×

Pacific Rim: Uprising ที่ไม่มี กิลเลอร์โม เดล โตโร สนุกมากขึ้น แต่เสน่ห์ลดลง

22.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Pacific Rim: Uprising เล่าเรื่องหลังจากผ่านเหตุการณ์ปิดประตูมิติจากภาคแรกไปอีก 10 ปี เมื่อเหล่าไคจูสามารถผ่านประตูมิติเข้ามาอาละวาดในโลกได้อีกครั้ง และคราวนี้ต้องอาศัยอดีตไรเดอร์ที่พัวพันกับอาชญากรรมเกี่ยวกับซากเยเกอร์ รวมทั้งการรวมเหล่าเยเกอร์จากทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียวเพื่อจัดการเหล่าสัตว์ประหลาดยักษ์ออกไป
  • ฉากแอ็กชันใน Pacific Rim: Uprising ทำออกมาได้สนุก ฉับไว เข้าใจง่ายกว่าภาคแรก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้สูญเสียเสน่ห์ในแง่บทภาพยนตร์และดราม่าเข้มๆ ที่ กิลเลอร์โม เดล โตโร เคยสร้างมาตรฐานไว้ในภาคแรกไปพอสมควร
  • จอห์น โบเยกา ยังทำหน้าที่นักแสดงนำประเภทแบกหนังระดับมหาใหญ่ไว้ทั้งเรื่องได้ไม่ดีพอ และคงต้องพิสูจน์ตัวเองในอีกหลายบทบาทให้สมกับที่หลายคนคาดหวังไว้ว่าเขาคือคนที่จะขึ้นมาเป็น ‘วิลล์ สมิธ’ คนต่อไป
  • ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ Pacific Rim: Uprising แตกต่างจากภาคแรกอย่างชัดเจน เกิดจากการที่ หวังเจี้ยนหลิน มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของจีน ทุ่มเงินระดับ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อกิจการของค่ายหนัง Legendary Pictures ผู้ผลิต Pacific Rim ทั้งสองภาค เพราะถ้าพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งหมดจะเห็นได้เลยว่าทิศทางของหนังหลายส่วนมีการปรับเพื่อเอาใจกลุ่มคนดูฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะชาวจีนอย่างเห็นได้ชัด

 

 

ถ้าเทียบกับ Pacific Rim ภาคแรกที่ กิลเลอร์โม เดล โตโร บรรจงใส่ความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมหุ่นยักษ์และสัตว์ประหลาดขึ้นมาอย่างประณีต Pacific Rim: Uprising ของผู้กำกับที่มารับไม้ต่ออย่าง สตีเวน เอส. เดอไนต์ ยังทำได้ห่างไกลจากมาตรฐานของผู้กำกับยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์คนล่าสุดอยู่พอสมควร

 

เริ่มตั้งแต่เรื่องบทภาพยนตร์ที่ให้ความสำคัญน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคิดว่าเดล โตโร ได้วางพล็อตเรื่องที่สำคัญของการต่อสู้ระหว่างเหล่าเยเกอร์และไคจูจากนอกโลกไว้แข็งแรงดีแล้ว ภาคนี้เลยเลือกที่จะลดการอธิบายความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ต่างๆ ลงเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับมุกตลกและฉากแอ็กชัน (แต่สองจุดที่เพิ่มเข้ามาก็ถือว่าทำได้ดีและเพิ่มความสนุกให้กับหนังได้)

 

ทั้งที่ว่ากันตามตรง พล็อตเรื่องที่เขียนให้ตัวเอก (จอห์น โบเยกา) เป็นอดีตไรเดอร์ที่พัวพันกับอาชญากรรมเกี่ยวกับซากเยเกอร์ แต่กลับต้องมาเป็นนักขับเยเกอร์นำทัพออกไปต่อสู้กับไคจูที่กลับมาอาละวาดทำลายโลกอีกครั้งนั้นสามารถเพิ่มมิติต่างๆ ให้กับตัวละครไปจนถึงฉากดราม่าบีบเค้นอารมณ์ได้มากกว่านี้ แต่หนังกลับทิ้งส่วนนั้นไปแทบทั้งหมด เหลือไว้แต่เพียงอดีตสั้นๆ ที่ทำให้คนดูยังไม่ทันได้ผูกพันกับตัวละครนี้สักเท่าไร

 

แผลสดเรื่องบทยังไม่จบ ส่วนตัวมองว่าเหตุผลในการกลับมาทำภารกิจของเยเกอร์ ทั้งๆ ที่ประตูมิติถูกปิดไปแล้วในภาคแรกมันดูอ่อนด้อยชนิดที่เสียดายชีวิตแทนวีรบุรุษผู้กล้าจากภาคแรกที่อุตส่าห์ต่อสู้จนชีพวาย

 

ส่วนเหล่าเยเกอร์ลึกลับในภาคใหม่ที่หลายตัวออกแบบได้น่าสนใจ แต่กลับไม่มีการพูดถึงที่มาที่ไปให้คนดูรู้สึกอยากเอาใจช่วยเท่าไรนัก มันเหมือนการมีชีวิตอยู่ในเรื่องของพวกเขามีบทบาทแค่ต้องออกไปสู้ สู้ สู้ และสู้เพียงอย่างเดียว

 

ด้านงานดีไซน์หุ่นยักษ์ ถ้าเทียบกับภาคแรกของเดล โตโร ที่ผู้กำกับรวมเอาความรัก ความชอบ ความฝันที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเด็ก และทุ่มความคลั่งไคล้นั้นลงไปให้กับเยเกอร์และไคจูทุกตัว ซึ่งไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ภายนอกที่ละเอียดและสมจริง แต่เดล โตโร ยังออกแบบไปถึงลักษณะนิสัยภายใน รวมถึงเหตุผลในการตัดสินใจและการแสดงออกของทุกตัวเอาไว้ครบถ้วนสมบูรณ์ จุดนั้นเองที่ทำให้ Pacific Rim ภาคแรกกลายเป็น ‘งานคราฟต์’ ของวงการหุ่นเหล็กชนิดที่ก้าวล้ำนำหน้า Transformers ภาคหลังๆ ที่เริ่มสนิมจับได้อย่างรวดเร็ว ส่วนเยเกอร์ใน Pacific Rim: Uprising นั้นเป็นเพียงหุ่นยักษ์ข้างในกลวงเปล่าที่มีดีเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกที่เท่และเต็มไปด้วยอาวุธล้ำสมัยเท่านั้น

 

 

ในส่วนของฉากแอ็กชันที่เป็นแกนหลักของ Pacific Rim: Uprising ถ้ามองในมุมความสนุกและสะใจ ต้องบอกว่าภาคนี้อาจจะทำได้ตื่นตาตื่นใจกว่าเวอร์ชันของเดล โตโร ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการต่อสู้ที่รวดเร็ว โฉ่งฉ่าง เด็ดขาด และฉับไว ยิ่งถ้าใครมีพื้นฐานเคยอ่านมังงะหรือดูแอนิเมชันฝั่งญี่ปุ่นมาก่อนก็น่าจะให้คะแนนในจุดนี้ได้ไม่ยาก เพราะเหมือนเราได้เห็นฉากเหล่านั้นในสเกลที่ใหญ่และสมจริงมากยิ่งขึ้น

 

แต่ถ้ามองลงไปถึงความรู้สึกต่อตัวละคร อาจจะเรียกได้ว่าฉากการต่อสู้ใน Pacific Rim: Uprising นั้นทำได้ ‘ดี’ ในระดับเดียวกับความทรงจำสมัยเราดูอุลตร้าแมนหรือขบวนการยอดมนุษย์ต่อสู้กับสัตว์ประหลาดทั่วไปเท่านั้น

 

อย่าเข้าใจผิด ไม่ได้หมายความว่าหนังชุดอุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ไม่ดี แต่ในแง่โปรดักชันระดับ Pacific Rim ที่ใหญ่กว่ามากๆ (จากทุนสร้างทั้งหมด 150 ล้านเหรียญสหรัฐ) ตัวหนังน่าจะทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและมีอารมณ์ร่วมไปกับการต่อสู้ของตัวละครได้มากกว่านี้ ไม่ใช่ดูด้วยความรู้สึกว่าเดี๋ยวฝ่ายมนุษย์จะต้องชนะแน่ๆ ก็แค่รอว่าเมื่อไรเยเกอร์จะงัดไม้เด็ดออกมาปราบสัตว์ประหลาดให้หมอบราบคาบ แต่ขาดอารมณ์แบบภาคแรกที่สามารถทำให้คนดูได้ลุ้น เอาใจช่วย และได้อิ่มกับดราม่าความเป็นมนุษย์ในหนังหุ่นยนต์ไปพร้อมกันได้ด้วย

 

 

จอห์น โบเยกา นักแสดงผิวสีที่ได้รับโอกาสสำคัญในการรับบทหลักในภาคนี้ ถ้ามองโดยรวมถือว่าเขายังทำได้ตามมาตรฐานที่เคยทำเอาไว้ใน Star Wars สองภาคล่าสุด คือบทบู๊ทำได้ไม่แย่ การยิงมุกตลกก็ทำได้ดี แต่ถ้าพูดถึงความโดดเด่น เขาอาจจะยังดีไม่พอสำหรับนักแสดงที่ต้องแบกหนังใหญ่ในระดับนี้

 

เช่นเดียวกับใน Pacific Rim: Uprising ปัญหาของโบเยกาคือไม่สามารถดึงเสน่ห์หรือความเฉียบขาดของ ‘ภาวะผู้นำ’ ออกมาให้เราเชื่อได้ ยิ่งถ้ามองในมุมที่หลายต่อหลายคนกำลังเฝ้าจับตาว่าเขาคือคนที่จะก้าวขึ้นมาเป็น ‘วิลล์ สมิธ’ คนต่อไปก็ต้องบอกว่ายังห่างชั้นกันอีกหลายขุม โดยเฉพาะฉากดราม่าแบบเข้มๆ ที่โบเยกาต้องรีบปลดล็อกให้ได้ หากต้องการยกระดับพลังดาราและยืนระยะได้อย่างที่รุ่นพี่เคยทำเอาไว้

 

 

นอกจากคุณภาพของหนังที่คงจะต้องถกเถียงกันอีกหลายยกเมื่อเข้าโรงฉาย อีกเรื่องที่น่าสนใจซึ่งทำให้ Pacific Rim: Uprising แตกต่างจากภาคแรกอย่างชัดเจนนั้นเกิดจากการที่ หวังเจี้ยนหลิน มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของจีนทุ่มเงินระดับ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อกิจการของค่ายหนัง Legendary Pictures ผู้ผลิต Pacific Rim ทั้งสองภาค เพราะถ้าพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งหมดจะเห็นได้เลยว่าทิศทางของหนังหลายส่วนได้มีการปรับเพื่อเอาใจกลุ่มคนดูฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะชาวจีนอย่างเห็นได้ชัด เช่น การสร้างตัวละครเอเชีย (โดยเฉพาะคนจีน) ให้มีบทบาทสำคัญในระดับสูงของ PPDC (องค์กรที่รวมเหล่าเยเกอร์จากทั่วโลกเป็นหนึ่งเดียว) และที่ขาดไม่ได้เลยคือฉากแอ็กชันตูมตามที่ถูกจริตคนเอเชีย

 

เพราะฉะนั้นไม่ต้องเดาเลยว่าความนิยมจากคนดูฝั่งอเมริกาที่ขึ้นชื่อในเรื่องชาตินิยมจ๋า ประเทศของข้าต้องเก่งที่สุดแต่เพียงผู้เดียวนั้นย่อมลดลงอย่างแน่นอน แต่ที่น่าจับตาดูก็คือรายได้อย่างฝั่งประเทศจีนกลายเป็นตลาดใหญ่ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนในวงการภาพยนตร์มหาศาลจะเข้ามาชดเชยรายได้ที่หายไปจากฝั่งฮอลลีวูดได้มากขนาดไหน

 

ซึ่งถ้าการเดิมพันของ Legendary ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ นี่อาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการสร้างภาพยนตร์ทั้งของ Legendary เอง รวมไปถึงค่ายหนังอื่นๆ ที่อาจจะต้องให้ความสำคัญกับตลาดและรสนิยมของคนเอเชีย (โดยเฉพาะฐานคนดูประเทศจีน) ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่ามันจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการนำเสนอภาพยนตร์ ไล่ตั้งแต่พล็อตเรื่อง บท ตัวละคร หรือแม้แต่ฉากแอ็กชัน ฯลฯ ในยุคถัดจากนี้อย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X