วันนี้ (24 พฤษภาคม) ที่ห้องวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2567 โดยมี แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่างๆ คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 11 สาขา ร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง
ภายหลังการประชุม แพทองธารแถลงข่าวผลการประชุม โดยแถลงร่วมกับ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านภาพยนตร์-ซีรีส์ และ อินทิรา ทัพวงศ์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านแฟชั่น โดยแพทองธารเปิดเผยว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จะรายงานความคืบหน้าการทำงานในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่นและภาพยนตร์ รวมถึงงานใหญ่คืองาน THACCA SPLASH: Soft Power Forum งาน Soft Power Forum ระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย
“เราจะปักหมุดประเทศไทยลงบนแผนที่โลก ให้ชาวโลกได้รู้ว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ไทยจะเป็นพื้นที่ของนักสร้างสรรค์ทั่วโลกมาร่วมทำงานกัน ซึ่งขณะนี้วัฒนธรรมไทยมีความพร้อมที่กระจายออกไปทั่วโลกให้ได้หลงเสน่ห์ และคนไทยพร้อมแล้วที่จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้แข็งแรง” แพทองธารกล่าว
สำหรับงาน SPLASH จะจัดขึ้นในวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และจะมีการรวบรวมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ทั้งจากในประเทศและทั่วโลก โดยประกอบด้วย 4 ส่วน คือ SPLASH Visionary Zone, SPLASH Creative Culture Pavilion, SPLASH Master Class และ SPLASH Activation Lounge
แพทองธารเปิดเผยว่า สำหรับ SPLASH Visionary Zone มี 4 เวที ประกอบด้วย
- Vision Stage: เวทีวิสัยทัศน์รัฐบาล วิสัยทัศน์ของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก นโยบายที่เราขับเคลื่อน ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในโลก รวมทั้งปฏิญญาและความร่วมมือที่จะเกิดขึ้น
- Pathway Stage: เวทีของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยจะนำความสำเร็จของทั่วโลกมาถอดบทเรียน มาวิเคราะห์ถึงวิธีการและแนวคิด เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและแรงบันดาลใจให้อุตสาหกรรมที่สร้างซอฟต์พาวเวอร์
- Performance Stage: เวทีสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ให้แสดงความสามารถ โดยมีการแสดงจากหลายอุตสาหกรรมทั้งศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ และดนตรี
- Podcast Studio: เวทีพอดแคสต์ที่สัมภาษณ์สดในงาน เจาะลึกมุมมองและแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกที่จะมาแชร์ประสบการณ์ในงาน
แพทองธารยังกล่าวถึงอีกส่วนหนึ่งของงานนั่นคือ SPLASH Creative Culture Pavilion ซึ่งโซนนี้จะเป็นนิทรรศการเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมี 3 นิทรรศการ ดังนี้
- THACCA Pavilion นิทรรศการของ THACCA (ทักก้า)
- นิทรรศการของทั้ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรม
- International Pavilion
แพทองธารกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมี SPLASH Master Class: ห้องเรียน Reskill Upskill ให้พี่น้องประชาชนที่สนใจ โดยจะมีห้องเรียนจากทั้งอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐ และยังมีพื้นที่สำหรับการ Hackathon เพื่อทดลองแข่งขันไอเดียกัน และสุดท้าย SPLASH Activation Lounge: พื้นที่สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อสร้างความร่วมมือในการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น เพราะงาน SPLASH จะรวมเอานักสร้างสรรค์ภาคเอกชนที่น่าสนใจมาไว้ในงานนี้
“ฝากพี่น้องประชาชนที่สนใจมาเรียนรู้มารู้จักซอฟต์พาวเวอร์ให้มากขึ้น เพราะซอฟต์พาวเวอร์ไม่ได้มีแค่นิยาม แต่เรายังมีกระบวนการอีกมากมาย มางาน THACCA SPLASH: Soft Power Forum ในวันที่ 28-30 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” แพทองธารกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 5 ยังมีวาระที่น่าสนใจ เช่น ในส่วนหลักสูตรของ OFOS ของทั้งอุตสาหกรรมแฟชั่น ภาพยนตร์และซีรีส์
โดยในด้านแฟชั่นมีการอบรมและพัฒนาบุคลากรภายใต้กิมมิก ‘Soft Power แฟชั่น Thailand Only’ 4 สาขา คือ Apparel, Jewelry, Beauty และ Craft โดยจะจัดอบรมในระดับบุคคลทั่วไป นิสิตนักศึกษา ทายาทปราชญ์ชาวบ้าน และในระดับโรงงานอุตสาหกรรม OEM โดยในระยะยาวจะเป็นการพัฒนาทักษะเดิมและสร้างทักษะขึ้นมาใหม่
โดยเน้นกระบวนการทำงานในการสร้างคนที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการผลิตผลงานและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล ผ่านการสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างการรับรู้ ในแบบ Thailand Only เพื่อปักหมุดแฟชั่นไทยเป็นหนึ่งในใจกลางตลาดโลกส่งต่อที่สุดของความคราฟต์ ผสมผสานความสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดแบบ Thailand Only เพื่อยกระดับเรื่องราวความคลาสสิกและความสร้างสรรค์ของวงการแฟชั่นสู่ระดับสากล ผ่านการสร้างการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ค่านิยมที่เพิ่มขึ้นรวมไปถึงการสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ
ส่วนในด้านของภาพยนตร์และซีรีส์นั้น จะมีการจัด OFOS Training Plan แบ่งออกเป็นการสร้างแหล่งความรู้ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านทางเว็บไซต์กลางของ OFOS เว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันภาพยนตร์ไทย สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ และสร้างหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานสำหรับมหาวิทยาลัย มัธยมศึกษา หรือโรงเรียนสายอาชีพ ที่ทำให้คนจบมาแล้วมีงานทำได้ในมาตรฐานเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมแบบ Local Workshop เป็นลักษณะของแคมป์ตามจังหวัดต่างๆ ตามหัวข้อ และ Central Workshop ที่จะจัดขึ้นเป็นอีเวนต์ เช่น ในงาน THACCA SPLASH