ผลการศึกษาล่าสุดที่นำโดยมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ ซึ่งศึกษาในกลุ่มผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป พบว่า การตอบสนองสูงสุดของแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech โดสที่ 2 ห่างจากโดสแรกเป็นเวลา 12 สัปดาห์ สูงกว่าในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนตัวนี้โดยเว้นระยะห่างระหว่างโดสเพียง 3 สัปดาห์ โดยกลุ่มแรกมีระดับของแอนติบอดีคิดเป็น 3.5 เท่าของกลุ่มหลัง
ขณะเดียวกันในการตอบสนองของที-เซลล์ ซึ่งก็มีบทบาทในการสนับสนุนและรักษาการสร้างแอนติบอดี ทีมวิจัยก็พบว่า สัดส่วนของกลุ่มผู้ที่เว้นระยะห่างระหว่างโดส 3 สัปดาห์ ร้อยละ 60 มีการตอบสนองของที-เซลล์ ที่ยืนยันแล้วใน 2-3 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 2 แม้ว่าใน 8-9 สัปดาห์หลังจากนั้นสัดส่วนดังกล่าวจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 15 ก็ตาม ส่วนสัดส่วนของกลุ่มผู้ที่เว้นระยะห่างระหว่างโดส 12 สัปดาห์ที่แสดงการตอบสนองของที-เซลล์ อยู่ที่ร้อยละ 8-9 ใน 5-6 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนโดสแรก และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31 หลังจากรับวัคซีนโดสที่ 2 ไป 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผันแปรในการตอบสนองนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังไม่ถูกพิจารณาตรวจสอบ (Peer-Reviewed) โดยมีผู้ร่วมการศึกษานี้ 172 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ที่อาศัยอยู่อย่างอิสระ คณะผู้วิจัยสรุปตอนหนึ่งว่า การขยายระยะห่างระหว่างโดสของวัคซีนตัวนี้อาจทำให้มีศักยภาพในการเสริมสร้างและขยายภูมิคุ้มกันแบบพึ่งแอนติบอดี แต่จำเป็นต้องมีการติดตามเพิ่มเติมเพื่อประเมินภูมิคุ้มกันในระยะยาว ตลอดจนการป้องกันทางคลินิกในขณะนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้วัคซีนของ Pfizer-BioNTech ได้รับการอนุญาตให้ใช้โดยเว้นระยะระหว่างโดสที่ 3 สัปดาห์ ทว่า หลายประเทศรวมถึงสหราชอาณาจักรเลือกที่จะขยายช่วงระยะเว้นระหว่างโดสให้เพิ่มขึ้นเป็น 12 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มร้อยละของประชากรที่จะได้รับวัคซีนโดสแรกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การศึกษาในครั้งนี้จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการทำให้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้วัคซีนนั้นเหมาะสมมากขึ้น ตลอดจนช่วยแนะแนวทางนโยบายการให้วัคซีนได้
และก่อนหน้านี้เช่นกันที่มีการศึกษาการเว้นระยะการให้วัคซีนมาแล้ว แต่ครั้งนั้นได้ผลเป็นประสิทธิภาพของวัคซีนภายใต้สถานการณ์ในอุดมคติที่มีการควบคุม (Efficacy) และเป็นวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca โดยงานวิจัยของคณะนักวิจัยอีกคณะหนึ่งที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุผลจากการวิเคราะห์เชิงสำรวจ (Exploratory Analyses) ว่า ค่า Efficacy ของวัคซีน Oxford-AstraZeneca ตั้งแต่วันที่ 22-90 หลังจากวันที่ให้วัคซีนมาตรฐานจำนวนหนึ่งโดสนั้นอยู่ที่ร้อยละ 76 ส่วนในหมู่ผู้ร่วมการศึกษาที่ได้รับวัคซีนโดสที่ 2 และได้รับโดยเว้นระยะห่างจากโดสแรกอย่างน้อย 12 สัปดาห์ ค่า Efficacy จะอยู่ที่ร้อยละ 81.3 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนโดสที่ 2 แต่ได้รับโดยเว้นระยะห่างจากโดสแรกน้อยกว่า 6 สัปดาห์ โดยกลุ่มหลังนี้พบค่า Efficacy เพียงร้อยละ 55.1
ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เป็นคุณลักษณะพิเศษของวัคซีนสองตัวนี้ เพราะนอกจากจะสามารถป้องกันการเจ็บป่วย ติดเชื้อ และแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ฉีดเข็มแรกแล้ว การยืดระยะเวลาการฉีดเข็มที่สองออกไปกลับได้ผลดีขึ้นไปอีก แต่ไม่แนะนำให้ทำกับวัคซีนตัวอื่น เพราะวัคซีนบางตัวหากยังไม่ฉีดเข็มที่ 2 ก็ไม่ค่อยช่วยอะไรนัก และไม่ได้หมายความว่าแนะนำให้ยืดระยะเวลาฉีดวัคซีน Pfizer-BioNTech ออกไป เพราะข้อมูลการศึกษาก่อนหน้านี้หลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าในระดับตัวบุคคล การฉีดเข็มสองยังให้ประสิทธิภาพการป้องกันการเจ็บป่วย ติดเชื้อ แพร่เชื้อ สูงกว่าการฉีดแค่เข็มเดียวอยู่ แต่ข้อมูลจากการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษนี้อาจใช้ในการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายในการกระจายวัคซีนเป็นวงกว้างในช่วงแรกไปก่อน ในกรณีที่ต้องการควบคุมการระบาดและปริมาณวัคซีนยังมีไม่มากนัก แต่หากไม่มีปัญหาการระบาดหรือวัคซีนมีมากพอ การฉีด 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์ ยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
ภาพ: Jeenah Moon / Getty Images
อ้างอิง: