วันนี้ (18 กันยายน) ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘กรรมกรข่าว คุยนอกจอ’ ต่อกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการใช้งบประมาณเดินทางไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ 1,379,250 บาท ของปดิพัทธ์และคณะผู้ร่วมเดินทางรวม 12 คน ระหว่างวันที่ 21-24 กันยายน 2566 มีความเหมาะสมหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ยินดีให้ตรวจสอบอยู่แล้วตามนโยบายสภา โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน
ปดิพัทธ์กล่าวว่า การไปดูงานที่สิงคโปร์เป็นการต่อยอดจากคณะกรรมการขับเคลื่อนรัฐสภาโปร่งใสและสมรรถนะสูงที่ตนตั้งขึ้นมา เริ่มต้นพิจารณาว่า ในทวีปเอเชียมีสภาที่ไหนบ้างที่มีประสิทธิภาพสูง พบว่ามี 2 ที่ คือ ไต้หวัน และสิงคโปร์ แต่เนื่องจากนโยบายจีนเดียวของกระทรวงการต่างประเทศทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไต้หวันได้ สุดท้ายจึงเป็นสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบสภาแตกต่างจากไทย มีสมาชิกน้อยกว่าแต่เทคโนโลยีสูงกว่า เราสามารถไปเรียนรู้ได้ว่าเขาทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
โจทย์ของการไปดูงานคือ เพื่อเติมเต็มในสิ่งที่เรายังขาดอยู่ โดย 2 โจทย์ที่จะไปดูที่สิงคโปร์ คือ Smart Parliament และการจัดการปัญหาหมอกควัน เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ประสบปัญหานี้หนักหนากว่าประเทศไทยมาก แต่ใช้เวลา 10 ปีสามารถลดค่าฝุ่นลงได้ด้วยมาตรการหลายอย่าง ในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่ตนจะไปพบสภาลมหายใจเชียงใหม่ จึงคิดว่าควรรีบไปดูต้นแบบต่างๆ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีด้วย นอกจากนี้ จะได้ไปดูงานบริษัท GovTech (Government Technology) ซึ่งตามปกติไม่สามารถเข้าไปได้ ต้องทำเรื่องให้เป็นทางการ
นอกจากนี้ ตนจะไปพบคนไทยอีก 2 กลุ่ม คือ แคมป์แรงงานไทยในสิงคโปร์ และกลุ่มตัวแทนนักศึกษาไทยที่ National University of Singapore (NUS) ดูเรื่องอัตราการจ้างงาน
เมื่อถูกถามว่า รู้สึกอย่างไรที่เรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกมา โดยมุ่งชี้ไปที่ประเด็นการใช้งบประมาณ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ตนเคยถูกถามก่อนหน้านี้ว่าจะยกเลิกการดูงานทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งตนบอกว่าไม่ยกเลิก แต่จะดูเท่าที่จำเป็นและให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ต้องไปดูว่ากระบวนการของราชการมีขั้นตอนของกระทรวงการคลังที่ระบุว่า บุคคลระดับต่างๆ ต้องได้รับการดูแลให้เดินทางอย่างปลอดภัยและสมฐานะของประเทศอย่างไร
“ตอนที่ผมยังไม่ทราบระเบียบเหล่านี้ ผมก็เรียกเจ้าหน้าที่มาบอกว่าเดินทาง 2 ชั่วโมงครึ่ง บินด้วยสายการบินต้นทุนต่ำได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ไปทำการบ้านมาปรากฏว่าไม่ได้ เพราะมีระเบียบกระทรวงการคลังล็อกไว้ว่าบุคคล เช่น รัฐมนตรี, ผบ.เหล่าทัพ, ประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา จะได้รับการดูแลให้เดินทางโดยสายการบินประจำชาติ เป็นการเบิกแบบสูงสุด (Maximum) ตั้งเรื่องไว้ก่อน เพราะเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าถ้าใช้จริงจะเป็นเท่าไรแน่ ผมจึงให้นโยบายไปเลยว่าใช้ให้ถูกที่สุดเพราะสัมภาระไม่เยอะ
“ส่วนการนอนโรงแรมก็อย่าให้ถึงงบสูงสุดคือ 12,000 บาท เอาแค่ 7,000-8,000 ก็พอ เจ้าหน้าที่ไปทำการบ้านมา ได้โรงแรมที่เหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม เอกสารการเบิกเป็นการเบิกแบบเต็มที่ ตามสิทธิที่บรรจุในระเบียบกระทรวงการคลัง ดังนั้น ทั้งหมดมีเงื่อนไขอยู่ ต้องมีการพูดคุยให้ถูกต้องตามระเบียบ ส่วนเรื่องสายการบินเชื่อว่าเจ้าหน้าที่การคลังของสภาได้ทำการบ้านดีที่สุดแล้ว สรุปเป็นชั้นธุรกิจของการบินไทย”
เมื่อถูกถามว่า ประชาชนอาจตั้งคำถามว่าเหตุใดต้องเป็นชั้นธุรกิจ ปดิพัทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ขอยกตัวอย่าง ตนเคยเสนอให้การเดินทางของ สส. สามารถจองตั๋วเองแล้วมาเบิกได้ แต่สภามีเงื่อนไขกับเอเจนซีในการจองตั๋ว ซึ่งเรื่องนี้มี 2 มุม มุมหนึ่งถ้า สส. ต้องจัดการชีวิตตัวเองหมดก็อาจเดินทางไม่ทัน แต่พอใช้เอเจนซีเขาก็ให้เราได้ที่นั่งที่ดีที่สุด เป็น Priority Seat เช่นเดียวกับข้าราชการอื่นๆ ตนจะบอกว่าไม่รับอาหารบนเครื่องบินก็ไม่ได้ เพราะเบิกมาแล้ว ต้องใช้วิธีเซ็นว่าไม่รับอาหารแล้วค่อยคืนไป อย่างไรก็ดี ในตั๋วเครื่องบินเป็นแพ็กเกจรวมทั้งหมด
ปดิพัทธ์กล่าวต่อว่า ส่วนเหตุใดในคณะผู้เดินทางจึงเป็น สส. ก้าวไกลเยอะ เนื่องจากคณะนี้ไม่ได้เป็นกรรมาธิการที่มีสัดส่วนสมาชิกจากแต่ละพรรคชัดเจน ตอนที่ตนตั้งกรรมการ 4 ชุดเพื่อขับเคลื่อนงานสภาโปร่งใส ตนประกาศในสภาเลยว่าพรรคไหนสนใจมาร่วมกันให้ส่งรายชื่อมา ปรากฏว่าก็ไม่มีส่งมา
ตอนแรกคณะเดินทางมี 12 คน แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ 4 คน ตนจึงขอให้มี สส. รัฐบาล 4 คนไปด้วย แต่เป็นการติดต่ออย่างไม่เป็นทางการเพราะยังไม่มีวิป จึงเดินไปบอกพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยว่าขอพรรคละ 2 คน ให้เป็นคนที่สนใจกิจการสภา สนใจพัฒนาสภาให้ Smart ทางพรรคเพื่อไทยจึงส่งรายชื่อมา 2 คน คือ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ และ พชร จันทรรวงทอง ส่วนภูมิใจไทยส่งชื่อไม่ทัน แต่ต่อมาศรัณย์ติดภารกิจเรื่องวิปรัฐบาล จึงตัดสินใจอยู่ว่าจะเดินทางไปด้วยกัน แต่กลับก่อน หรือยกเลิกทริปไปเลย
ส่วน สส. พรรคก้าวไกลที่ร่วมเดินทางไปนั้นล้วนมีภารกิจทั้งสิ้น เช่น ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับ Smart Parliament โดยตรง เก่งที่สุดในเรื่องเทคโนโลยี ส่วน เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เป็นประธานของอนุกรรมการเกี่ยวกับ Young Parliament ดังนั้น ยืนยันว่าทั้งหมดมีที่มาที่ไปและเหตุผล
เมื่อถามว่า อาจมีการมองว่าเรื่องฝุ่นหรือเรื่องอัตราการจ้างงานเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ไม่เกี่ยวกับสภาหรือไม่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ในการบริหารประเทศ เรื่องฝุ่นแค่เรื่องเดียวมีกฎหมายที่ต้องออกหลายฉบับมาก และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ต้องเจรจากับอินโดนีเซีย ดังนั้น การที่สภากับรัฐบาลมีนโยบายใกล้เคียงกัน การออกกฎหมายและการดำเนินนโยบายก็จะใกล้เคียงกันไปด้วย ตนจึงคิดว่าเราสามารถทำงานคู่ขนานที่ทำให้ปัญหาระดับโลกสามารถแก้ไขอย่างมีเอกภาพได้
“ผมคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลไทยล้มเหลวมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา และปัญหาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เรารอไม่ได้ โดยผมจะส่งรายงานทั้งหมดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รับรองว่ารายงานการดูงานแน่นปึก และพร้อมเผยแพร่ต่อสาธารณะถ้ามีหน่วยงานใดร้องขอ”
เมื่อถามต่อว่า รู้สึกอย่างไรที่เหมือนโดนจับผิด ปดิพัทธ์กล่าวว่า เป็นความตั้งใจของเราอยู่แล้วที่จะทำสภาโปร่งใส ถ้าเราตั้งใจจะโปร่งใสก็ต้องพร้อมโดนตรวจสอบ ไม่ใช่ส่งเอกสารแบบถมดำ นอกจากนี้ คิดว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นี้ควรไปไกลกว่าตน ต้องไปดูว่าระเบียบกระทรวงการคลังที่ใช้อยู่ปัจจุบันโบราณหรือไม่ เพราะอยู่มาหลายสิบปี และมีการปรับปรุงเมื่อปี 2560 ดังนั้น ถ้ารัฐบาลนี้มีนโยบายรัดเข็มขัด การดูงานไม่ใช่แค่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่รวมถึงองค์กรอิสระ รวมถึงข้าราชการก็ต้องรัดเข็มขัดด้วย และปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลังไปด้วยกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นตนจะมีความยินดีอย่างยิ่ง
เมื่อถามว่า ยืนยันพร้อมให้ตรวจสอบใช่หรือไม่ ปดิพัทธ์กล่าวว่า ตรวจสอบได้เลย พร้อมแสดงใบเสร็จ เรื่องค่าใช้จ่าย เมื่อตนเดินทางกลับมาจะมีการสรุปอย่างชัดเจนว่าใช้กับเรื่องอะไร เท่าไรบ้าง หากใครต้องการตรวจสอบเรายินดีเปิดเผย