ชัยชนะของพรรคเดโมแครตแบบกวาดเรียบในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกสองที่ในรัฐจอร์เจียเมื่อวันที่ 5 มกราคม ส่งผลให้พรรคเดโมแครตสามารถกลับมาครองเสียงข้างมากได้ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอีกครั้ง ในแวดวงการเมืองและการเงินนิยมเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Blue Wave ซึ่งแทนสีของพรรคเดโมแครต (ในขณะที่ Red Wave แทนชัยชนะแบบกวาดเรียบของพรรครีพับลิกัน) แต่การเกิด Blue Wave ของสภาคองเกรสในรอบนี้จะเป็นเพียง Blue Wave แบบอ่อน คือ จำนวน ส.ส. ของพรรคเดโมแครต-รีพับลิกันอยู่ที่ 222-212 คน และจำนวน ส.ว. ของพรรคเดโมแครต-รีพับลิกันอยู่ที่ 50-50 คน
ตรงนี้เอง หากเกิดการโหวตร่างงบประมาณหรือร่างกฎหมายใดๆ ที่มีผลคะแนนโหวตของวุฒิสมาชิกอยู่ที่ 50 ต่อ 50 รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส (ในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง) จะสามารถโหวตตัดสินชี้ขาดได้ จึงมองว่าในภาพรวม การผลักดันนโยบายของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนน่าจะราบรื่นมากขึ้นกว่าในกรณีที่ไม่สามารถครองเสียงข้างมากทั้งสองสภาได้ ในยุคไบเดน และ Blue Wave ด้านปัจจัยบวกต่อตลาดการเงิน ผมมีมุมมอง Bullish กับตลาดหุ้นมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นในสหรัฐฯ ที่จะออกมาได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นในปีนี้ และมองภาพต่อเนื่องกระแสการเปลี่ยนกลุ่มหุ้น (Sector/Style Rotation) จากหุ้นกลุ่ม Growth/Defensive ไปหุ้นกลุ่ม Cyclical/Value และกลุ่ม Laggard เช่น กลุ่ม Industrials, Materials, Financials และ Energy และสไตล์หุ้น Large Cap ไปยัง Mid-Small Cap ตามความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ US Bond Yield ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากเงินเฟ้อคาดการณ์ที่จะเร่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ด้านปัจจัยลบต่อตลาด ผมมองว่าประเด็นการขึ้นภาษีของพรรคเดโมแครต ไม่ว่าจะเป็น Corporate Tax และ Capital Gain Tax รวมถึงการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ (หุ้นกลุ่ม FAAMG: Facebook, Apple, Amazon, Microsoft, Google) จากกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Antitrust Law) จะยังไม่ใช่ Priority หลักของประธานาธิบดีไบเดน โดยเฉพาะการขึ้นภาษีที่อาจทำได้ยากในช่วงหลังวิกฤต ทำให้มองว่าหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ จะยังไม่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้
สำหรับธีมการลงทุนหุ้นทั่วไป แม้ว่าข่าวความคืบหน้าวัคซีนจะทำให้เกิดภาพ Sector/Style Rotation ทั้งในตลาดหุ้นโลกและหุ้นสหรัฐฯ แต่หุ้นเติบโต (Growth) เช่น หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ ยังมีความน่าสนใจจากความสามารถในการทำกำไร งบดุลที่แข็งแกร่ง และเป็น Disruptive Sector โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่สหรัฐฯ ยังเผชิญการระบาดหนัก หุ้นกลุ่มนี้จะยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากนักลงทุนมีสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯ มากแล้ว ยังคงแนะนำให้ทยอยปรับพอร์ตและเพิ่มสัดส่วนหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยเฉพาะ EM Asia ซึ่งค่อนข้างได้อานิสงส์มากในยุคไบเดน และ Blue Wave (อ่านเพิ่มเติมที่ The Standard Wealth Opinion: ประธานาธิบดีไบเดน จุดเปลี่ยนนโยบายสหรัฐฯ กระทบเศรษฐกิจ-การลงทุนหุ้นเอเชียอย่างไร)
ส่วนธีมการลงทุนโดยเฉพาะในยุคไบเดน และ Blue Wave ที่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามคือ ธีม ESG (Environment, Social, Governance) แม้ ESG ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่ตลาดการเงินโลกจะให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่สหรัฐฯ ต้องการที่จะกลับมายืนหนึ่งในเวทีโลกอีกครั้ง หลังจากที่โดดเดี่ยวมาตลอด 4 ปีในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ นอกจากนี้ หากพิจารณาผลการดำเนินงานของบริษัท และกองทุนที่ยึดหลักและได้คะแนน ESG สูง ก็มักจะให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นในระยะยาว
ธีมที่อยากเน้นเป็นพิเศษคือ ธีมพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด เนื่องจากธีมนี้จะสำคัญมากขึ้นหลังสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นเทรนด์ที่จะมีความชัดเจนมากขึ้น จากการที่ทั้งสหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจทั่วโลกตั้งเป้าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เหลือศูนย์ (Carbon Neutrality) ในอนาคต ซึ่งในยุคของไบเดน และ Blue Wave มีแนวโน้มจะผลักดันแนวคิดนี้ให้เกิดในสหรัฐฯ ได้เร็วกว่าในยุคของ Red Wave สำหรับกองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ETF (Exchange Traded Fund) ที่นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นตามธีมไบเดน และ Blue Wave ที่ผมจะมาแนะนำในบทความนี้ นอกจากจะล้อไปกับธีมการผลักดันนโยบายสำคัญในช่วงหาเสียงของประธานาธิบดีไบเดนแล้ว ยังเป็นกองหุ้น ETF ที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมในปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งรายละเอียดมีทั้งหมด 4 ธีมย่อย ดังนี้
1) ธีมการลงทุนในหุ้นพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน ซึ่งผมมองว่าเป็นธีมหลักและน่าจะมาแรงที่สุดในปีนี้ พร้อมการกลับมารอบใหม่ของสหรัฐฯ โดยกองหุ้น ETF ที่น่าสนใจ ได้แก่ iShares Global Clean Energy ETF (ICLN) และ First Trust NASDAQ Clean Edge Green Energy (QCLN) ซึ่งทั้งสองกองสามารถทำผลงานได้ยอดเยี่ยม และปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 100% ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม Renewable Electricity & Energy และ Semiconductor Equipment ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง ประกอบกับคำมั่นที่ประธานาธิบดีไบเดนต้องการนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วม Paris Agreement จะยิ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญและโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานยั่งยืน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มที่จะสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล
2) ธีมการลงทุนหุ้นเทคโนโลยีแห่งอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์และเติบโตอย่างมากในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่ และกองหุ้น ETF ยอดนิยมคงหนีไม่พ้น ARK Innovation ETF (ARKK) และ ARK Fintech Innovation ETF (ARKF) ซึ่ง ARKK จะลงทุนใน Disruptive Innovation เช่น Cloud Computing, E-Commerce, Molecular Diagnostics, Gene Therapy, Big Data & Machine Learning, Digital Media ฯลฯ ที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง และ ARKF จะเน้นลงทุนในนวัตกรรม Fintech เช่น Transaction Innovations, Blockchain, Funding Platforms ฯลฯ ในปีที่ผ่านมา ทั้งสองกองมีผลการดำเนินงานที่ยอดเยี่ยม โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 160% และ 106% ตามลำดับ ประธานาธิบดีไบเดนเองก็ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการให้เงินสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนาในประเทศ และต้องการที่จะตั้งงบสนับสนุนสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีสหรัฐฯ โดยเฉพาะอีกด้วย
3) ธีมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ กองหุ้น ETF ที่น่าสนใจ ได้แก่ Global X Lithium & Battery Tech ETF (LIT) และ KraneShares Electric Vehicles and Future Mobility Index (KARS) โดย LIT จะเน้นการลงทุนในบริษัทชั้นนำที่ทำเหมืองลิเทียม การผลิตลิเทียมและการผลิตแบตเตอรี่โดยเฉพาะ ซึ่งลิเทียมเป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน มีบทบาทสำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การจัดเก็บพลังงาน รวมถึงอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ในขณะที่ KARS จะเน้นลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รวมถึงบริษัทที่มีโครงการที่จะเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนของยานพาหนะในอนาคต และวิธีการขนส่งรูปแบบใหม่ทั้งสำหรับผู้โดยสารและสินค้า โดยผลการดำเนินงานของทั้งสองกองก็ยอดเยี่ยม เพราะสามารถปรับเพิ่มขึ้นราว 122% และ 68% ตามลำดับในปีก่อน ด้านประธานาธิบดีไบเดนเองก็มีแนวคิดสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม Electric Vehicle และ Future Mobility ในสหรัฐฯ ด้วยการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิต EV และสถานีชาร์จในประเทศ
4) ธีมการลงทุน Internet Technology & E-commerce นโยบายของประธานาธิบดีไบเดนจะเน้นด้านการพัฒนาระบบโครงข่ายสาธารณูปโภค การพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต และ 5G ในสหรัฐฯ โดยกองหุ้น ETF ที่น่าสนใจ ได้แก่ O’Shares Global Internet Giants (OGIG) และ ProShares Long Online Short Stores (CLIX) และ Defiance 5G Next Gen Connectivity ETF (FIVG) ซึ่งมีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมเช่นกัน และสามารถปรับเพิ่มขึ้นราว 105% และ 89% และ 28% ตามลำดับในปีที่ผ่านมา ซึ่งธีมนี้จะได้อานิสงส์โดยตรงจากงบกระตุ้นทางการคลังของทีมบริหารประธานาธิบดีไบเดน ทั้งยังได้ประโยชน์จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ จากการที่โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างมาก ที่เปลี่ยนจาก Offline เป็น Online โดยเฉพาะการจับจ่ายซื้อของ และการใช้ข้อมูล
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางส่วนของธีมการลงทุนและกองทุน ETF หุ้นสหรัฐฯ และหุ้นโลก ที่จะได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจนจากการกลับมาของสหรัฐฯ ในยุคของไบเดน และ Blue Wave ผมหวังว่านักลงทุนทุกท่านจะประสบความสำเร็จในโลกของการลงทุน ต้อนรับประธานาธิบดีท่านใหม่ของสหรัฐฯ ในปี 2021 ครับ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์