×

วัคซีนโควิดของ Oxford-AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลกแล้ว

14.10.2021
  • LOADING...
Oxford-AstraZeneca

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า วัคซีนโควิดของ Oxford-AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Use Listing: EUL) จากองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว โดยการขึ้นทะเบียนดังกล่าวมีผลทันที และครอบคลุมถึงวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยก่อนหน้านี้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

โดย เจมส์ ทีก ประธานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า “AstraZeneca มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่องค์การอนามัยโลกได้ให้การรับรองวัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลในหลายประเทศจะให้การรับรองผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทยว่าเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว และตามมาตรการควบคุมการเดินทาง ผู้ที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวสามารถเดินทางระหว่างประเทศได้ แต่การรับรองวัคซีนโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ ยอมรับและรับรองวัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca เพื่อประโยชน์ในการเดินทางที่ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น”

 

ส่วน นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ระบุตอนหนึ่งว่า วัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทยในทุกรอบการผลิตนั้นได้ผ่านการตรวจรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่กำกับดูแล รวมถึงห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่วัคซีนชุดแรกที่ได้ทำการส่งมอบให้กับ AstraZeneca เธอยังระบุว่าผลการรับรองจากองค์การอนามัยโลกครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีที่ตอกย้ำถึงคุณภาพของวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ในฐานะศูนย์การผลิตวัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศใกล้เคียง

 

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดของ AstraZeneca ให้นำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก่อนที่ล่าสุดจะมีการเพิ่มเติมการรับรองวัคซีนป้องกันโควิดของ AstraZeneca ที่ผลิตในประเทศไทยโดยสยามไบโอไซเอนซ์ดังกล่าว

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X