×

จัดพอร์ตอย่างไร รับมือโควิด-19 รอบใหม่

09.01.2021
  • LOADING...
จัดพอร์ตอย่างไร รับมือโควิด-19 รอบใหม่

ปัจจัยสำคัญสำหรับปี 2564 คงไม่หนีเรื่องสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรง และเริ่มเกิด Second Wave ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่ผมมองต่างในเรื่องของความรุนแรงเมื่อเทียบกับต้นปี 2563 คือเรารู้จักโควิด-19 ดีขึ้นมาก เรารู้ว่าสู้อยู่กับอะไร จะป้องกันตัวได้อย่างไร และมีการค้นพบวัคซีนต้านเชื้อไวรัส

 

ดังนั้นสถานการณ์ย่อมดีกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นเรื่องต่อเนื่องจากสถานการณ์ล็อกดาวน์ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยเฉพาะการบริโภคและการท่องเที่ยวโดยรวมเริ่มฟื้นตัวขึ้นเมื่อปลายไตรมาส 3/63 แต่เมื่อเกิดการแพร่กระจายระลอกที่สองในช่วงไตรมาส 4/63 หลายประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี สเปน สวีเดน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก จนถึงขั้นต้องล็อกดาวน์รอบสอง ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจน่าจะลำบากขึ้น งบประมาณทางการเงินต่างๆ ที่ออกมาแล้วทั่วโลกอาจจะไม่เพียงพอ ทำให้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ยังคงชะลอตัว แต่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากปริมาณวัคซีนที่ผลิตออกมาเริ่มมีการนำไปใช้ในคนหมู่มากมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งจะทำให้การบริโภคและการผลิต รวมทั้งการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายปี 2564

 

อย่างไรก็ดี ก่อนที่เราจะก้าวไปถึงการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในแง่มุมของการลงทุนเราคงต้องฝ่าฟันกันหลายปัจจัย แต่ผมเชื่อมั่นว่าผู้ลงทุนหลายท่านได้ปรับตัวปรับพอร์ตการลงทุนกันไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาบ้างแล้ว แต่กลยุทธ์การลงทุนต้องปรับเปลี่ยนให้ทัน และรองรับเหตุการณ์ข้างหน้าเสมอ ดังนั้นเราต้องรู้จักลักษณะการวางกลยุทธ์กระจายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนแบบ Asset Allocation หรือ AA ซึ่งมีด้วยกัน 2 แบบ

 

แบบแรกคือการกระจายความเสี่ยงบนสินทรัพย์ที่มีความเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกัน Un-correlation เพื่อหวังผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ พอร์ตการลงทุนจะถูกจัดเป็นแบบระยะยาว หรือ Strategic Asset Allocation หรือ SAA ซึ่งจะเป็นภาพระยะยาวคือ 1-3 ปี

 

แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบกับพอร์ตการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจจะมีการปรับน้ำหนักเชิงกลยุทธ์ที่เราเรียกว่า Tactical Asset Allocation หรือ TAA ส่วนใหญ่ใช้เป็นภาพระยะกลาง-สั้น ประมาณ 3-6 เดือน

 

ทั้งนี้ หากมองในมุมของสินทรัพย์ พบว่าการปรับตัวลงของหุ้นทำให้เกิดโอกาสที่จะลงทุน และคาดหวังผลในระยะกลางถึงยาวได้ แต่หลักๆ ที่ผมจะเน้นกลยุทธ์คือ แบบ TAA เพราะจะเป็นพอร์ตที่รองรับความผันผวนระหว่างทางตามข่าวโควิด-19 ในเชิงของภาพเศรษฐกิจ ธนาคารกลางหลักๆ ต่างใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในเกือบทุกประเทศทั่วโลก ทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน

 

ในส่วนของทองคำ ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ด้วยราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นมามาก ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ผลตอบแทนจากทองคำอยู่ในกรอบที่จำกัด ซึ่งต่างจากน้ำมันที่มีแนวโน้มว่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

 

สำหรับ REITs และ Property Fund ที่ให้ Yield ได้ประมาณร้อยละ 4-6 ยังน่าสนใจ แต่อาจจะต้องดูสินทรัพย์ที่อยู่ในกองเป็นหลัก เพราะกลุ่มสินทรัพย์ที่น่าสนใจจะเป็นพวกสาธารณูปโภคพื้นฐาน

 

มาดูการจัดพอร์ตแบบ AA ในระดับที่เหมาะสม หรือประมาณ 3-6 เดือน โดยคาดหวังผลตอบแทนประมาณร้อยละ 4-6 เป็นตราสารหนี้ระยะสั้นร้อยละ 45 หุ้นในประเทศและต่างประเทศ (เน้น จีน อเมริกา และกลุ่มอาเซียน) ร้อยละ 40 ที่เหลือเป็นทอง น้ำมัน และกอง REITs อย่างละเท่าๆ กัน 

 

หากคาดหวังผลตอบแทนที่ร้อยละ 8-10 ซึ่งเป็นโมเดลที่รับความเสี่ยงสูงได้ เป็น ตราสารหนี้ระยะสั้นร้อยละ 15 หุ้นในประเทศและต่างประเทศร้อยละ 75 ที่เหลือเป็นทอง น้ำมัน และกอง REITs อย่างละเท่าๆ กัน

 

แต่ถ้าเน้นผันผวนต่ำ และผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น โดยคาดหวังผลตอบแทนที่ร้อยละ 2-3 ตราสารหนี้ระยะสั้นร้อยละ 55 ตลาดเงินหรือเงินฝากระยะสั้นร้อยละ 20 หุ้นในประเทศและต่างประเทศร้อยละ 15 ที่เหลือเป็นทอง น้ำมัน และกอง REITs อย่างละเท่าๆ กัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising