วันนี้ (22 มิถุนายน) ที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สำนักงานใหญ่ เขตคลองเตย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวภายหลังประชุมหารือเรื่องแผนการนำสายไฟลงดิน ร่วมกับ รงค์เพชร เขาเรียง รองผู้ว่าการปฏิบัติการระบบส่ง กฟน. โดยมี ไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ร่วมประชุม ว่าการประชุมวันนี้เพื่อหารือการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ที่ยังมีเสาไฟฟ้าอยู่ กรณีการระงับการก่อสร้างโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายอากาศใต้ดินของ กฟน. หลักการทำงานคือการเตือนก่อน หากผู้รับจ้างมีแนวทางที่จะปรับปรุงก็จะปล่อยให้ทำงาน แต่หากเตือนไปแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขก็จะสั่งให้หยุด
ทั้งนี้ กทม. จะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็วทุกจุด โดย กฟน. จะดูแลควบคุมในเรื่องของคุณภาพการก่อสร้าง และปรับรูปแบบฝาบ่อพักให้เป็นรูปแบบใหม่ ลดความขรุขระของขอบฝาบ่อ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดระเบียบสายสื่อสาร จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ กฟน. มีแผนเอาสายไฟฟ้าลงดินก็จะนำสายสื่อสารลงดินด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ 2 คือการจัดระเบียบสายสื่อสารตามนโยบายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะมีการนัดหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ที่ยังมีเสาไฟฟ้าอยู่ ทั้งนี้จะตั้งคณะทำงาน เพื่อประสานการทำงานร่วมกับหน่วยการสื่อสารหลักๆ อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้วิศณุได้หารือกับผู้บริหาร กฟน. ถึงแนวทางการเชื่อมต่อระบบร้องเรียน Traffy Fondue ในส่วนภารกิจซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ กฟน. เพื่อลดขั้นตอนของเอกสารและให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา ซึ่ง กฟน. ยินดีที่จะเชื่อมต่อระบบ Traffy Fondue กับระบบการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วิศณุกล่าวว่า การยกระดับเมืองให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองระดับโลกได้ กฟน. ถือว่ามีส่วนสำคัญ เนื่องจากการขับเคลื่อนความเป็นเมืองที่ดีพลังงานต้องมีความเสถียร และการปรับปรุงต้องมีผลกระทบแน่นอน ที่ผ่านมาได้ร่วมมือช่วยเหลือกันมาอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นถึงความพยายามของทั้งสองหน่วยงานที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองของโลก
วิศณุกล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้ กฟน. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ระยะทาง 236.1 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 174.1 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มเสถียรภาพและความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต เสริมสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงาม และเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
โดยมีหลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย แนวถนนสายหลัก แนวรถไฟฟ้า ย่านธุรกิจและสถานที่สำคัญ และตามนโยบายของหน่วยงานผู้ดูแลพื้นที่ รูปแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย วิธีการดันท่อ ใช้สำหรับการก่อสร้างสำหรับวางบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าบนถนนจราจร วิธีการดึงท่อใช้สำหรับการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าจากบ่อพักไปยังจุดจ่ายไฟต่างๆ วิธีการขุดเปิดใช้สำหรับการก่อสร้างบ่อพักและวางท่อร้อยสายไฟฟ้าบนทางเท้า
ทั้งนี้ กฟน. ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในการดำเนินโครงการ ชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายใต้ดิน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจและให้เกิดความร่วมมือ เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
วิศณุกล่าวต่อไปว่า การหารือในครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายสำคัญของผู้ว่าฯ กทม. 9 ด้าน 9 ดี 216 นโยบาย ประกอบด้วย นโยบายการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ นโยบายการรายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม. ผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำการพัฒนาเมือง และนโยบายกำกับดูแลและเร่งคืนผิวจราจรการก่อสร้างอย่างใกล้ชิดเพื่อการจราจรที่คล่องตัว