เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ และ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดเสวนา วิกฤตความรุนแรงในครอบครัวและอุบัติเหตุ ตีแผ่ปัญหาสุรา
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีการระบาดของโควิด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,000-4,000 รายต่อวัน เสียชีวิต 30-40 รายต่อวัน อีกทั้งยังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจำนวนหนึ่ง จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ฉีดวัคซีน เว้นระยะห่าง ล้างมือ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ การสังสรรค์ ตั้งวงดื่มเหล้า เสี่ยงเกิดการติดเชื้อเป็นวงกว้าง และเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยจากการสำรวจช่วงเดือนเมษายน 2564 พบคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 33.06 และเป็นปัจจัยร่วมต่อการเกิดความรุนแรงในครอบครัวมากว่า 1 ใน 4 และส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงที่ถูกกระทำซ้ำมากกว่าร้อยละ 75
“การเสวนาวันนี้จึงหวังกระตุ้นเตือนประชาชน ให้ตระหนักถึงปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และหวังว่าจะเห็นบรรดาผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านค้า ร้านเหล้า ผับ บาร์ จะค้าขายโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อชีวิตคนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ปีใหม่นี้เป็นเทศกาลแห่งความสุข มีจำนวนอุบัติเหตุ ความรุนแรง และการแพร่ระบาดของโควิด ลดลงให้มากที่สุด หรือหากเป็นไปได้ก็ควรงดตั้งวงสังสรรค์ วงเหล้า วงพนัน ควรใช้โอกาสนี้ในการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงบุหรี่และการพนันด้วย” รุ่งอรุณกล่าว
ด้าน อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการรวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ในปี 2563 พบทั้งหมด 593 ข่าว ในจำนวนนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 155 ข่าว หรือร้อยละ 26
ทั้งนี้ เป็นข่าวฆ่ากัน 323 ข่าว มากที่สุดคือสามีฆ่าภรรยา ส่วนการทำร้ายพบ 101 ข่าว สามีทำร้ายภรรยามากสุด รองลงมาการทำร้ายกันระหว่างพ่อ-แม่-ลูก และคู่รักตามลำดับ กรณีฆ่าตัวตาย 94 ข่าว ผู้ชายมากกว่าหญิง ขณะที่ความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 41 ข่าว ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าครึ่งปีหลังสถานการณ์รุนแรงที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น เพิ่มขึ้นในทุกเหตุการณ์ และเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังพบว่าปี 2563 เพิ่มเป็นร้อยละ 26.2 จากร้อยละ 17.3 ในปี 2561
“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องมีการปรับทัศนคติชายเป็นใหญ่ เพราะเมื่อเขาไปดื่มเหล้าจากพิษเศรษฐกิจ พอเมาแล้วก็กลับมาใช้ความรุนแรงกับคนในบ้าน โดยทางมูลนิธิฯ มีข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้
- การเยียวยาทางด้านจิตใจ และการชดเชยการเสียหายให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การฆ่าตัวตาย ความรุนแรงทางเพศ
- พัฒนาช่องทาง หรือกลไกการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการเชื่อมโยงกับกลไกชุมชนด้วยเพื่อทำงานเชิงป้องกัน
- มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง ทั้งการห้ามขายให้กับคนเมาครองสติไม่ได้ การขายตามเวลาที่กำหนด ไม่ขายให้กับเด็ก เป็นต้น” อังคณากล่าว
ด้าน นงนุช ตันติธรรม รองผู้อำนวยการกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกจัดประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 9 ของประเทศทั่วโลกที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุด ข้อมูลล่าสุด 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-กันยายน) มีผู้เสียชีวิต 12,376 ราย ลดลงจากปี 2562 จำนวน 302 ราย เป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงปีใหม่ 2565 จะเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังปฏิบัติตัว เพื่อลดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ ‘ไม่เมา สวมหมวก ใส่มาสก์’ และ ‘ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม’ ทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐจะต้องวิเคราะห์จุดเสี่ยงและมีมาตรการป้องกัน ตั้งด่านตรวจเข้มข้น และบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น ไม่ขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี ไม่ขายคนเมาครองสติไม่ได้ ไม่ขายในช่วงเวลาห้ามขาย เป็นต้น
ส่วน รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบโดยตรงกับการทำงานของสมอง ส่งผลต่อการตัดสินใจ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า วิตก จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ในระดับคงที่ สัดส่วนร้อยละ 2-3 การดื่มส่วนใหญ่ดื่มในบ้าน คนที่ได้รับผลกระทบคือคนในครอบครัว เกิดความเป็นทุกข์ ไม่สบายใจ รวมถึงได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงทั้งวาจาและร่างกาย
ดังนั้น หากสามารถลด ละ เลิกได้ จะช่วยให้ผู้ดื่มรู้สึกภาคภูมิใจ สุขภาพก็ดีตามมา เช่นเดียวกัน คนในครอบครัวก็จะคลายทุกข์ ไม่กังวลกับสุขภาพ ส่งผลให้สัมพันธภาพในครอบครัวดีขึ้น การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงมีความจำเป็น และจะเป็นการจัดการปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ภาครัฐจึงควรมีมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น