วานนี้ (15 พฤศจิกายน) ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมา ประเทศเปรู แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พบหารือทวิภาคีกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ กล่าวระหว่างการหารือว่า เมื่อได้มารับหน้าที่นายกฯ จึงเห็นความผันผวนในภูมิภาค ทำให้มีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เพื่อสันติสุขและความก้าวหน้า ซึ่งหลักการตามแผนริเริ่มการพัฒนาโลกของจีนเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ตรงกับหลักการของไทยและตอบโจทย์ความท้าทายในขณะนี้
ฉะนั้นขอยืนยันว่าไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อความรุ่งเรืองและสงบสุขของภูมิภาคและโลก โดยจะส่งเสริมโลกาภิวัตน์ ความเชื่อมโยงในการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและครอบคลุม รวมทั้งระบบตลาดเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรอบของเอเปคที่ไทยให้จีนเป็นเจ้าภาพในการประชุมเอเปคปี 2026 และความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้าถือเป็นปีทองของไทย-จีน ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์และวางแผนอนาคตไทย-จีน
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตอบรับการเสด็จเยือนจีนอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2568 ตามคำเชิญของรัฐบาลจีน จึงถือเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของความสัมพันธ์ไทย-จีน โดยนายกฯ หวังว่าจะมีโอกาสได้ต้อนรับ สีจิ้นผิง และภริยา ในการเดินทางไปยังไทยในปีหน้าด้วย
ขณะที่สีจิ้นผิงกล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ว่ามิตรภาพไทย-จีนมีลักษณะพิเศษ มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดในทุกระดับ และเชื่อว่าจะเจริญรุ่งเรืองลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกใน 50 ปีข้างหน้า ซึ่งจะขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม การศึกษา รวมถึงวิทยาการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ อวกาศ นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค
นอกจากนี้ นายกฯ กล่าวชื่นชมหลักการความก้าวหน้าของจีน และนโยบายกำลังผลิตคุณภาพใหม่ หรือ New Quality Productive Force ด้วยการเน้นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ประสิทธิภาพสูง และคุณภาพสูง สอดคล้องกับหลักการพัฒนาของไทย มุ่งส่งเสริมโลกาภิวัตน์ การค้าเสรีที่เปิดกว้าง ยึดมั่นในกติกาโลก ซึ่งไทยสนใจที่จะแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์การแก้ปัญหาความยากจน
รวมไปถึงนโยบายของจีนในการเผชิญความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การผลิตคุณภาพใหม่, เทคโนโลยีอวกาศ, อุตสาหกรรมแห่งอนาคต, พลังงานสะอาด และรถยนต์ EV และไทยยังพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนภายใต้แนวคิดข้อริเริ่มความศิวิไลซ์โลก หรือ Global Civilization Initiative (GCI) โดยส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ นายกฯ ยังกล่าวขอบคุณจีนที่ให้การสนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิก BRICS หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในทุกระดับ ทั้งการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD), การประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) รวมทั้งความร่วมมือสาขาใหม่ๆ ระหว่างกัน เช่น พลังงานสะอาด เทคโนโลยีดิจิทัล
ทั้งนี้ ยังยินดีนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย, ขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน การศึกษา เยาวชน, การเชื่อมโยงระหว่างภาคประชาชน, การแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามแดน และภัยออนไลน์ต่างๆ ด้วย
ช่วงท้ายนายกฯ ขอบคุณสีจิ้นผิงที่เห็นชอบให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ของจีนมาประดิษฐานชั่วคราวที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนในปี 2568
นอกจากนี้ คนไทยในโลกออนไลน์ยังตื่นเต้นที่จะได้ชมแพนด้าที่จีนจะส่งมอบให้กับไทยอีก 1 คู่ ที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อเป็นทูตสันถวไมตรีในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปีระหว่างไทย-จีน