วมมือกัน มีการขยายตัวไปสู่สำนักงานส่วนภูมิภาคมากเกินความจำเป็น ระบบขนาดใหญ่โต เทอะทะ และเชื่องช้า รูปแบบการประเมินและตัวชี้วัดการทำงานไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร ขนาดและศักยภาพไม่ทันกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แถมยังเป็นภาระของประชาชนในการใช้บริการอีกด้วย

 

และประการสุดท้าย ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปลี่ยนไป เกิดการแบ่งฝ่ายแยกขั้วระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศต่างๆ การกีดกันทางการค้า (Protectionism) การใช้กฎระเบียบโลกสร้างอุปสรรคทางอ้อมในการแข่งขัน ส่งผลให้ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าทีและยุทธศาสตร์ในการดำเนินนโยบายภาครัฐ และปรับท่าทีของประเทศในการมีปฏิสัมพันธ์กับนานาประเทศ

 

รัฐบาลจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนพลิกความท้าทายเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมกับสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนทุกคน และต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตร เพื่อตอบสนองปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ พลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนไทยและสากล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นความภูมิใจของคนไทยที่นานาประเทศให้การยอมรับและเชื่อถือ

 

10 นโยบายเร่งด่วน ดำเนินการทันที

 

รัฐบาลตระหนักดีว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม คือปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที ดังนี้

 

นโยบายแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

 

นโยบายที่สอง รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

นโยบายที่สาม รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย ‘ค่าโดยสารราคาเดียว’ ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

 

นโยบายที่สี่ รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

นโยบายที่ห้า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ

 

นโยบายที่หก รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร

 

นโยบายที่เจ็ด รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาทในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

 

ปัญหาที่กระทบต่อสังคมและสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาลอีกสองประเด็นปัญหา คือ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมและอาชญากรรมออนไลน์

 

นโยบายที่แปด รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม

 

นโยบายที่เก้า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ / มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์

 

นโยบายที่สิบ รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

แผนต่อยอดระยะกลางและระยะยาว

 

เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Industry Transformation) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ (New Growth Engine) ที่จะปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างแข็งแกร่งด้วยการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของความต้องการของผู้บริโภคด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อเร่งให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยเร็ว และพัฒนาบทบาทให้เป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจบนเวทีโลก โดยดำเนินการดังนี้

 

  1. การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมโดย

 

1.1 รัฐบาลจะส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (HEVs, PHEVs, BEVs และ FCEVs) โดยเร่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยแนวทางที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) และการถ่ายโอนเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่ธุรกิจไทย ในขณะที่ยังรักษาการจ้างงานควบคู่กับส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะ และการปรับทักษะของแรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

 

1.2 รัฐบาลจะส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ เราจะสนับสนุนและส่งเสริมการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ซึ่งเป็นศักยภาพของคนไทยและทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ทั้งอาหารท้องถิ่นไทย ผ้าไทย มวยไทย ศิลปะการแสดงไทย ดนตรีไทย ผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย และสุราชุมชน เพื่อยกระดับสินค้าโครงการ OTOP ทั้งด้านมาตรฐานและดีไซน์ให้ทันสมัย โดดเด่น แตกต่าง และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งจะสนับสนุนการสอดแทรกทุนทางวัฒนธรรมในภาพยนตร์ไทยและสื่อทุกรูปแบบ

 

  1. ส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตโดย

 

2.1 รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-Friendly Economy) โดยอาศัยจุดแข็งของที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตร เข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปี สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและผืนน้ำ พลังงานน้ำ และพลังงานทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีและคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อความยั่งยืน และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกพลังงานสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

2.2 รัฐบาลจะต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) จากความเข้มแข็งเดิมในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตฮาร์ดดิสก์ ให้เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อตั้ง Data Center และโรงงานผลิตชิปและชิปดีไซน์ และผลิต Semiconductor ในประเทศไทย กระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ รัฐบาลนี้จะวางรากฐานให้คนไทยทุกกลุ่มวัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาตนเอง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรม นำประเทศสู่ความล้ำสมัยโดยไม่ละเลยจุดสมดุลของความเป็นเจ้าของอธิปไตยด้านข้อมูลและการเปิดกว้างของโอกาสสำหรับการพัฒนา

 

2.3 รัฐบาลจะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) โดยอาศัยพื้นฐานจิตวิญญาณการบริการของคนไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์แผนไทยที่เป็นจุดแข็ง เพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประชากรโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย พร้อมกับส่งเสริมการผลิตและการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศ สนับสนุนการยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยโดยใช้นวัตกรรม รวมถึงการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ และควบคุมผลกระทบทางสังคมโดยการตรากฎหมาย ตลอดจนสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสุขภาพ (Health Tech) และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) มายกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ของภูมิภาค

 

2.4 รัฐบาลจะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub) โดยรัฐบาลจะผลักดันการยกร่างกฎหมายชุดใหม่ที่มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ออกแบบสิทธิประโยชน์ที่จูงใจนักลงทุน และพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงิน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก

 

  1. รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาสโดย

 

3.1 รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม ยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันได้บนเวทีโลก โดยมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถออกขายสู่ตลาดโลกได้จริง สร้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม จากหิ้งสู่ห้าง และเปิดการร่วมมือกับภาคเอกชนเต็มรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การตั้งกองทุนสนับสนุน การจัดซื้อโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีของภาครัฐมาสนับสนุน การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาสู่ผู้ประกอบการไทย

 

3.2 รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ พัฒนาระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ ยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ๆ เช่น สนามบินล้านนา สนามบินอันดามัน เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เพิ่มประตูบานใหม่ (Gateway) รองรับความต้องการการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนโครงการ Landbridge โดยเฉพาะด้านการลงทุนโดยเอกชน เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub)

 

3.3 รัฐบาลจะเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ ครอบคลุม และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า สนับสนุนให้ประชาชนผลิตกระแสไฟฟ้าระบบโซลาร์เซลล์ใช้ในครัวเรือน และมีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตเกินกว่าความต้องการคืนให้รัฐ และจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

3.4 รัฐบาลจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกำกับดูแลให้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรดาวเทียมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีคุณภาพ มั่นคง ปลอดภัย ครอบคลุม เพียงพอ และเข้าถึงได้ทั้งในด้านพื้นที่และราคา เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนสร้างระบบนิเวศเพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลกลงทุนในอุตสาหกรรมที่จะเอื้อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมดิจิทัลตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

 

3.5 รัฐบาลจะเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ดึงแรงงานนอกระบบที่มีอยู่มากกว่าร้อยละ 50 เข้าสู่ระบบ ศึกษาความเป็นไปได้ของการปฏิรูประบบภาษีไปสู่แบบ Negative Income Tax ที่ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับ ‘เงินภาษีคืนเป็นขั้นบันได’ ตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

3.6 รัฐบาลจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ เร่งจัดทำแผนที่ที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ยุติความขัดแย้งและแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน ทั้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง และระหว่างภาครัฐและประชาชน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินเพิ่มขึ้น

 

พัฒนาคุณภาพชีวิต

 

รัฐบาลเชื่อว่าทุนมนุษย์เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ โดย

 

  1. รัฐบาลจะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เมื่อเติบโตก็ได้เรียนหนังสือที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางกีฬา และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษาโดยใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

 

  1. รัฐบาลจะยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการสร้าง Soft Power ของประเทศ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบและส่งเสริมวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่า เสริมทักษะเดิม (Reskill) เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับทักษะที่เพิ่มขึ้น เช่น ทักษะด้านการประยุกต์ใช้ AI รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนดึงศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

  1. รัฐบาลจะยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม รัฐบาลนี้จะต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้วในการยกระดับระบบสาธารณสุขไทยจาก ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ จากพื้นฐานความสำเร็จหลายสิบปีของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มาเป็น ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในระบบบริการสาธารณสุข และการขยายเครือข่ายการบริการระดับปฐมภูมิ พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดเวลาและค่าใช้จ่าย และสามารถรองรับความต้องการใหม่ๆ จากสถานการณ์สังคมสูงวัย รัฐบาลจะสานต่อโครงการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และใช้ศักยภาพของเครือข่ายสาธารณสุขในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อ พร้อมทั้งเพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด โดยเน้นการป้องกัน (Prevention) ให้ความรู้และสร้างความตระหนัก

 

  1. รัฐบาลจะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ โดยเร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้เข้าถึงสิทธิที่พึงมี ทั้งการสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการตั้งครอบครัว สิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต การเข้าถึงสวัสดิการ โดยเริ่มต้นจากสวัสดิการข้าราชการ รัฐบาลจะต่อยอดความสำเร็จของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพื่อให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ และในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย ดิฉันจะส่งเสริมความเท่าเทียมของชายและหญิงทั้งในระดับครอบครัวและในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนในประเทศไทยไม่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ อยู่ในสังคมที่สามารถเป็นทั้งแม่และเจริญเติบโตในหน้าที่การงานได้ไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย

 

นโยบายสร้างความยั่งยืน

 

ในการบริหารประเทศในยุคนี้ เราจะไม่สามารถมองผ่านความท้าทายและโอกาสของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปได้ รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนี้

 

  1. รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น เพื่อให้เป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิต และเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่และชุมชนท้องถิ่นในการจัดการสิ่งแวดล้อม และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลจะสร้างการมีส่วนร่วมในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะการแก้ปัญหา PM2.5 และการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลจะจัดการกับปัญหาการลักลอบกำจัดหรือฝังกลบกากอุตสาหกรรม / ของเสียอันตรายด้วยความเข้มงวด และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระบบ

 

  1. รัฐบาลจะยกระดับการบริหารจัดการน้ำ จะจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงได้ และจะเร่งให้น้ำถึงไร่นาด้วยการเพิ่มศักยภาพแหล่งกักเก็บน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำ ควบคู่กับการขยายเขตชลประทาน พร้อมทั้งเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับศักยภาพของลุ่มน้ำและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน

 

  1. รัฐบาลจะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลก และช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย

 

พัฒนาการเมือง

 

ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้ง แบ่งขั้วอุดมการณ์ที่รุนแรงมาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลนี้จำเป็นจะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชาติด้วยการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีนิติธรรมและความโปร่งใส ดังนี้

 

  1. รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ รวมถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

 

  1. รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency) สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการสร้างรายได้และสร้างโอกาสแก่ประเทศและประชาชน โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ ให้เป็นทุนทางสังคมและทางความคิดที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

 

  1. รัฐบาลจะปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เปลี่ยนผ่านราชการไทยไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล (Digital Government) ปรับขนาดให้มีความคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้งบประมาณและการปฏิบัติราชการ ปรับขนาดและกำลังคนภาครัฐให้สอดคล้องกับภารกิจ เปลี่ยนผ่านรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่แบบสมัครใจ เน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรภาครัฐให้เป็นคนดีและเก่ง มีคุณธรรม มุ่งมั่นและมืออาชีพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของรัฐ และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจในกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น และการดูแลชุมชน

 

  1. รัฐบาลจะยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น ปรับบทบาทภาครัฐเป็นการส่งเสริมสนับสนุน (Enable) การอำนวยความสะดวก (Facilitate) และการกำกับกฎกติกา (Regulate) เพื่อให้ประชาชนและเอกชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว พร้อมทั้งจะลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Ease of Doing Business) เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจหรือขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

โอกาสจากความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

รัฐบาลของดิฉันจะแปลงความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจไปสู่ยุทธศาสตร์ที่จะเสริมสร้างโอกาสให้ประเทศไทย และเกื้อกูลผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนมากที่สุด ดังนี้

 

  1. รัฐบาลจะรักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Non-Conflict) และจะดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างจริงใจและสร้างสรรค์ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานสากล โดยมีผลประโยชน์ของชาติเป็นแกนกลางสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับนานาประเทศเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน (Active Promoter of Peace and Common Prosperity) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูง ผู้ประกอบการ และนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย

 

  1. รัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกและการสร้าง Soft Power เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยเฉพาะตลาดใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งระบบทวิภาคี (Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral) และเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ยกระดับมาตรฐานของประเทศ เพิ่มบทบาทประเทศไทยบนเวทีโลก และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่รัฐบาลของดิฉันจะสานต่อจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา

 

นโยบายการเงินการคลัง

 

แม้ว่าการบริหารงานของรัฐบาลจะเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน อันเป็นปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่สั่งสมต่อเนื่องมากว่า 10 ปี และถูกซ้ำเติมด้วยโควิด-19 ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไร้ซึ่งมาตรการทางการเงินและการคลังที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าประเทศจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศใกล้เต็มเพดานที่ร้อยละ 70 ของ GDP ในปี 2570 จึงเป็นความท้าทายอันยิ่งยวดที่รัฐบาลจะต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเติบโตอย่างเข้มแข็งอีกครั้งโดยเร็ว โดยการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะเพิ่มรายได้ทั้งในระดับประเทศและระดับปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ การยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมถึงการเร่งบริหารทรัพย์สินของรัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เหล่านั้นจะกลายเป็นเม็ดเงินกลับเข้าสู่ระบบภาษี และจะกลับกลายเป็นศักยภาพทางนโยบายการคลัง (Fiscal Space) ที่เพียงพอสำหรับการเป็นแกนหลักในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และดำเนินนโยบายการคลังโดยบริหารค่าใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ การเร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายงบประมาณให้สามารถกระจายเม็ดเงินสู่เศรษฐกิจโดยเร็ว การพิจารณาใช้จ่ายจากแหล่งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนาประเทศ รวมทั้งพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ในการสนับสนุนการดำเนินนโยบายเพื่อลดภาระการลงทุนจากงบประมาณแผ่นดิน และการกู้เงินภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด

 

ท่านประธานรัฐสภาที่เคารพ ท้ายที่สุดรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ในนามนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ในนามรัฐบาล ดิฉันขอให้ความมั่นใจกับรัฐสภาแห่งนี้ว่าจะมุ่งมั่นตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า

 

เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทยและประเทศไทย เพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต

 

ขอบคุณค่ะ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X