×

‘เรื่องราวของเรา’ หนังสั้นเล่าเรื่องคนชายแดนใต้ในความขัดแย้ง ผลงานวิจัยจากการร่วมมือของนิเทศ จุฬาฯ และ วช. หนุนสร้างสันติภาพ

โดย THE STANDARD TEAM
13.05.2025
  • LOADING...
เรื่องราวของเรา

ในโอกาสครบรอบ 60 ปี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สร้างผลงานวิจัยตามยุทธศาสตร์นำนวัตกรรมสื่อสร้างสังคมไร้ความรุนแรง ผลิตภาพยนตร์ผลงานจากการวิจัย ‘เรื่องของเรา’ เล่าเรื่องความขัดแย้งชายแดนใต้ที่ก้าวพ้นตัวตน เสนอเรื่องราวคนในพื้นที่ที่ถูกบดบังจากความขัดแย้ง หนุนบทบาทการสร้างสันติภาพด้วยความรู้และนวัตกรรมทางสังคม

 

รศ. ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดี เปิดเผยว่า คณะได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ตามแผนยุทธศาสตร์การวิจัยด้านสังคมไทยไร้ความรุนแรง เพื่อดำเนินการวิจัยสร้างองค์ความรู้และเสนอมุมมองที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เพิ่มเติม ผลการวิจัยถือเป็นนวัตกรรมสื่อทางสังคมที่พัฒนามาจากผลการวิจัย ภาพยนตร์เล่าเรื่องความขัดแย้งจากมุมของผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ สะท้อนปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่ที่ถูกบดบังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอดมา เช่น การสูญเสียคนที่รักของครอบครัว การศึกษาของเด็กๆ ปัญหาการทำมาหากินที่ยากลำบาก

 

ภาพยนตร์จากงานวิจัยครั้งนี้ชื่อ ‘เรื่องของเรา’ ที่พร้อมเผยแพร่ให้ได้ชมบนช่องทางออนไลน์และยังสามารถนำไปใช้เป็นสื่อในกระบวนการแปรเปลี่ยนสู่สันติภาพชายแดนใต้ ใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ได้

 

“ภาพยนตร์ ‘เรื่องของเรา’ เป็นองค์ความรู้ใหม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมไทย ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของพลังทางวิชาการสู่ภาพยนตร์ที่สามารถต่อยอดสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เป็นนวัตกรรมสื่อที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมที่จะร่วมกันมองปัญหาความขัดแย้งแบบไม่แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย กระตุ้นให้สังคมร่วมกันผลักดันให้เกิดการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นสันติภาพ” รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ กล่าว

 

ทั้งนี้ ยังเชิญชวนให้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้บนช่องยูทูบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://youtube.com/@chulauniversity และผู้สนใจสามารถติดต่อขอนำภาพยนตร์ ‘เรื่องของเรา’ ไปจัดฉายในกิจกรรมด้านการเรียนรู้ การศึกษา หรือเป็นสื่อสำหรับกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ โดยสามารถติดต่อได้ผ่านช่องทางของคณะฯ เฟซบุ๊กคณะนิเทศศาสตร์ https://www.facebook.com/commartschulaofficial และโทรศัพท์ 0 2218 2205

 

สำหรับภาพยนตร์ ‘เรื่องของเรา’ เป็นผลผลิตจากงานวิจัยเรื่อง ‘การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้สู่สันติภาพด้วยกระบวนทัศน์การเล่าเรื่องที่ข้ามพ้นตัวตนผ่านภาพยนตร์สั้น’ ผศ. ดร.ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงงานวิจัยเพิ่มเติมว่า งานวิจัยมีแนวคิดหลักคือ การนำแนวคิดการเล่าเรื่องที่ข้ามพ้นตัวตน (Self-transcendental narrative) ซึ่งเป็นแนวคิดการเล่าเรื่องปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ผ่านมุมมองของความเป็นมนุษย์ แทนที่จะยึดติดกับอัตลักษณ์ ศาสนา หรือเชื้อชาติ จะเน้นการสร้างความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันในระดับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์

 

คณะวิจัยลงพื้นที่เพื่อค้นหามุมมอง ความคิด ความเชื่อของคนในพื้นที่เกี่ยวกับความรุนแรงในพื้นที่ ด้วยการให้คนในพื้นที่เล่าเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรง ด้วยวิธีการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก และทำกิจกรรมการสะท้อนความคิด (Projective Technique) จากนั้นจึงนำผลการวิจัยมาสังเคราะห์เป็นแก่นเรื่องที่เล่าเรื่องความรุนแรงในแบบข้ามพ้นตัวตน ให้แต่ละคนเล่าเหตุการณ์จากประสบการณ์ตนเอง แล้วถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เห็นเหตุการณ์จากมุมของคนหลากหลายที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์นั้น พัฒนาสร้างสรรค์เป็นบทภาพยนตร์แนว Omnibus Film ที่รวบรวมเรื่องสั้นๆ ที่แตกต่างกันไว้ในเรื่องเดียวกัน ภายใต้แนวคิดหรือแก่นเรื่องเดียวกันจนผลิตเป็นภาพยนตร์ชื่อ ‘เรื่องของเรา’

 

โดยเป็นภาพยนตร์จากงานวิจัยสู่สันติภาพชายแดนใต้ที่เล่าเรื่องโดยคนในพื้นที่ที่เป็นผู้สูญเสีย นักเรียนที่ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคในการเรียน ปัญหาการสร้างภาพพื้นที่อันตรายที่ไม่มีใครอยากเดินทางมาท่องเที่ยว หรือทำงาน ขยายสู่เศรษฐกิจที่ซบเซา สะท้อนความหวังของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายแต่มีจุดหมายเดียวกันคือความต้องการให้เกิดความสงบร่มเย็นในพื้นที่

 

“ภาพยนตร์มุ่งหวังจะสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสันติภาพในแนวทางที่ละทิ้งตัวตนของทุกฝ่าย และร่วมกันมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันคือสันติภาพ คณะวิจัยได้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่จะช่วยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ชวนให้ผู้ชมมองปัญหาในฐานะผู้มีส่วนร่วม พร้อมรับฟัง แก้ไข และร่วมกันสร้างสันติภาพอย่างแท้จริง” ผศ. ดร.ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์ หัวหน้าคณะวิจัยกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising