องค์การการกุศล Oxfam เตือนว่า จำนวนคนจนอาจเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านคน หากไม่มีมาตรการเร่งด่วนในการช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19
ผลกระทบจากการชัตดาวน์เศรษฐกิจเพื่อชะลอการระบาดของไวรัส ได้เพิ่มความเสี่ยงที่อาจทำให้การต่อสู้กับปัญหาความยากจนต้องถอยหลังไป 1 ทศวรรษทั่วโลก ส่วนประเทศยากจนในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา, แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง อาจถอยหลังไป 30 ปี
รายงานระบุว่า รายได้ที่ลดลง 20% จากผลกระทบของภาวะถดถอยที่เกิดจากวิกฤตโควิด-19 อาจทำให้ประชากรประมาณ 548 ล้านคน เหลือรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน (ราว 180 บาทต่อวัน) ซึ่งเป็นเกณฑ์คำนิยามความยากจนของธนาคารโลก
งานวิจัยดังกล่าวจัดทำโดยมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอนและมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีการเผยแพร่ก่อนที่รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศ G20 รวมทั้งผู้นำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก จะประชุมทางไกลกัน เพื่อหามาตรการรับมือกับโควิด-19
The Guardian รายงานว่า วาระหลักของการประชุมขุนคลังกลุ่ม G20, IMF และธนาคารโลก คือการหารือเกี่ยวกับมาตรการบรรเทาหนี้ให้แก่ประเทศยากจน และพิจารณาเพิ่มเงินกองทุนฉุกเฉินให้กับ IMF ผ่านทางระบบสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่สามารถนำไปช่วยเหลือประเทศที่กำลังประสบปัญหาได้
ทั้งนี้ Oxfam ได้เรียกร้องให้นานาชาติออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน โดยการมอบเงินบริจาคให้แก่ผู้ที่ขาดรายได้และโอบอุ้มธุรกิจขนาดเล็กที่เสี่ยงเลิกกิจการ ซึ่งเงินดังกล่าวอาจมาจากมาตรการหลายรูปแบบ เช่น การยกเลิกหนี้มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ให้กับประเทศกำลังพัฒนา และสร้างกองทุน SDR อย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: