×

ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งแรกของแพทองธาร มีอะไรที่ต้องจับตามอง?

04.10.2024
  • LOADING...
ประชุมผู้นำอาเซียน

การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 44 และ 45 จะจัดขึ้น ณ กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 8-11 ตุลาคมนี้ โดยเป็นครั้งแรกที่ผู้นำใหม่แห่งอาเซียน ทั้ง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย และ ลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ จะเข้าร่วมการประชุม ซึ่งมีขึ้นในห้วงเวลาแห่งความท้าทายและความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก

 

ในขณะที่ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จะร่วมประชุมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนส่งไม้ต่อให้กับ ปราโบโว ซูเบียนโต ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใหม่

 

วาระสำคัญที่คาดว่าจะเป็นไฮไลต์ของการประชุมมีทั้งด้านเศรษฐกิจ, การค้า และสงครามที่กำลังคุกรุ่นในตะวันออกกลาง, ยูเครน และเมียนมา ซึ่งไทยมีบทบาทใกล้ชิด

 

สำหรับแพทองธาร นี่คือการร่วมประชุมในกรอบอาเซียนครั้งแรก ซึ่งแน่นอนว่าเธอจะต้องถูกจับตามองต่อการแสดงบทบาทและท่าทีในประเด็นต่างๆ ระดับภูมิภาคและระดับโลก

 

ประชุมอะไรบ้าง

 

การประชุมรอบนี้ถือเป็นเวทีที่ สปป.ลาว จะส่งมอบหน้าที่ประธานอาเซียนต่อให้กับมาเลเซียในวันที่ 11 ตุลาคม โดยความพิเศษนอกเหนือจากวาระการประชุมที่สำคัญ ครั้งนี้ยังเป็นการมัดรวมจัดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 และ 45 แบบรวดเดียว

 

โดยการประชุมครั้งที่ 44 จะเป็นการประชุมแบบเต็มคณะ ส่วนการประชุมครั้งที่ 45 จะเป็นแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งจะเป็นการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และมีการหารือหลักๆ เกี่ยวกับประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งผู้นำใหม่อีกคนคือ ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะได้หารือนอกรอบกับ ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เป็นครั้งแรกในการประชุม

 

วาระที่ต้องจับตามอง

 

รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าการประชุมครั้งนี้มีวาระหลักที่จะหารืออยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

 

  1. ปฏิญญาอาเซียน

 

หารือเรื่องวิสัยทัศน์อาเซียน 2045 แม้ว่าจะเปิดตัวในปีหน้า แต่ร่างวิสัยทัศน์จะออกมาในปีนี้ เพื่อให้มีเวลา 1 ปีในการเตรียมการและประกาศใช้ในปี 2025 โดยเป็นวิสัยทัศน์กำหนดทิศทางอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้า จากเดิมแค่ 10 ปีที่มี Roadmap และ Action Plan ภายใต้เสาหลักด้านการเมืองความมั่นคง, เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม

 

แต่ครั้งนี้จะเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดเป้าหมาย 20 ปีในเสาหลักต่างๆ เช่น Blue Economy (เศรษฐกิจท้องทะเล), Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) และ Digital Economy (เศรษฐกิจดิจิทัล) ซึ่งเป็นเพียงไกด์ไลน์ และในแต่ละปีหรือแต่ละช่วงก็จะกำหนดยุทธศาสตร์ระยะสั้น-ระยะกลาง ซึ่งจะช่วยให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

 

  1. ปฏิญญาว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก

 

ดำเนินการต่อเนื่องจากที่ไทยเคยผลักดันไว้ในปี 2019 โดยปีนี้จะลงรายละเอียดว่าจะมีสถาปัตยกรรมภูมิภาค (Regional Architecture) อย่างไร เพื่อทำให้อาเซียนเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้จริงๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้นานาชาติมองอาเซียนในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องความมั่นคงหรือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ, ความร่วมมือทางทะเล, การเชื่อมต่อโลจิสติกส์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

  1. ปฏิญญาเวียงจันทน์

 

หารือเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เป็น Talent หรือมีศักยภาพสูง

 

ส่วนวาระอื่นๆ ที่จะถูกหยิบยกมาหารือระหว่างการประชุม ได้แก่ การรีไซเคิลพลาสติก, การประสานงานในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ความปลอดภัย และความมั่นคงทางความหลากหลายทางชีวภาพ, การคุ้มครองการใช้แรงงานเด็ก, การต่อต้านการทารุณกรรมเด็ก และการต่อต้านการค้ายาเสพติด ซึ่งรวมทั้งการป้องกันการลักลอบขนสารตั้งต้น

 

ทั้งนี้ในระหว่างการประชุม สปป.ลาว จะส่งมอบผลงานด้านเศรษฐกิจ 14 ด้าน ที่ผลักดันในฐานะประธานอาเซียนตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน, การแก้ไขช่องว่างทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการยกระดับข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน 3.0 โดยผลงาน 7 ด้านจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

 

ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์

 

ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ยังมีการจัดประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ครั้งที่ 19 ควบคู่ไปด้วย โดยประเด็นหลักในปีนี้คือภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เลวร้ายลงทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือที่ประชุมจะสามารถบรรลุฉันทมติและออกแถลงการณ์ร่วมต่อสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ได้หรือไม่

 

โดยเมื่อปีที่แล้วอินโดนีเซียในฐานะประธานการประชุมไม่สามารถบรรลุฉันทมติในการออกแถลงการณ์ร่วมของ EAS ได้ เนื่องจากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับถ้อยคำเกี่ยวกับสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งรัฐบาลจาการ์ตาเลือกใช้แถลงการณ์ของประธานการประชุมที่มีเนื้อหาในเชิงลบ และขอให้สมาชิก EAS ชาติอื่นไม่ต้องออกแถลงการณ์

 

ส่วนประเด็นการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเมียนมา รศ. ดร.ปิติ ระบุว่า ที่ประชุมจะมีการหยิบยกขึ้นหารือ แต่อาจไม่มีอะไรคืบหน้า และอาเซียนจะยังคงยึดแนวทางฉันทมติ 5 ข้อ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ

 

โดยมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ยังคงไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน แต่เป็นครั้งแรกที่เมียนมาส่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมแทน

 

แต่ รศ. ดร.ปิติ มองว่าอาจมีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงของปัญหาขัดแย้งในเมียนมาได้มากขึ้น หลังจากที่มาเลเซียรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปีหน้า

 

แพทองธารต้องมีกุนซือที่ดี

 

การประชุมสุดยอดอาเซียนถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับนายกฯ และรัฐบาลไทย ที่จะได้แสดงบทบาทและวิสัยทัศน์ในด้านต่างๆ ให้นานาชาติได้เห็น หลังจากที่บทบาทของไทยในเวทีโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าค่อนข้าง ‘ไม่โดดเด่น’

 

โดยการเปิดตัวของแพทองธารบนเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ถูกจับตามองว่าจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะฉายให้โลกเห็นถึงศักยภาพของไทย อีกทั้งยังสะท้อนภาพลักษณ์ของเธอในฐานะหนึ่งในผู้นำที่อายุน้อยที่สุดในโลก

 

ขณะที่ รศ. ดร.ปิติ มองว่าแพทองธารจะต้องมีกุนซือหรือที่ปรึกษาดีๆ ที่ร่วมการประชุมรอบนี้ โดยนั่งข้างหลัง 1 คน เพราะจะมีการพูดคุยกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และท่าทีของอาเซียนที่มีต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน, สงครามอิสราเอล ในฉนวนกาซาและเลบานอน ตลอดจนประเด็นภูมิเศรษฐศาสตร์, สงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี

 

ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อโลกและต่อประเทศไทย

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising