หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกคำสั่งกึ่งๆ ทิ้งทวนด้วยการอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธปล่อยและอาวุธนำวิถีในการโจมตีดินแดนรัสเซียได้เต็มที่ ยูเครนก็ประเดิมใช้ ATACMS ยิงเข้าใส่เป้าหมายในรัสเซีย และรัสเซียก็ยิงตอบโต้ใส่ยูเครน คราวนี้ด้วยขีปนาวุธพิสัยปานกลางด้วยเช่นกัน (ไม่ใช่ขีปนาวุธข้ามทวีป หรือ ICBM ตามที่ยูเครนกล่าวอ้างแต่แรก)
แน่นอนว่าตั้งแต่เริ่มสงครามมาสหรัฐอเมริกาไม่อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธที่ส่งมอบให้ยิงเข้าใส่ดินแดนรัสเซียเพราะเกรงว่าจะเป็นการส่งสัญญาณเพิ่มความตึงเครียดกับรัสเซีย แม้ยูเครนจะส่งคำขอมาเรื่อยๆ ก็ตาม เนื่องจากเป้าหมายหลักที่เป็นคลังอาวุธ ที่รวมพล หรือศูนย์ส่งกำลังบำรุงของกองทัพรัสเซียนั้นอยู่ในดินแดนของรัสเซียทั้งสิ้น
แต่คาดว่ามีสองสิ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีไบเดนเปลี่ยนใจ อย่างแรกก็คือการที่รัสเซียนำเข้าทหารเกาหลีเหนือมารบในยูเครนกว่า 1 หมื่นนาย ซึ่งในมุมมองของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่ารัสเซียเพิ่มความตึงเครียดให้กับสถานการณ์ก่อน อีกอย่างหนึ่งก็คือชัยชนะเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีท่าทีต้องการยุติสงคราม และมีความเป็นไปได้สูงที่อาจมีข้อเสนอที่ทำให้ยูเครนเสียเปรียบ หรือแม้แต่อาจงดส่งความช่วยเหลือให้กับยูเครน การตัดสินใจครั้งนี้จึงเป็นการอนุญาตแบบสุดซอยไปก่อน เพื่อที่ว่าในช่วงสองเดือนนี้ยูเครนจะได้มีโอกาสใช้งานอาวุธได้โดยมีข้อจำกัดน้อยลง ลดความเสียเปรียบของตนเอง และอาจทำให้ทรัมป์เห็นข้อดีของการสนับสนุนยูเครนต่อไป
ทั้งนี้ ขีปนาวุธที่ยูเครนยิงเข้าใส่รัสเซียก็คือมิสไซล์ MGM-140 Army Tactical Missile System หรือเรียกย่อๆ ว่า ATACMS ซึ่งมีข้อดีคือสามารถใช้งานกับรถยิงจรวดหลายลำกล้อง M142 HIMARS ที่ยูเครนมีใช้งานอยู่แล้ว โดยทำการเปลี่ยนแค่กระเปาะด้านหลังก็สามารถยิง ATACMS ได้
ATACMS ผลิตโดยบริษัท Lockheed Martin มีราคาราวลูกละ 60 ล้านบาท มีพิสัยยิงไกลสุด 300 กิโลเมตร จรวดจะบินขึ้นไปสูงสุดที่ 50 กิโลเมตรก่อนที่จะตกลงมาด้วยความเร็วสูงสุดที่มัค 3 มีหัวรบที่หลากหลายและมีน้ำหนักมากกว่า 200 กิโลกรัม หรืออาจใช้หัวรบที่บรรจุลูกระเบิดย่อยเล็กๆ ตั้งแต่ 300-900 ลูก ซึ่งทำให้มีน้ำหนักหัวรบสูงสุดที่มากกว่า 500 กิโลกรัมได้ และนำวิถีด้วยแรงเฉื่อยและ GPS
แม้จะฟังดูว่า ATACMS เป็นจรวดที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ถือว่าเป็นจรวดที่มีอายุการใช้งานมานาน และสหรัฐอเมริกาวางแผนที่จะพัฒนาจรวดแบบใหม่เข้าประจำการแทน เพียงแต่สำหรับยูเครนแล้ว การมีจรวด ATACMS ใช้สามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของข้าศึก เพื่อลดขีดความสามารถและการส่งกำลังบำรุงให้กับหน่วยทหารแนวหน้าได้ รวมถึงข้อดีคือราคาไม่แพงนักเมื่อเทียบกับจรวดแบบอื่น และใช้รถฐานยิง M142 HIMARS ซึ่งสามารถใช้งานจรวดได้หลากหลายและมีความทันสมัย
ทั้งนี้ ยูเครนใช้ ATACMS รุ่นที่มีหัวรบเป็นลูกระเบิดย่อยและหัวรบระเบิดลูกเดียวมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยใช้กับเป้าหมายที่เป็นที่รวมพล คลังเก็บกระสุน หรือกองบัญชาการส่วนหน้า และผลลัพธ์การใช้งานในยูเครนก็ค่อนข้างน่าประทับใจ จนทำให้มีอีกหลายประเทศสั่งซื้อจรวดแบบนี้เข้าประจำการ เช่น ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโมร็อกโก ทำให้ผู้ผลิตอย่าง Lockheed Martin สามารถเริ่มสายการผลิตจรวดได้อีกครั้ง
ส่วนการตอบโต้ของรัสเซียด้วยการยิงขีปนาวุธเข้าใส่ยูเครนนั้น แม้ว่ายูเครนจะออกมายืนยันว่าเป็นขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปหรือ ICBM (Intercontinental Ballistic Missile) แต่สหรัฐอเมริกาออกมายืนยันว่ารัสเซียน่าจะใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางหรือ IRBM (Intermediate-Range Ballistic Missile) ที่มีพิสัยระหว่าง 3,000-5,500 กิโลเมตรมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมาแถลงว่ารัสเซียได้ยิงขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นใหม่ล่าสุดเข้าใส่ยูเครน โดยกล่าวว่ายูเครนไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันได้ ซึ่งปูตินเปิดเผยชื่อว่าเป็นรุ่น Oreshnik
คาดว่าขีปนาวุธ Oreshnik นั้นยังอยู่ในระหว่างการทดสอบอยู่ โดยรัสเซียใช้การโจมตียูเครนในครั้งนี้เป็นการทดสอบอาวุธแบบใหม่ไปในตัว ซึ่งทำให้เราไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่ลักษณะเด่นของขีปนาวุธ IRBM แบบนี้คือเป็นขีปนาวุธที่ออกแบบมาสำหรับติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้หลายหัวรบ แม้ว่าการโจมตีในครั้งนี้จะเป็นการใช้หัวรบธรรมดาก็ตาม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัสเซียใช้ขีปนาวุธที่มีขีดความสามารถในระดับนี้เข้าโจมตียูเครน
สิ่งที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างของ Oreshnik ซึ่งเป็นขีปนาวุธแบบ IRBM ก็คือความเร็วที่สูง โดย Oreshnik มีความเร็วในช่วงสุดท้ายมากกว่ามัค 8 ซึ่งทำให้มีระบบป้องกันภัยทางอากาศจำนวนน้อยที่สามารถยิงสกัดได้ หนึ่งในนั้นก็คือ MIM-104 Patriot ที่ยูเครนมีใช้งานแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมนัก
ดังนั้นแม้เราจะเชื่อว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนนั้นเกิดขึ้นได้ยาก รวมถึงการใช้จรวดของทั้งสองฝ่ายในลักษณะนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลสงครามโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสร้างผลกระทบให้อีกฝ่ายพอสมควร ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งเพิ่มความร้อนแรงของสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียมากเข้าไปอีก
ซึ่งนั่นก็เป็นโจทย์ของทั้งยูเครน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ว่าจะหาทางยุติสงครามนี้อย่างไร จะสร้างข้อตกลงที่ทั้งสามฝ่ายยอมรับร่วมกันได้อย่างไร รวมถึงถ้าสหรัฐอเมริกาลดการสนับสนุนยูเครนลงจริงๆ ประเทศยุโรปที่ประกาศว่าพร้อมสนับสนุนยูเครนต่อเนื่องไม่ว่าสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนท่าทีไปแบบใดนั้น จะสามารถสนับสนุนได้อย่างที่พูดจริงๆ หรือไม่ หรือรัสเซียเองที่สงครามลากยาวไปก็ไม่เป็นผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสภาพสังคมของรัสเซียเลยนั้น จะหาทางลงอย่างไรที่ทำให้ประธานาธิบดีปูตินรู้สึกว่าได้รับชัยชนะในการบุกยูเครนครั้งนี้โดยที่ยูเครนก็ยอมรับได้ด้วย
แต่ไม่ว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่มั่นใจได้ก็คือสงครามการรุกรานยูเครนของรัสเซียนั้นไม่น่าจะจบลงง่ายๆ แน่นอน
ภาพ: Brendan SMIALOWSKI and Mikhail METZEL / various sources / AFP