แดเนียล เปียน (Daniel Bian) ชาวเมืองเซี่ยงไฮ้ นั่งดื่มด่ำกับวิวอันสวยงามแบบพาโนรามาของกรุงเทพมหานคร ขณะที่เขาเอนกายอยู่บนเก้าอี้ผ้าใบข้างสระว่ายน้ำบนชั้น 19 ของคอนโดมิเนียมหรูใจกลางกรุง
“ผมรู้สึกได้ใช้ชีวิต ได้มีอิสระ” นี่คือคำกล่าวของเปียนในขณะที่เขาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ภายใต้แว่นกันแดดสีชาและหมวกปีกแคบสีกรมท่าเพื่อป้องกันรังสี UV ที่แผดเผาของกรุงเทพมหานคร “นี่คือชีวิตที่ผมใฝ่ฝัน”
หลังจากที่ต้องทนอยู่ภายใต้มาตรการสกัดโควิดอันเข้มงวดของจีนมาเป็นเวลา 3 ปีเต็ม เปียนและชาวจีนแผ่นดินใหญ่อีกหลายคนที่มีฐานะร่ำรวยก็ได้แห่กันมาจับจองเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย หลังจากที่จีนเปิดพรมแดนเต็มที่แล้วเมื่อช่วงต้นปี โดยชาวจีนหลายคนเต็มใจที่จะลงทุนซื้อบ้านในต่างประเทศไว้เพื่อเป็นสถานที่ปลอดภัยหากเกิดโรคระบาดใหญ่เช่นนี้ขึ้นอีก ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในจีนด้วย
ที่ผ่านมา ไทยถือเป็นแดนสวรรค์และจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวจีนที่จะหลั่งไหลกันเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวในวันแรงงานเดือนพฤษภาคม ตามมาด้วยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่หากมาเจาะกันในแง่ของการ ‘อยู่ยาว’ นั้น ไทยก็มีทรัพยากรพร้อมสรรพ ทั้งโรงเรียนนานาชาติที่มีคุณภาพเยี่ยม รวมถึงระบบสาธารณสุขที่พร้อมดูแลผู้ป่วยอย่างดีตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ชาวจีนหลายคนตัดสินใจเลือกไทยเป็นบ้านหลังที่สองของพวกเขา
แม้ปีนี้ไทยตั้งเป้าว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมากหากเทียบกับยุคก่อนโควิด แต่ มีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ว่า ดีมานด์การซื้ออสังหาริมทรัพย์จากชาวจีนในไทยปีนี้จะมาอย่างแน่นอน
สถานที่ท็อปฮิตของชาวจีนนั้นกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดหลักๆ ของไทย เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา รวมถึงบางจังหวัดในภาคอีสาน “คนจีนได้เข้ามาซื้อบ้าน ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติ และพาปู่ย่าตายายเข้ามาด้วย เพื่อช่วยดูหลานๆ อีกทางหนึ่ง” มีศักดิ์กล่าว
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีชาวจีนเกือบ 270,000 คนที่เดินทางมาเยือนไทย ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 3 ปี แต่ถ้าเทียบกับระดับของปี 2019 หรือช่วงก่อนเกิดโควิดจะเห็นว่าต่ำกว่ากันมาก โดยตัวเลขช่วงนั้นอยู่ที่ 985,227 คนด้วยกัน
แต่สิ่งที่สวนทางกันคือ สัดส่วนของนักเรียนชาวจีนในโรงเรียนนานาชาติกลับปรับตัวขึ้น โดยหากดูตัวเลขเฉพาะของโรงเรียน Singapore International School of Bangkok เมื่อช่วงต้นปีนี้ จะเห็นว่าสัดส่วนนักเรียนจีนเพิ่มขึ้นมาแตะที่ 12-13% ของนักเรียนทั้งหมด หรือมีนักเรียนจีนประมาณ 400 คนจากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 3,100 คนใน 4 วิทยาเขต ขณะที่ในช่วงปี 2019 สัดส่วนของนักเรียนชาวจีนอยู่ที่เพียง 6% เท่านั้น
แม้กฎหมายไทยจะจำกัดไม่ให้คนต่างชาติซื้อคอนโดเกิน 49% ของจำนวนห้องทั้งหมด แต่ชาวจีนที่มีฐานะดีก็ได้หลั่งไหลกันเข้ามาเรื่อยๆ ทำเงินให้นายหน้าขายคอนโดที่เล็งกลุ่มลูกค้าชาวจีนร่ำรวยไปตามๆ กัน
โอเวน จู (Owen Zhu) นายหน้าขายคอนโดในไทย เปิดเผยกับ Reuters ว่า “ทุกสิ่งเปลี่ยนไปมากหลังจากเกิดโควิด ชาวจีนหลายคนเลือกซื้ออพาร์ตเมนต์หรูเพื่อมาอยู่อาศัยที่นี่” อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่า ลูกค้าหลายคนที่ซื้อคอนโดเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนก่อนหน้านี้ ตอนนี้ก็ได้เปลี่ยนมาจับจองคอนโดที่มีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านหยวน หรือราว 9.8 ล้านบาทขึ้นไป
“เงินดังกล่าวซื้อได้แค่บ้านธรรมดาๆ ในเมืองใหญ่ของจีน และทำเลก็อาจจะไม่ดีด้วย แต่เม็ดเงินจำนวนเท่ากันสามารถซื้ออพาร์ตเมนต์หรูใจกลางกรุงเทพฯ ได้ ฉะนั้น หลายคนจึงเลือกขายบ้านของตัวเองสักหลังหนึ่งในจีน และมาซื้อที่อยู่ในไทยเพื่อมาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่นี่”
เอริ เฉิน (Eri Chen) ก็เป็นชาวเซี่ยงไฮ้อีกคนหนึ่งที่หวังจะมาใช้ชีวิตวัยเกษียณแบบสบายๆ ที่ไทยด้วยเหมือนกัน เพราะทนไม่ไหวกับราคาบ้านและค่าครองชีพที่พุ่งทะยานหนักในเซี่ยงไฮ้ เขากล่าวว่า แทนที่จะต้องจ่ายเงินขั้นต่ำอย่างน้อย 4 ล้านหยวน (ประมาณ 19 ล้านบาท) เพื่อซื้อบ้านในเขตชานเมืองสุดขอบเซี่ยงไฮ้ สู้เขาเอาเงินแค่ 6 แสนหยวน (ประมาณ 2.9 ล้านบาท) มาซื้อบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ดีกว่าหรือ
นอกจากนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของไทยก็อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าด้วยเช่นกัน
“ดอกเบี้ยเงินฝากในจีนต่ำมาก ผมอยากจะลงทุนอะไรที่ให้ผลตอบแทนมากกว่านี้ เพื่อที่ผมจะได้มีเงินใช้มากขึ้นในวัยเกษียณ” เฉินกล่าว “การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ให้ผลตอบแทนดีกว่าเมืองอื่นแน่ และผมกำลังดูอยู่ว่าเชียงใหม่จะเป็นจังหวัดที่ดีที่จะลงหลักปักฐานอยู่หลังเกษียณอย่างที่เขาว่ากันหรือไม่”
ภาพ: Pattani Studio Via Shutterstock
อ้างอิง: