วันนี้ (6 กุมภาพันธ์) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยคณะ กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจหลังรับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ว่า
ทักษิณถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีนี้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรจากพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยทักษิณเป็นผู้ถูกกล่าวหา
ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์เป็นเท็จ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน
ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่มีการกล่าวหาว่าผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีโทษตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งขณะนั้นอัยการสูงสุด ร.ต.ต. พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ได้ตรวจพิจารณาสำนวนดังกล่าวแล้ว ได้มีความเห็นและคำสั่งทางคดีเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องทักษิณตามข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนเสนอมา
แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี ทางอัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับ และต่อมาพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญา และศาลอาญาก็ได้ออกหมายจับผู้ต้องหาไว้ ภายในอายุความ 15 ปีนับตั้งแต่วันเกิดเหตุ โดยคดีนี้จะขาดอายุความในวันที่ 21 พฤษภาคม 2573
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทักษิณได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และถูกควบคุมตัวเพื่อรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนจึงได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดตัวผู้ต้องหาที่กรมราชทัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 กุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ได้ร่วมกับพนักงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบคดีได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาพร้อมพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีให้กับทักษิณทราบแล้ว
ปรากฏว่าผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ต่อมาอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนได้ส่งบันทึกคำให้การพร้อมหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี เพื่อรวบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนส่งให้สำนักอัยการสูงสุดพิจารณา
และขณะนี้สำนวนคดีนี้อยู่ระหว่างพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดในการตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณามีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป
ประยุทธกล่าวต่อว่า ในกรอบของกฎหมาย เมื่อท่านอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีสามารถสั่งได้ 3 อย่างตามประมวลกฎหมายฯ ประเด็นที่เห็นว่าต้องมีการสอบสวนให้กระจ่างแจ่มแจ้งก็จะสั่งสอบเพิ่ม แต่ถ้าเห็นว่าสำนวนพร้อมแล้ว สมบูรณ์แล้ว และไม่มีประเด็นจะสอบเพิ่มเติม ก็สามารถยืนตามความเห็นคำสั่งเดิมที่สั่งไปแล้ว หรือเปลี่ยนจากเห็นควรสั่งฟ้องเป็นไม่ฟ้องได้
ส่วนความเห็นของอัยการสูงสุดจะมีทิศทางประการใด ขณะนี้ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะทราบได้ เพราะ ณ เวลานี้ที่นำเรียนสำนวนถูกส่งมาที่ฝ่ายกิจการฯ ซึ่งมีอธิบดีอัยการ สำนักงาน คดีกิจการสูงสุด และคณะอัยการ จะคัดกรอง ลงความเห็นตรวจพยานหลักฐานทั้งหมดสรุปเป็นขั้นตอน ส่งรองอัยการสูงสุดที่กำกับดูแลจากนั้นไปสู่อัยการสูงสุด
ประยุทธกล่าวต่อว่า ขั้นตอนดังกล่าวไม่มีกรอบระยะเวลาในทางปฏิบัติ ถ้าไม่มีประเด็นสอบสวนเพิ่มเติมก็น่าจะไม่มีอะไรช้า แต่ถ้ามีประเด็นสอบสวนเพิ่มเติมก็ต้องขึ้นกับปัจจัยที่ทางพนักงานสอบสวนจะทำช้าหรือเร็ว
ด้าน นาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ส่วนของการพิจารณาพักโทษ ขณะนี้คำสั่งที่จะพักโทษทักษิณ กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีคำสั่ง แต่พนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งอายัดตัวไปที่กรมราชทัณฑ์ และกรมราชทัณฑ์ได้ตอบรับการอายัดตัวไว้แล้ว
ผลของการอายัดตัวคดีนี้ ถ้ามีการพักโทษ ทางเรือนจำต้องแจ้งพนักงานสอบสวนให้มารับตัวทักษิณ เนื่องจากเรือนจำมีคำสั่งพักโทษ ทางพนักงานสอบสวนจะต้องไปรับตัวทักษิณไว้มาดำเนินการควบคุม การควบคุมตัวก็เป็นดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ หรือนำตัวไปคุมขัง เมื่อพนักงานสอบสวนดำเนินการแล้วก็จะแจ้งมายังพนักงานอัยการว่าขณะนี้ตัวของทักษิณในคดี ม.112 ได้มีการควบคุมตัวแล้วอย่างไรบ้าง