×

รายงาน Oxfam ชี้ สงคราม โควิด ปัญหาโลกร้อน ส่งผลวิกฤตหิวโหยเลวร้าย คร่าชีวิตประชาชน 11 คน ทุกๆ 1 นาที

09.07.2021
  • LOADING...
รายงาน-Oxfam

Oxfam องค์กรการกุศลระดับโลกที่มุ่งขจัดปัญหาความยากจน เผยรายงานวันนี้ ชี้ว่า ประชากรที่เสียชีวิตจากความหิวโหยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในปีที่แล้ว ซึ่งมีอัตราที่เร็วแซงหน้าผู้เสียชีวิตจากโควิด

 

รายงานชื่อ ‘ไวรัสความหิวโหยเพิ่มทวีคูณ’ ของ Oxfam ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 11 คนในทุกๆ 1 นาทีจากความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ ในขณะที่สัดส่วนผู้ที่เสียชีวิตจากภาวะขาดแคลนอาหารพุ่งพรวดขึ้นนับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิดทั่วโลก ส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิดนั้นอยู่ที่ราว 7 คนในทุกๆ 1 นาที

 

โดยรวมแล้วเวลานี้มีประชากร 155 ล้านคนทั่วโลกที่ดำรงชีวิตในขั้นวิกฤตความไม่มั่นคงทางอาหารหรือเลวร้ายยิ่งกว่า ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว 20 ล้านคน ขณะที่ Oxfam เตือนว่า วิกฤตความหิวโหยจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้วิกฤตความหิวโหยเลวร้ายลงนั้นมาจากสงครามและปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความอดอยากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นของโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากโควิด รวมถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายลงทุกขณะนั้น ได้ผลักให้ประชากรหลายสิบล้านคนเผชิญกับความหิวโหย

 

รายงานยังระบุด้วยว่า ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งขึ้น 40% ซึ่งเป็นระดับการปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

 

สำหรับประเทศที่เผชิญวิกฤตความอดอยากมากที่สุดนั้น ประกอบด้วยประเทศที่ยังติดพันสงครามกลางเมืองและความขัดแย้งภายใน เช่น อัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย ซูดานใต้ ซีเรีย และเยเมน

 

แอบบี แม็กซ์แมน ประธานและซีอีโอ Oxfam America กล่าวว่า “ความอดอยากยังคงถูกใช้เป็นอาวุธในการทำสงคราม ซึ่งทำให้พลเรือนขาดอาหารและน้ำ อีกทั้งขัดขวางการบรรเทาทุกข์ ประชาชนไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยหรือหาอาหารได้หากตลาดของพวกเขาถูกระเบิดโจมตี ขณะที่พืชผลและปศุสัตว์ถูกทำลาย”

 

นอกจากประเทศข้างต้นแล้ว รายงาน Oxfam ชี้ว่า มีบางประเทศที่กำลังกลายเป็นศูนย์กลางความหิวโหยแห่งใหม่ โดยที่ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารกำลังเลวร้ายลงทุกขณะ ซึ่งได้แก่ อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ซึ่งบางประเทศกำลังเผชิญวิกฤตการระบาดของโควิดขั้นรุนแรง          

 

ภาพ: Eva Marie Uzcategui / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising