×

ชวนสำรวจความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์ไทย ผ่านนิทรรศการ Over the Rainbow ต้นธารสายรุ้ง

15.06.2023
  • LOADING...
Over the Rainbow

หอภาพยนตร์ต้อนรับเดือนแห่งความภาคภูมิใจ พร้อมจัดนิทรรศการ Over the Rainbow ต้นธารสายรุ้ง: ประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศในหนังไทย เพื่อพาผู้ชมย้อนเวลากลับไปยัง ‘ต้นธาร’ ของการนำเสนอภาพความหลากหลายทางเพศในภาพยนตร์ไทย ผ่านข้อมูลประวัติศาสตร์ ภาพ โปสเตอร์ และคลิปภาพยนตร์หาชมยาก โดยเริ่มเปิดให้ทุกคนเข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้ – 8 ตุลาคม 2566 ณ ห้องนิทรรศการชั้น 2 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.30-17.30 น. ยกเว้นวันจันทร์ 

  

  

นิทรรศการต้นธารสายรุ้ง เริ่มต้นจากสมมติฐานว่า คนดูภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่มักเชื่อว่าหนังที่แสดงภาพ ‘เกย์’ ‘กะเทย’ หรือ ‘ทอม’ เรื่องแรกของไทยคือ เพลงสุดท้าย (2528) ด้วยความโด่งดังและเป็นตำนาน ทั้งที่ตามข้อมูลจริงแล้ว การแสดงภาพความลื่นไหลทางเพศหรือการสร้างตัวละคร ‘ข้ามเพศ’ มีมานานก่อนหน้านั้นหลายทศวรรษ  

 

  

ภายในนิทรรศการจึงทำหน้าที่พาผู้ชมย้อนไปสำรวจวิธีคิดและภาพจำของตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศในยุคเริ่มต้นของภาพยนตร์ไทย เช่น ตัวละครหลากหลายทางเพศในฐานะผู้สร้างเสียงหัวเราะให้คนดู การใช้ความหลากหลายทางเพศมาเป็นจุดขายในภาพยนตร์ การใช้ตัวละคร LGBTQIA+ ในบทเพื่อนสนิทนางเอก การสร้างตัวละครนางเอกที่สับสนอัตลักษณ์เพศตัวเองจนมาเจอพระเอก รวมไปถึงตัวละครหลากหลายทางเพศที่เป็นผู้ร้ายที่คุกคามกลุ่มคนรักต่างเพศ และสมควรจะต้องถูก ‘แก้ไข’ พฤติกรรม 

 

 

พร้อมหยิบยกภาพยนตร์ไทยหลายสิบเรื่องมานำเสนอให้ผู้ชมได้เห็นภาพรวมอย่างครบถ้วนรอบด้าน เช่น Trick Cinematograph หนังทดลองปี 2470 ถ่ายโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ทรงใช้เทคนิคด้านภาพยนตร์เพื่อสลับให้หัวนักแสดงชายอยู่บนร่างกายผู้หญิงและหัวผู้หญิงอยู่บนร่างกายผู้ชาย อันเป็นภาพบันทึกแรกของ ‘การข้ามเพศ’ ส่วนภาพยนตร์สั้นเรื่อง กะเทยเป็นเหตุ (2497) เป็นหนังไทยที่นำเสนอตัวละคร ‘กะเทย’ ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุของหอภาพยนตร์ 

 


 

นอกเหนือจากนี้ยังนำเสนอข้อมูลจากภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่โดยรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้เป็นหนัง LGBTQIA+ เช่น เศรษฐีอนาถา (2499) ที่แสดงฉาก ‘บาร์กะเทย’ เป็นครั้งแรก เก้ามหากาฬ (2507) หนังบู๊ที่เป็นเรื่องของตำรวจที่ต้องปลอมตัวเป็นกะเทยเพื่อสืบจับผู้ร้าย กุ้งนาง (2519) หนังที่ว่าด้วยผู้หญิงที่ถูก ‘สัมผัส’ โดยตัวละครชาย และเพิ่งรับรู้ได้ว่าเธอเป็นหญิง

 

 

รวมทั้งภาพยนตร์ที่บ่งบอกค่านิยมเดิมว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศสมควรถูก ‘รักษา’ และปรับพฤติกรรม เช่น สวัสดีคุณครู (2521) และ วัยเรียนเพี้ยนรัก (2528) และกลุ่มหนังที่ตัวละครหลากหลายทางเพศถูกนำเสนอในฐานะตัวร้ายอันมีพฤติกรรมที่คุกคามทางเพศตัวละครเอก มีองค์ประกอบของฉากที่ขับเน้นความ ‘วิปริต’ ของตัวละคร หรือมีอารมณ์ที่รุนแรง หลายตัวละครเกี่ยวพันกับการฆาตกรรม เช่น คนกินเมีย (2517), เทวดาเดินดิน (2518), ช่องว่างระหว่างหัวใจ (2519) 

 

  

นอกเหนือจากนิทรรศการต้นธารสายรุ้ง ทางหอภาพยนตร์ยังมีการจัดโปรแกรมฉายภาพยนตร์ Thai Queer Cinema Odyssey การเดินทางของหนังเควียร์ไทย นำเสนอภาพยนตร์ว่าด้วยความหลากหลายทางเพศให้ทุกคนได้ชมตลอดเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.fapot.or.th/main/news/947

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X