Oxfam องค์กรการกุศลไม่แสวงหาผลกำไรในอังกฤษ ซึ่งขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายยุติความยากจนทั่วโลกเปิดเผยว่า วิกฤตการระบาดของโรคโควิดในช่วงกว่าสองปีที่ผ่านมา ทำให้คนรวยที่รวยอยู่แล้วรวยมากขึ้นเข้าขั้นมหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์
โดยรายงานของ Oxfam ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา มีเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นแล้วราว 573 คน ทำให้เศรษฐีพันล้านทั่วโลกทั้งหมดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,668 คน ซึ่งหมายความว่าในช่วงโควิดระบาด มีมหาเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นเฉลี่ยทุกๆ 30 ชั่วโมง
สำหรับเป้าหมายของรายงานฉบับนี้ ซึ่งอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมโดย Forbes มีขึ้นเพื่อกระตุ้นให้นานาประเทศทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง Oxfam เลือกที่จะเปิดเผยรายงานดังกล่าวในช่วงเวลาที่มีการประชุม World Economic Forum ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การประชุมครั้งใหญ่ที่ถือเป็นการรวมตัวกันของบรรดาผู้มั่งคั่งและเหล่าผู้นำระดับโลก
จากข้อมูลของ Oxfam พบว่า บรรดามหาเศรษฐีมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกันเพิ่มขึ้นถึง 3.8 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 42% มาแตะที่ 12.7 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงโควิด ซึ่งความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในตลาดหุ้น ที่สามารถคึกคักได้เพราะนโยบายกระตุ้นของภาครัฐที่อัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจโลก เพื่อลดผลกระทบทางการเงินจากวิกฤตการระบาดของโควิด อีกทั้งกลุ่มมหาเศรษฐีจากภาคอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานต่างมีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดีดตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า มหาเศรษฐีในภาคอาหารและการเกษตรได้เห็นความมั่งคั่งของตนเพิ่มขึ้นทั้งหมด 382,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 45% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา และมีมหาเศรษฐีด้านอาหารประมาณ 62 คนที่เพิ่มขึ้นมา
ขณะเดียวกัน ความมั่งคั่งสุทธิของบรรดามหาเศรษฐีในกลุ่มพลังงาน (น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 24% นับตั้งแต่ปี 2020
นอกจากนี้ เพราะวิกฤตการระบาด ทำให้มีมหาเศรษฐีจากอุตสาหกรรมยาเพิ่มขึ้น 40 คน จากบทบาทสำคัญในการต่อกรรับมือกับไวรัส ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมยาไม่ขาดสาย
ในส่วนของภาคเทคโนโลยีก็ไม่น้อยหน้า เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่แจ้งเกิดให้กับบรรดามหาเศรษฐีติดอันดับโลกมากมาย โดย 7 ใน 10 คนที่รวยที่สุดในโลกล้วนมาจากภาคเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX, เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ Amazon และ บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft ซึ่งบุคคลเหล่านี้สั่งสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 436,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 934,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสองปีที่ผ่านมา
แม็กซ์ ลอว์สัน หัวหน้านโยบายความเหลื่อมล้ำของ Oxfam กล่าวว่า ความมั่งคั่งที่พุ่งสูงขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปีแรกของการระบาด จากนั้นการขยายตัวก็ค่อนข้างทรงตัว ก่อนที่จะปรับตัวลดลงเล็กน้อย
ทั้งนี้ ปัญหาโควิดที่ซ้ำเติมให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น บวกกับวิกฤตเงินเฟ้อที่ดันให้ราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้น มีแนวโน้มทำให้ประชากรทั่วโลก 263 ล้านคนตกอยู่ในสภาพยากจนขั้นเลวร้ายในปี 2022 ซึ่งปัจจัยนี้จะฉุดรั้งความก้าวหน้าที่ดำเนินมาหลายสิบปี
ลอว์สันยอมรับว่าไม่เคยเห็นช่วงเวลาที่ความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างน่าหวาดหวั่น ขณะที่ความมั่งคั่งเติบโตพุ่งพรวดอย่างน่าตกใจเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์ ทำให้ในขณะที่ประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ เนื่องจากผลกระทบของโควิด รวมถึงราคาสินค้าจำเป็น ได้แก่ อาหาร และพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคนกลุ่มหนึ่งมีทุกอย่างไว้ในความครอบครองจนมากเกินพอ ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งรุนแรงตั้งแต่ก่อนเกิดโรคโควิดระบาดอยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก
ทั้งนี้ เพื่อสกัดกั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ให้ทวีความรุนแรง และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กับราคาอาหารและพลังงานที่แพงขึ้น Oxfam ได้ออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกปฏิรูปมาตรการภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีจากบรรดาบริษัทและบุคคลที่ร่ำรวยล้นเหลือเหล่านั้น
Oxfam ระบุในแถลงการณ์เรียกร้องให้เก็บภาษีชั่วคราว 90% สำหรับกำไรส่วนเกินของบริษัท เช่นเดียวกับภาษีแบบครั้งเดียวสำหรับความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี รวมถึงเสนอให้เก็บภาษีความมั่งคั่งถาวรกับคนที่รวยมากๆ ด้วย โดย Oxfam แนะให้เก็บภาษี 2% สำหรับผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 5 ล้านดอลลาร์ และเก็บภาษีที่ 5% สำหรับผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินมูลค่าสุทธิที่สูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว จะทำให้ทั่วโลกสามารถระดมทุนได้ถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่ารัฐบาลหลายประเทศไม่สามารถออกนโยบาย และบังคับใช้มาตรการภาษีดังกล่าวได้ แต่เพื่อให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดย กาเบรียลา บุชเชอร์ (Gabriela Bucher) กรรมการบริหาร Oxfam International เตือนว่า ความก้าวหน้าหลายสิบปีในการต่อสู้กับความยากจนขั้นรุนแรงกำลังกลับตาลปัตร ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของต้นทุนในการดำรงชีวิตอยู่ ที่ทำให้แทบจะเอาตัวไม่รอด
อ้างอิง: