ภาพรวมตลาดหุ้นไทยล่าสุด (15 กุมภาพันธ์) ปรับขึ้น 14.37 จุด หรือ 0.95% ปิดที่ 1,522.72 จุด โดยหลักได้แรงหนุนจากหุ้นของ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน หรือ DELTA และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งมีส่วนช่วยกันดันดัชนี SET ราว 8.1 จุด และ 4.8 จุด ตามลำดับ
สำหรับหุ้น OR นับเป็นการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเป็นวันที่สอง โดยยังคงร้อนแรงต่อเนื่องหลังจากเปิดการซื้อขายที่ 30.75 บาท และพุ่งขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 36.50 บาท ก่อนจะลดลงมาปิดการซื้อขายที่ 34 บาท เพิ่มขึ้น 16.24% จากวันก่อนหน้า ส่งผลให้มูลค่าของ OR เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 394,742 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 9 ในตลาดหุ้นไทย
ณภัทร จันทรเสรีกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี มองว่า ราคาหุ้น OR ที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเพราะว่า หุ้นอยู่ในความสนใจของนักลงทุนค่อนข้างมาก ประกอบกับการที่หุ้นจะถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี SET50 จึงมีความคาดหวังเข้ามาเพิ่มเติม แต่ด้วยราคาปัจจุบันซึ่งเกินราคาพื้นฐานที่ประเมินไว้ที่ 25 บาท แนะนำว่านักลงทุนไม่ควรจะเข้าไล่ซื้อ ส่วนนักลงทุนที่ถือครองอยู่ควรจะหาจังหวะขายทำกำไร
“ราคาพื้นฐานที่ 25 บาท ซึ่งเราประเมินไว้ถือว่าสูงสุดแล้ว เมื่อเทียบกับนักวิเคราะห์รายอื่นๆ โดยราคานี้ได้รวมเอาประมาณการกำไรปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัว 23% จากปีก่อน”
ผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2563 ของ OR จะประกาศออกมาช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2563 จะมีกำไรสุทธิราว 8 พันล้านบาท ลดลง 26% จากปีก่อนหน้า เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งทำให้ปริมาณการขายน้ำมันลดลง ส่วนปี 2564 น่าจะเห็นการฟื้นตัวได้ราว 23% ทำให้กำไรสุทธิกลับมาสู่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท
ด้าน บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า คาดราคาหุ้น OR จะมีแรงส่งต่ออีกเล็กน้อยในระยะสั้น หลังถูกคัดเลือกเข้าสู่ทั้งดัชนี SET50 / SET100 / MSCI Standard Index ซึ่งอาจทำให้ยังคงเห็นเม็ดเงินจากกองทุนอิงดัชนี (Index Fund) ไหลเข้าต่อเนื่องได้ ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในทางกลับกันก็คือ การขายปรับพอร์ตของกองทุนดังกล่าวในหุ้นขนาดใหญ่ตัวอื่นๆ อย่างไรก็ดี มองปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยเชิงเทคนิคในระยะสั้น
ทั้งนี้ คาดว่าตัวหุ้น OR จะเริ่มขาดปัจจัยหนุน และหุ้นขนาดใหญ่ตัวอื่นจะเริ่มกลับมาโดดเด่นมากขึ้น อาทิ PTT หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาของการปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ไปแล้ว ซึ่งสำหรับผู้ถือหุ้น OR นั้นอาจต้องพึงระลึกต่อด้วยว่า ยิ่งราคาหุ้นปรับสูงขึ้นไปมากเท่าไร ก็จะมีความเสี่ยงในการที่ตัวหุ้นอาจถูกลดน้ำหนักในดัชนี SET50 และ SET100 ลงมากเท่านั้น หากท้ายที่สุดแล้วตลาดหลักทรัพย์ฯ ตัดสินใจปรับเกณฑ์วิธีการคำนวณดัชนีไปเป็นรูปแบบ Free-Float Adjusted Market Cap
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์