วันนี้ (14 เมษายน) สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงปริมาณการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ เทศกาลสงกรานต์ 2567 ประจำวันที่ 13 เมษายน (สะสม 3 วัน) ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 8,065,992 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
โดยระบบการขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 45.28% รองลงมาเป็นระบบขนส่งทางถนน 33.80% ถัดมาเป็นอากาศ 11.49% และสุดท้ายระบบขนส่งทางน้ำ 9.42%
สุริยะระบุว่า ทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ยังคงดำเนินงานและปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้ประชาชน ซึ่งภาพรวมจากระบบการเดินทางและระบบ TRAMS พบว่า ระบบขนส่งสาธารณะทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ และดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมาก
โดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่
- ภาคกลาง: ทางอากาศ (ขาออก) 133,720 คน
- ภาคใต้: ทางถนน 105,897 คน
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน): ทางถนน 121,291 คน
- ภาคเหนือ: ทางถนน 74,490 คน
- ภาคตะวันออก: ทางถนน 58,974 คน
ขณะที่การจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 10 เส้นทาง มีปริมาณ 3,137,863 คัน เพิ่มขึ้น 2.78% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนมีปริมาณ 4,357,619 คัน ลดลง 3.48%
ในส่วนการตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 221 แห่ง มีการตรวจรถ 43,123 คัน พบบกพร่อง 8 คัน และสั่งเปลี่ยนรถ 8 คัน ตรวจผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 3,123 คน ไม่พบแอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติด
สำหรับรถไฟ มีการตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน 202 คน ไม่พบแอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติด และการตรวจความพร้อมท่าเรือ / แพ 161 แห่ง ตรวจเรือ 2,686 ลำ พบข้อบกพร่อง 8 ลำ ได้สั่งห้ามพร้อมทั้งเปรียบเทียบปรับทั้ง 8 ลำ และตรวจผู้ปฏิบัติงาน 3,868 คน ไม่พบแอลกอฮอล์หรือสิ่งเสพติด
สุริยะกล่าวต่อว่า สำหรับอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม รวม 703 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 88 คน บาดเจ็บ 762 คน มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุดคือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 416 ครั้ง คิดเป็น 59% ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ 371 ครั้ง บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุดคือ ทางตรง 502 ครั้ง คิดเป็น 71% จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ นครราชสีมา 7 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุดคือ กรุงเทพฯ 38 ครั้ง
โดยสรุปเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 4% จำนวนผู้เสียชีวิตไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 4% ส่วนโครงข่ายทางรางเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต