วันนี้ (3 ตุลาคม) ที่กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ครั้งที่ 3 และกล่าวถ้อยแถลงบนเวที ACD ท่ามกลางผู้นำประเทศสมาชิก 35 ประเทศ
นายกฯ กล่าวถึงความสำเร็จของการจัดการประชุม ACD ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ ‘การทูตผ่านกีฬา’ (Sports Diplomacy) ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของการใช้กีฬาที่สามารถเชื่อมความแตกต่างและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของโลก ซึ่งความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์เมื่อปี 2022 เป็นตัวอย่างที่สำคัญ และแนวคิดนี้สอดคล้องกับจุดยืนของประเทศไทยที่จะส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก
ส่วนในประเด็นสถานการณ์ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในภูมิภาค ประเทศไทยมีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายลง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์ และด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับประชาคมระหว่างประเทศ ประเทศไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุด และขอให้ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมดโดยทันที เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ
นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการตอบสนองต่อความต้องการอาหารทั่วโลก และประเทศไทยเห็นว่าการประชุมในครั้งนี้ สมาชิก ACD จะได้ร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายทางการค้า และปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก
ทั้งนี้ในการเป็นประธาน ACD ของประเทศไทยในวันที่ 1 มกราคม 2026 ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการทำงานภายใต้กรอบ 6 เสาความร่วมมือ (Pillar of Cooperation) กันอย่างมียุทธศาสตร์ ผนวกกับความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่น ได้แก่ ASEAN GCC, BRICS, CICA และ SCO เพื่อร่วมกันสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก
นายกฯ เล็งเห็นว่า เวที ACD ในปีหน้าจะเป็น ‘เวทีหารือของเอเชีย’ (Converging Forum of Asia) และเน้นย้ำว่า ประเทศไทยในฐานะผู้เป็นสะพานเชื่อม ACD มุ่งหวังที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศสมาชิก เพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
ในโอกาสเข้าร่วมการประชุม ACD นายกฯ จะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ชีค ตะมีม บิน ฮะมัด อัษษานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ และเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทมกุฎราชกุมารและรองเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต พร้อมพบปะผู้นำในหลายประเทศ เช่น ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐทาจิกิสถาน