×

นักสันติวิธีมอง รัฐอำนาจนิยมทำให้คำสั่งนายกลายเป็นกฎหมาย วอนเจ้าหน้าที่อย่ามองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู

01.03.2021
  • LOADING...
นักสันติวิธีมอง รัฐอำนาจนิยมทำให้คำสั่งนายกลายเป็นกฎหมาย วอนเจ้าหน้าที่อย่ามองผู้ชุมนุมเป็นศัตรู

วันนี้ (1 มีนาคม) ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวานนี้ (28 กุมภาพันธ์) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนเดินขบวนไปบ้านพักหลวงของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ณ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ว่า

 

การชุมนุมในอดีตที่ผ่านมา ความรุนแรงและความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐและโครงสร้างอำนาจของรัฐ โดยเฉพาะมือที่สาม ซึ่งไม่เคยได้รับการสืบหาข้อเท็จจริงกันเสียทีว่ามือที่สามนั้นคือใคร ซึ่งก็เชื่อมโยงมาถึงปัจจุบันที่ไม่ได้แตกต่างเท่าไร โดยเฉพาะการที่รัฐยังสนับสนุนความรุนแรงอย่างเข้มข้นไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา 

 

แต่เราต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในรัฐบาลที่มีแนวโน้มความเป็นรัฐเผด็จการและยึดหลักอำนาจนิยม เพราะฉะนั้นกระบวนการแนวคิดมีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จอย่างเต็มที่เหมือนที่มีคำพูดว่าเจ้านายสั่งมา แต่คำสั่งเจ้านายไม่ได้เป็นกฎหมาย ถ้าเป็นคำสั่งที่เกินอำนาจหน้าที่และขอบเขตกฎหมายนั้นไม่ต้องทำก็ได้ แต่ด้วยโครงสร้างรัฐแบบอำนาจนิยมสุดโต่งแบบนี้คำสั่งของนายจึงถูกยึดถือราวกับเป็นกฎหมาย

 

“ความยับยั้งชั่งใจของเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ ตอนนี้แทบไม่มีเลย ดูได้อย่างเช่น การทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม คือไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่รัฐไปกระทืบเขาไม่ได้ มันมีหลักการอะไรจะไปกระทืบเขา แต่มันมีกระบวนการทางกฎหมายทั่วไปที่จะดำเนินการได้ แต่ว่าตอนนี้การกระทืบผู้ชุมนุมดูเหมือนราวกับทำได้ คุณจับเขาได้ แต่คุณไปกระทืบเขาไม่ได้ แต่พอเจ้าหน้าที่ทำเหมือนว่ามันทำได้ พฤติกรรมนี้มันจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ” ดร.เอกพันธุ์ กล่าว

 

ดร.เอกพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้มีมือที่สามเยอะไปหมด แต่เจ้าหน้าที่รัฐเพียงแต่บอกว่ามีมือที่สาม แต่รัฐไม่เคยจับได้เลยทั้งที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม คนที่มาป่วนตามหลักการมี 2 ประเภท

 

  1. คนที่ป่วนโดยไม่ตั้งใจ เพราะมีอารมณ์ร่วมตามสถานการณ์ 
  2. คนที่ตั้งใจมาป่วน ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่ามีความหน้าเดิม กลุ่มเดิม ใช้วิธีการไม่ต่างจากเดิมมากนัก เมื่อมาถึงจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น ซึ่งตนคิดว่าฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุมสามารถระแวดระวังคนกลุ่มนี้ได้ เพียงแต่ผู้ชุมนุมไม่มีอำนาจหน้าที่ไปจับกุมตัวป่วนเหล่านี้ได้ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องดำเนินการจับกุมมาดำเนินคดี

 

ดร.เอกพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำนั้นตนเห็นว่าทำให้ควบคุมสถานการณ์และกำหนดทิศทางของกิจกรรมได้ยาก ดังนั้นหากมีระบบจัดการและเตรียมความพร้อมรับการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐและมือที่สามให้มากขึ้น ช่วยระแวดระวังเพื่อลดความเสี่ยงลงได้ แต่ต้องยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ยึดหลักการควบคุมการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ทำให้โอกาสที่จะเกิดเหตุรุนแรงมีสูง

 

“ในเวลาเดียวกัน ผมคิดว่าถ้าผู้ชุมนุมสามารถที่จะสื่อสารประเด็นและข้อเรียกร้องให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้คนกลุ่มต่างๆ เกิดความคล้อยตามและร่วมมือสนับสนุนการเคลื่อนไหว ก็จะทำให้ข้อเรียกร้องต่างๆ ขับเคลื่อนสังคมได้มากยิ่งขึ้น” ดร.เอกพันธุ์ กล่าว

 

ดร.เอกพันธุ์ ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นสุดท้ายที่ตนคิดว่าสำคัญมากคือ บทบาทของสื่อมวลชน ซึ่งต้องรายงานข่าวไม่ให้เกิดการสร้างความเกลียดชัง และรายงานข่าวตามข้อเท็จจริง ไม่ว่าสื่อจะมีความคิดเห็นทางการเมืองไปในด้านใด 

 

ขณะที่ตรรกะโดยทั่วไป ขอเจ้าหน้าที่รัฐอย่ามองประชาชนเป็นศัตรู จงมองว่าประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้ ไม่ว่าเขาจะคิดเห็นตรงกับรัฐบาลหรือไม่ เขาก็ยังเป็นเจ้าของประเทศนี้อยู่ดี 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising